สถาปัตยกรรมเมแทบอลิซึม

สถาปัตยกรรมเมแทบอลิซึม (อังกฤษ: Metabolism; ญี่ปุ่น: メタボリズム; โรมาจิ: metaborizumu; ทับศัพท์: 新陳代謝) เป็นการเคลื่อนไหวรูปแบบสถาปัตยกรรมเลียนแบบธรรมชาติของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงคราม เป็นแนวคิดผสมผสานของสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่กับการเติบโตทางชีวภาพโดยตัวเอง รูปแบบนี้ปรากฏสู่นานาชาติครั้งแรกในระหว่างการพบปะของ CIAM เมื่อ ค.ศ. 1959 ซึ่งมีการทดสอบแนวทางโดยกลุ่มนักเรียนในสตูดิโอของเค็นโซ ทังเงะที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
ระหว่างการเตรียมการสำหรับงานประชุมออกแบบโลกโตเกียวประจำปี 1960 สถาปนิกและนักออกแบบรุ่นเยาว์กลุ่มหนึ่ง รวมถึงคิโยโนริ คิคูทาเกะ, คิโชะ คูโรคาวะ และฟูมิฮิโกะ มากิ ที่ได้เตรียมเผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับรูปแบบนี้ พวกเขาได้รับอิทธิพลจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งทฤษฎีลัทธิมากซ์ และกระบวนการทางชีววิทยา ปฏิญญาของพวกเขาประกอบด้วยเรียงความชุด 4 เล่ม ชื่อว่า Ocean City, Space City, Towards Group Form และ Material and Man และยังรวมถึงการออกแบบเมืองใหญ่ที่ลอยอยู่บนมหาสมุทร และอาคารแคปซูลสำเร็จรูปที่สามารถผสมผสานการเติบโตแบบออร์แกนิกเข้าด้วยกัน แม้ว่าการประชุมการออกแบบโลกจะทำให้ผู้ดำเนินการการเคลื่อนไหวนี้ได้มีโอกาสแสดงฝีมือบนเวทีระดับนานาชาติ แต่แนวคิดของพวกเขายังคงเป็นเพียงทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่
มีการสร้างอาคารขนาดเล็กที่ใช้หลักการของสถาปัตยกรรมเมแทบอลิซึม ได้แก่ ศูนย์กระจายเสียงและสื่อมวลชนยามานาชิของทังเงะ และนากางิงแคปซูลทาวเวอร์ ของคูโรคาวะ งานของพวกเขาที่มีความเข้มข้นสูงสุดนั้นเกิดขึ้นที่งานเวิลด์เอกโพซิชันปี 1970 ในโอซากะ โดยที่ทังเงะเป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังหลักของสถานที่ทั้งหมด ในขณะที่คิคูทาเกะและคูโรคาวะ เป็นผู้ออกแบบศาลา หลังวิกฤตการณ์น้ำมัน ค.ศ. 1973 กลุ่มสถาปนิกเมแทบอลิซึมหันความสนใจออกจากญี่ปุ่นและมุ่งไปที่แอฟริกาและตะวันออกกลางแทน