สภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว (อังกฤษ: Akinetic mutism) เป็นศัพท์ทางแพทย์ ที่ระบุผู้ป่วยที่มักจะไม่เคลื่อนไหวเพราะสภาวะเสียการเคลื่อนไหว (akinesia) และไม่พูดเพราะสภาวะพูดไม่ได้หรือสภาวะไม่ยอมพูด (mutism) เป็นสภาวะที่เกิดจากความเสียหายอย่างรุนแรงของสมองกลีบหน้า คนไข้มักจะมีอาการที่ไม่ตอบสนองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการเคลื่อนไหวและการพูดจาที่น้อยลงไป

ตัวอย่างของเหตุความผิดปกตินี้ก็คือเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (meningioma) ที่ร่องสมองของระบบการได้กลิ่น (olfactory groove) ความผิดปกตินี้เห็นได้ด้วยในอาการขั้นสุดท้ายของโรคครูซเฟล์ดต-เจคอบ (Creutzfeldt-Jakob Disease) ซึ่งเป็นโรคทางสมองที่มีอาการแย่ลงเรื่อยๆ และในกรณีของสมองอักเสบแบบไม่เคลื่อนไหว (encephalitis lethargica[1]) แบบฉับพลัน สภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นในโรคหลอดเลือดสมองที่มีความเสียหายของเส้นเลือดในเขตสมองใหญ่ด้านหน้า เหตุอีกอย่างหนึ่งก็คือพิษในประสาทที่เกิดจากยาเช่น Tacrolimus[2] และ Cyclosporine[2]

เหตุอีกอย่างหนึ่งของทั้งสภาวะเสียการเคลื่อนไหวและสภาวะพูดไม่ได้ก็คือการสูญเสียรอยนูนซิงกูเลต (cingulate gyrus) ในระบบลิมบิก การเข้าไปทำลายรอยนูนซิงกูเลตเป็นวิธีการรักษาโรคจิตวิธีหนึ่ง รอยโรคดังที่กล่าวมานี้ก่อให้เกิดสภาวะเสียการเคลื่อนไหว สภาวะพูดไม่ได้ สภาวะไร้อารมณ์ และสภาวะไม่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด[3] มีการคาดว่า คอร์เทกซ์ซิงกูเลตด้านหน้า (Anterior cingulate cortex) เป็นผู้ส่งองค์กระตุ้นทั่วระบบ ที่เป็นตัวกระตุ้นระบบการตัดสินใจ[4] ดังนั้น เมื่อคอร์เทกซ์ซิงกูเลตด้านหน้ามีความเสียหาย จึงก่อให้เกิดสภาวะไม่พูดและเสียการเคลื่อนไหว

หมายเหตุและอ้างอิง[แก้]

  1. สมองอักเสบแบบไม่เคลื่อนไหว (encephalitis lethargica) หรือโรควอนอีโคโนโม (von Economo Disesase) เป็นโรคนอกแบบ (คือชนิดที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย) ของสมองอักเสบ ถูกพรรณนาเป็นครั้งแรกโดยนักประสาทวิทยา คอนสแตนติน วอน อีโคโนโม ในปี ค.ศ. 1917 โรคเข้าไปทำลายสมอง ทำผู้ป่วยให้เกิดอาการเหมือนรูปปั้น ไม่สามารถจะพูดหรือเคลื่อนไหวได้
  2. 2.0 2.1 Tacrolimus และ Cyclosporine เป็นยากดระบบภูมิคุ้มกัน โดยหลักใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายของคนไข้จะไม่รับอวัยวะใหม่
  3. Fix JD. Neuroanatomy. 4th ed.
  4. Struss DT et al.,2005, Multiple frontal systems controlling response speed, Neuropshichologia, 43: 396-417

[[หมวดหมู่::ความผิดปกติทางประสาท]]