สนประดิพัทธ์
สนประดิพัทธ์ | |
---|---|
สนประดิพัทธ์ พบที่ Ambarita, Samosir สุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Fagales |
วงศ์: | Casuarinaceae |
สกุล: | Casuarina |
สปีชีส์: | C. junghuhniana |
ชื่อทวินาม | |
Casuarina junghuhniana | |
ชื่อพ้อง | |
|
สนประดิพัทธ์ หรือสนปฏิพัทธ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Casuarina junghuhniana) เป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มสูงปลายยอดแหลม ในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย ชื่อของสนประดิพัทธ์เชื่อว่าตั้งตามชื่อของผู้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยคือ “พระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) และยังใช้เป็นชื่อของหาดหนึ่งในอำเภอหัวหิน ที่อยู่ไม่ไกลทางใต้ของเขาตะเกียบ ซึ่งเรียก “หาดสวนสนประดิพัทธ์” ที่มีที่มาจากทิวสนประดิพัทธ์ที่ปลูกตลอดแนวของชายหาดที่เงียบสงบแห่งนี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูง 15-35 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 4-6 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกรวยแหลม แตกกิ่งก้านจำนวนมาก กิ่งขนาดเล็กทำมุมแหลมกับลำต้น และแตกกิ่งเป็นระเบียบไม่โค้งงอ[1] มีข้อรอบกิ่งชัดเจน เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มปนเทา เปลือกมักแตกเป็นร่องตามแนวตั้ง ลอกเป็นแผ่นเล็ก ๆ และอาจห้อยตามลำต้น[2] ร่องแตกมีสีน้ำตาลแดง
รากของสนประดิพัทธ์ มีปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว และยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินโดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว[3] [4] จุลินทรีย์ภายในปมของสนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) เป็นแอคติโนมัยซีทใน genus Frankia และพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมทที่มีออกซิเจนตํ่า
ใบเดี่ยว ใบยาวเป็นข้อปล้อง คล้ายกิ่งแขนงขนาดเล็ก ใบสีเขียว เป็นเส้นกลมห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1.0 มม. ปล้องยาว 6-7 มม. ตลอดปล้องสันโดดเด่น 9-11 สัน ปลายแต่ละปล้องคล้ายหนามแหลม 9-11 ซึ่[5] สามารถถอดออกได้เป็นข้อ ๆ ยอดอ่อนหรือปลายกิ่งอ่อนมีสีเหลือง หรือสีฟางซีด[2] ใบร่วงง่าย
ดอก ขนาดเล็ก แบบแยกเพศและแยกต้น ดอกเพศผู้สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลือง ยาว 15-35 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มม. ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่ปลายกิ่ง กาบเรียงเป็นวงกว้าง 10-30 ช่อแต่ละช่อมี 9 ช่อมีดอกเดียวในแต่ละกาบ รูปทรงกระบองเรียว ช่อดอกตั้งยาว 1-3 ซม. เกสรเพศผู้ 1 อัน สีน้ำตาล ดอกเพศเมีย สีน้ำตาลแดงอมเทา[5] หรือออกแดง[6] ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่งสั้นๆ รูปทรงกรวยสั้น หรือเกือบกลม ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก แต่มีกลีบประดับขนาดเล็ก 2 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกประมาณ 0.5 ซม. ออกดอกเดือน ธ.ค.-ก.พ. แต่ในประเทศไทยขยายพันธุ์โดยการปักชำ ตอนกิ่ง หรือหน่อจากราก เนื่องจากมีแต่ต้นเพศผู้ [1] [2] [7] [3]
ผล อยู่ในกลีบประดับย่อยแบบปีกเดียว (samara — ผลที่มีผนังผลชั้นนอกเจริญยื่นออกมาเป็นปีก) เมล็ดกลมเล็ก มีปีก ขนาดกว้าง 2-3 มม. และยาว 4-5 มม. รวมปีกเมล็ด[6] น้ำหนักโดยจำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 1-1.6 ล้านเมล็ดต่อกิโลกรัม [8]
สนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) ต่างจากสนทะเล (C. equisetifolia) คือ สนประดิพัทธ์มีทรงพุ่มที่แคบกว่า กิ่งที่เล็กและเป็นระเบียบ ไม่มีปมและมีลำต้นที่ตรง[1] [7] และสนในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) นี้อาจดูคล้ายกับสนแท้ (pine) อื่น ๆ ได้แก่ สนสองใบและสนสามใบ แต่ต่างตรงที่ใบของวงศ์สนทะเลเป็นข้อปล้องสามารถถอดออกได้
อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ
[แก้]สนประดิพัทธ์ (Casuarina junghuhniana) จัดอยู่ในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) มีชื่อสามัญอื่นคือ Mountain Ru, Red-tipped Ru, Horsetail Tree, Ru Ronan[9] (และบางครั้งอาจเรียก Iron Wood ซึ่งเป็นชื่อสามัญอื่นของสนทะเลด้วย[3]) ชื่อสามัญภาษาอินโดนีเซีย คือ cemara gunung (ชื่อสามัญทั่วไป), ajaob, kasuari (ชื่อสามัญในติมอร์)
ในประเทศไทยชื่อสามัญ "สนประดิพัทธ์" เชื่อว่าตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาประดิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสนชนิดนี้มาจากสิงคโปร์[7]
ชนิดย่อย
[แก้]- C. j. junghuhniana กระจายพันธุ์ใน เกาะชวา เกาะบาหลี เกาะลอมบอก เกาะซุมบาวา และเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย[8]
- C. j. timorensis พบใน เกาะติมอร์ เกาะเวตาร์ เกาะซุมบาและเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย[8] และประเทศติมอร์-เลสเต
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย
[แก้]มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เป็นพืชที่นำเข้าไปปลูกในปากีสถานและบังกลาเทศในฐานะการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม[10]
นิเวศวิทยา
[แก้]ขึ้นในดินทรายใกล้ทะเล (ดินปนทรายหรือดินเค็ม) จนถึงภูเขาสูงถึง 3,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียว ซึ่งมีความเป็นกรด เป็นด่าง pH 2-8[3] ทนน้ำท่วมขัง[7]
เคมี
[แก้]สารสำคัญสกัดจากรากสนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) คือสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพจำพวกแบคทีเรียโรคพืช (phytopathogens) การศึกษาทางโครมาโทกราฟีระบุว่า พบกรดฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ที่มากในส่วนราก อาจเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโตในดินที่ขาดธาตุอาหารอย่างรุนแรง ด้วยการสร้างความต้านทานต่อเชื้อโรคพืช และอาจนำไปใช้เป็นสารป้องกันชีวภาพสำหรับการจัดการโรคพืชในพืชอื่น [11]
การใช้ประโยชน์
[แก้]นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นแนวกันลม สามารถตัดแต่งเป็นรูปต่างๆ ได้ ปลูกในสวนหรือพื้นที่ที่ไม่ต้องการดูแลรักษามาก[7]
เนื้อไม้
[แก้]เป็นไม้โตเร็ว เนื้อไม้แข็งแน่น แต่เนื้อไม้ฉีกและบิดตัวง่ายเมื่ออบหรือตากให้แห้ง จึงใช้ในงานแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ ปาร์เก้ได้ค่อนข้างยาก โดยทั่วไปใช้ในงานไม้โครงสร้าง เช่น ใช้ทำเสาโป๊ะ เสากระโดงเรือ ไม้กระดาน ไม้ฝา เนื้อไม้เหมาะแก่การทำฟืน ถ่าน เนื่องจากให้ความร้อนสูงและมีเถ้าต่ำ ไม้สนประดิพัทธ์อบแห้งมีความหนาแน่น 900-1000 kg/m3 และถ่านประดิพัทธ์ 650 kg/m3 พลังงานที่ให้จากถ่านสนประดิพัทธ์คือ 34500 kJ/กก. ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาไม้ฟืน[12]
วนเกษตร
[แก้]สนประดิพัทธ์ เป็นไม้บุกเบิกในการทำป่าไม้เพื่อเนื้อไม้หรือการฟื้นฟูในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และเนินหิน เนื่องจากช่วยฟื้นฟูสภาพดินด้วยรากที่ตรึงไนโตรเจนได้ดี ถูกนำมาใช้ในโครงการฟื้นฟูป่าไม้ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1900 และมีคุณสมบัติที่ดีมากในการลดการพังทลายของดินและดินถล่ม สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีกรดซัลเฟตต่ำ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเหนือ[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Normita Thongtham. Casuarina and effects Bangkok Post, 23 กุมภาพันธ์ 2558.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ไทยเกษตรศาสตร์ สนประดิพัทธ์ เก็บถาวร 2019-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 4 ธันวาคม 2557.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 สนประดิพัทธ์ เก็บถาวร 2020-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงจาก นันทวัน บุญยะประภัศร, บรรณาธิการ , อรนุช โชคชัยเจริญพร. (2543). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
- ↑ National Academy of Sciences. Casuarinas: Nitrogen-Fixing Trees for Adverse Sites. National Academy Press, Washington D.C., 1984.
- ↑ 5.0 5.1 Rubina Dawar 3. Casuarina junghuhniana Miq., Pl.Jungh. 7. 1851. Wilmot-Dear, l.c. Flora of Pakistan
- ↑ 6.0 6.1 Pl@ntUse Casuarina junghuhniana (PROSEA) สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2564.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 บ้านและสวน สนประดิพัทธ์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 4 กรกฎาคม 2559.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Winrock International. Casuarina junghuhniana – a Highly Adaptable Tropical casuarina เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน NFTA 95-01, January 1995.
- ↑ Flora & Fauna Web Casuarina junghuhniana สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
- ↑ Plants of the World, Kew Science Casuarina junghuhniana Miq. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
- ↑ G. Chathurdevi, s.Uma Gowrie. A Promising Source of Potential Bioactive Metabolites from the Root Extracts of Casuarina junghuhniana Miq. December 2016.
- ↑ 12.0 12.1 Useful Tropical Plants Database Casuarina junghuhniana 13 June 2019.