สนธิสัญญาไทย–ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2483)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาไทย–ญี่ปุ่น พ.ศ. 2483
สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน
สำเนาสนธิสัญญาฯ ฉบับภาษาไทย
ประเภทสนธิสัญญาไมตรี
วันลงนาม12 มิถุนายน พ.ศ. 2483
ที่ลงนามโตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
วันมีผล23 ธันวาคม พ.ศ. 2483
วันหมดอายุ23 ธันวาคม พ.ศ. 2488
ผู้ลงนาม
ภาคี
ภาษาไทย และญี่ปุ่น
สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2483 ที่ วิกิซอร์ซ

สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน[1] (อังกฤษ: Treaty between Thailand and Japan Concerning the Continuance of Friendly Relations and the Mutual Respect of Each Other's Territorial Integrity) เป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้น ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้เป็นก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองซึ่งที่สุดได้กลายเป็นพันธมิตรกันในสงครามโลกครั้งที่สอง

มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1940[2] สนธิสัญญามีผลใช้บังคับในวันเดียวกันนั้น[1] และได้ขึ้นทะเบียนใน ชุดสนธิสัญญาสันนิบาตชาติ (League of Nations Treaty Series) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1941[3]

ประวัติ[แก้]

การปฏิรูปเมจิใน ค.ศ. 1868 ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยิ่ง แต่ญี่ปุ่นไม่เหมือนชาติอื่นตรงที่ญี่ปุ่นค่อย ๆ กลายเป็นรัฐที่ใช้กำลังทหารในการขยายอุดมการณ์ของตน[4] ญี่ปุ่นประสงค์ขยายอำนาจไปสู่ภูมิภาคใกล้เคียง เพราะมีทรัพยากรสำคัญที่ญี่ปุ่นไม่มี[5] เดิมทีญี่ปุ่นหมายตาแมนจูเรีย, เกาหลี, ไต้หวัน, และจีนแผ่นดินใหญ่ ภายหลังก็มุ่งเป้าเพิ่มไปที่ไซบีเรีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, พม่า, อินโดจีนของฝรั่งเศส, และฟิลิปปินส์[4]

สำหรับไทยนั้น ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1887[4] และช่วงที่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียใน ค.ศ. 1931 รัฐบาลไทยก็ได้ช่วยควบคุมชาวจีนกลุ่มน้อยในประเทศไทยไม่ให้ต่อต้านการยึดครองแมนจูเรียของญี่ปุ่น[4] ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 มีการประณามญี่ปุ่นที่บุกแมนจูเรียในที่ประชุมสันนิบาตชาติ มีแต่ประเทศไทยที่งดออกเสียงประณาม และโยซูเกะ มัตสึโอกะ (Yōsuke Matsuoka) ผู้แทนญี่ปุ่นในสันนิบาตชาติ ก็ขอบคุณไทยทันทีหลังสิ้นการประชุม[4]

นอกจากนี้ ประเทศไทยเองมีการเปลี่ยนแปลงดินแดนตลอดในห้วงประวัติศาสตร์ โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ฝรั่งเศสเอาดินแดนบางส่วนที่เป็นลาวและกัมพูชาในปัจจุบันไปจากไทย ทั้งไทยเองก็มองหาช่องทางจะแสวงประโยชน์ทางดินแดนจากเพื่อนบ้านอย่างพม่าอยู่เสมอ[4] การได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักด้านการต่างประเทศของไทย[4] สำหรับไทย ญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนมหาอำนาจที่จะช่วยกอบกู้ดินแดนที่เสียไป[4]

แม้ไทยกับญี่ปุ่นดูจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่แวดวงการเมืองญี่ปุ่นมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับไทย จนกระทั่งใน ค.ศ. 1938 จักรพรรดิโชวะทรงประกาศชัดเจนว่า ทหารญี่ปุ่นจะเคลื่อนไหวใด ๆ ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยก่อน[4] ทัพเรือญี่ปุ่น แม้ประสงค์จะขยายอำนาจลงใต้ ก็ยังเกรงจะเผชิญหน้ากับสหรัฐ ส่วนทัพบกญี่ปุ่นตัดสินใจจะขยายอำนาจลงใต้เต็มที่ และในการนี้ จำต้องได้ความร่วมมือจากไทยในการบุกพม่าและมลายู[4] ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเข้ากรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งยังกำหนดให้นักการทูตอาซาดะ ชุนซูเกะ (Asada Shunsuke) และพันเอก ฮิโรชิ ทามูระ (Colonel Hiroshi Tamura) นำพาจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นให้ได้[4]

ที่สุดแล้ว ไทยกับญี่ปุ่นจึงได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน คือ สนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งช่วยให้ญี่ปุ่นสมปรารถนาที่จะแผ่อิทธิพลมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนไทยก็ได้ประโยชน์ คือ ได้การสนับสนุนอันแข็งแรงจากญี่ปุ่นสำหรับอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเรียกร้องดินแดน (irredenta) ของตน[4] ผู้แทนฝ่ายไทยในการทำสนธิสัญญา คือ พระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) อัครราชทูตไทยในญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายญี่ปุ่น คือ ฮาจิโร อาริตะ (Hachirō Arita) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น[1] ลงนามกัน ณ กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1940[1] แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1940 ณ กรุงเทพฯ และสนธิสัญญามีผลใช้บังคับทันที[1]

เนื้อหา[แก้]

สนธิสัญญานี้มีเนื้อหาสำคัญ คือ ยืนยันว่า ทั้งไทยและญี่ปุ่นยังเป็นสัมพันธมิตรสนิทเสน่หา และจะเคารพบูรณภาพในดินแดนของกันและกัน ซึ่งหมายความว่า จะไม่รุกรานดินแดนกัน นอกจากนี้ ยังตกลงจะแบ่งปันข้อมูลกันและปรึกษากันในประเด็นที่สำคัญต่อทั้งสองฝ่าย อนึ่ง ถ้าฝ่ายใดถูกบุคคลที่สามโจมตี อีกฝ่ายจะไม่ช่วยเหลือผู้โจมตีเป็นอันขาด[4]

ข้อสุดท้ายของสนธิสัญญากล่าวว่า สนธิสัญญามีผลห้าปีนับแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร ถ้าจะต่ออายุ ก็ต้องบอกกล่าวกันอย่างน้อยหกเดือนก่อนสิ้นกำหนดห้าปีนั้น[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ประกาศใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพแห่งอาณาเขตต์แห่งกันและกัน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. Bangkok: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 57: 944–949. 1940-12-24. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  2. "Address by foreign minister of Japan, Yosuke Matsuoka, delivered before the 76th session of the Imperial Diet, Tokyo, Japan, January 21, 1941". astro.temple.edu. n.p.: n.p. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-01. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  3. League of Nations Treaty Series, vol. 204, pp. 132-133.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 Staniczek, Lukasz (1999). "Pibun Songkram's Role in Thailand's Entry into the Pacific War" (ภาษาอังกฤษ). Ouachita Baptist University. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  5. กาญจนการุณ, วลัยพร; ปัญโญ, ธีรัช; Yamaguchi, Masayo (2016). "ความสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทยในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง" (pdf). วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. Bangkok: มหาวิทยาลัยทักษิณ. 11 (1 (January–June)): 37–61. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]