สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์
สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์ (Nationalist Socialist Council of Nagaland; NSCN) เป็นกองทัพชาตินิยมของเผ่านาคาที่มีพื้นที่ปฏิบัติการในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1][2] จุดประสงค์หลักขององค์กรคือเพื่อจัดตั้งรัฐนาคาลิม[3]เพื่อรวบรวมดินแดนทั้งหมดที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวนาคาทั้งในอินเดียและพม่า[4]
การก่อตั้ง
[แก้]สภาสังคมนิยมชาตินิยมนาคาแลนด์ก่อตั้งเมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2523 โดย อีซัก ชิซิ สวู ทุยงาเล็ง มุยวาห์ และ เอส เอส คาปลัง ซึ่งต่อต้านข้อตกลงชิลลองที่ลงนามโดยสภาแห่งชาตินาคากับรัฐบาลอินเดีย และด้วยความไม่เข้าใจกันเกี่ยวกับการเจรจากับรัฐบาลอินเดีย ต่อมา ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2531 องค์กรนี้แตกออกเป็นสององค์กร คือ NSCN-K นำโดย เอส เอส คาปลัง และ NSCN-IM นำโดย อีซัก ชิซิ สวู ทุยงาเล็ง มุยวาห์ และ เอส เอส คาปลัง องค์กรที่แยกออกมาทั้งสองนี้มีความขัดแย้งและปะทะกันเอง
วัตถุประสงค์
[แก้]วันถุประสงค์หลักขององค์กรนี้คือต้องการจัดตั้งรัฐอธิปไตยโดยรวมพื้นที่ที่เป็นที่อยู่ของชาวนาคาเข้าด้วยกัน ในบริเวณอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของพม่า โดยตั้งชื่อดินแดนว่านาคาลิม การรวมเผ่านาคาภายใต้การบริหารเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อนาคาลิมและแยกออกมาจากอินเดียเป็นเป้าหมายหลักขององค์กร
พื้นที่ปฏิบัติการ
[แก้]สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์เป็นองค์กรที่มีกิจกรรมในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐนาคาแลนด์และเขตเทือกเขาในรัฐมณีปุระ ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวนาคา เป็นพื้นที่ในเขตอิทธิพล และยังพบในรัฐใกล้เคียง เช่นรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ ในระดับนานาชาติ องค์กรนี้ปรากฏและมีอิทธิพลในภาคเหนือของพม่าที่เป็นที่อยู่ของชาวนาคา
ผู้นำและโครงสร้าง
[แก้]อีซัก ชิซิ สวู ทุยงาเล็ง มุยวาห์ และ เอส เอส คาปลัง เป็นผู้ก่อตั้ง NSCN-IM และเป็นประธานและเลขาธิการทั่วไป ส่วน เอส เอส คาปลัง เป็นประธานของ NSCN-K ในทางการเมือง NSCN-IM แบ่งพื้นที่ในเขตอิทธิพลเป็น 11 บริเวณตามเผ่าย่อย เพื่อความสะดวกในการบริหาร ในหลายพื้นที่มีการจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในที่พยายามเข้ามาแทนที่กลไกการบริหารของรัฐบาลอินเดีย ยังมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเรียกว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนนาคาแลนด์เพื่อรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
ความเชื่อมโยงกับองค์กรอื่น
[แก้]NSCN-IM พยายามสร้างความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกประเทศอินเดีย โดยเป็นพันธมิตรกับจีนและปากีสถาน ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย และพยายามติดต่อกับองค์กรระดับนานาชาติ เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ องค์กรของประชาชานแห่งชาติที่ไม่ปรากฏ และกลุ่มทำงานเพื่อชนพื้นเมือง
ประวัติอย่างย่อของการต่อสู้ของชนเผ่านาคา
[แก้]คำว่านาคาใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่เป็นเผ่าในเทือกเขาหิมาลัยของอิยเดียตะวันออกเฉียงเหนือ เผ่าย่อยของนาคามีหลายเผ่า เช่น เผ่าองามี เผ่ากอนยัก การต่อสู้ของชาวนาคาย้อนหลังไปได้ถึงการก่อตั้งชมรมนาคาใน พ.ศ. 2461 โดยกลุ่มของชาวนาคาที่มีการศึกษา ได้เสนอไปยังคณะกรรมการของไซมอนให้แยกนาคาออกจากอินเดีย ขบวนการของชาวนาคาเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อราว พ.ศ. 2483 โดยมีองามี ซาปู พิโซเป็นผู้นำ
พิโซเป็นผู้นำคนหนึ่งในกองทัพแห่งชาติอินเดียที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของญี่ปุ่น เขาเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพราะหวังว่าจะได้รับเอกราช ชมรมนาคาได้เปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาตินาคาในพ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นองค์กรตั้งต้นของสภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์ ในการเรียกร้องเอกราชของชาวนาคา พวกเขาไม่ลงรอยกับสภาคองเกรสแห่งชาติอินเดีย จึงได้ต่อสู้ใต้ดินเพื่อต่อต้านอินเดีย
สภาแห่งชาตินาคาแลนด์นำโดยพิโซได้ประกาศเอกราชของนาคาแลนด์เมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2490 โดยต้องการจะรวบรวมพื้นที่ในเขตเทือกเขานาคาทั้งหมด รัฐบาลอินเดียได้จับกุมพิโซใน พ.ศ. 2491 ในข้อหากบฏ หลังจากถูกปล่อยตัว พิโชได้ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีของนาคาแลนด์ใน พ.ศ. 2493 ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 เขาได้พบกับเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของนาคาแลนด์แต่การเจรจาไม่สำเร็จ
กองทัพอินเดียเริ่มเคลื่อนพลเพื่อกดดันกลุ่มกบฏ พิโซได้ลี้ภัยไปปากีสถานตะวันออกแล้วจึงเดินทางต่อไปลอนดอน เขาลี้ภัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตใน พ.ศ. 2533 กองทัพฝ่ายกบฏยังคงต่อสู้ต่อไปโดยผู้นำที่เหลือ และได้ทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินเดียกับสภาแห่งชาตินาคา ใน พ.ศ. 2518 เรียกว่าข้อตกลงชิลลอง ผู้นำในสภาแห่งชาตินาคาบางคนเช่น อีซัก ชิซิ สวู ทุยงาเล็ง มุยวาห์ และ เอส เอส คาปลัง ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง และแยกออกมาตั้งสภาสังคมนิยมชาตินิยมนาคาแลนด์และจัดตั้งรัฐบาลใต้ดินของสหพันธ์นาคา ก่อนจะแยกออกเป็น 2 องค์กร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Dholabhai, Nishit (18 February 2011). "NSCN wants swift solution". The Telegraph. Calcutta, India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-19. สืบค้นเมื่อ 2015-05-16.
- ↑ "Police, NSCN militants exchange fire". The Hindu. Chennai, India. 2 July 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-20. สืบค้นเมื่อ 2015-05-16.
- ↑ http://www.satp.org/satporgtp/countries/india/states/nagaland/terrorist_outfits/NSCN_IM.HTM
- ↑ Lyle Morris (22 March 2011). "Is China Backing Indian Insurgents?". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ April 27, 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- [1] National Socialist Council of Nagaland - Isak-Muivah
- Northeast Echoes by Patricia Mukhim, Telegraph India, June 22, 2009
- Related Information/news for NSCN เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at KanglaOnline.com เก็บถาวร 2014-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน