สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุ้มประตูชัยปอร์ตรา มาเกดอนิยา ในสกอเปีย

สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ (มาซิโดเนีย: Архитектура на Македонија) หมายถึง รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในอาณาเขตของประเทศมาซิโดเนียเหนือในปัจจุบัน

กลุ่มคนหลายกลุ่มที่เข้ามาตั้งรกรากหรือควบคุมดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศมาซิโดเนียเหนือ มีอิทธิพลต่อประเทศในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ชัดเจนที่สุดคืองานทางสถาปัตยกรรม กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึง ชาวไปโอเนีย (กรีก: Παίονες), ชาวอิลลิเรีย (กรีกโบราณ: Ἰλλυριοί), ชาวมาซิโดเนียโบราณ, โรมัน, ไบเซนไทน์, สลาฟ และออตโตมัน

แหล่งวัฒนธรรมหินใหญ่กอกินอ

สถาปัตยกรรมยุคแรก[แก้]

ตัวอย่างแรกสุดของงานทางสถาปัตยกรรมในดินแดนมาซิโดเนียเหนือมาจากยุคหินใหม่ ประกอบด้วยโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหินใหญ่ กอกินอ (มาซิโดเนีย: Кокино) เป็นหอคอยหินขนาดใหญ่ที่สุดลำดับที่สี่ของโลก โดยพื้นที่ประกอบด้วยการตัดแต่งหินที่สร้างขึ้นในลักษณะเพื่อช่วยในการสังเกตวัตถุท้องฟ้า[1]

สถาปัตยกรรมของมาซิโดเนียโบราณ[แก้]

โรงละครโบราณแห่งออคริต

ส่วนที่เหลือของสถาปัตยกรรมจากยุคของราชอาณาจักรมาซิโดเนียโบราณจะกระจายไปทั่วมาซิโดเนียเหนือ โดยเฉพาะในภาคใต้ของอดีตดินแดนมาซิดอน (อาณาจักรมาซิโดเนียร่วมสมัยกับกรีซโบราณ)

เฮราเคลอา ลินเซสติส (กรีก: Ἡράκλεια Λυγκηστίς; ละติน: Heraclea Lyncestis) ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะล้อมรอบด้วยแคว้นเอปิรุส (กรีกโบราณ: Ἄπειρος) ทางทิศตะวันตกและอาณาจักรไปโอเนีย (กรีก: Παιονία) ทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมโรมันมีความโดดเด่นในพื้นที่ในตอนนี้ เนื่องจากระดับของการขุดค้นที่เผยให้เห็นชั้นจากสมัยโรมัน

โรงละครโบราณในพื้นที่เมืองออคริต (มาซิโดเนีย: Охрид) ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล โดยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณลิคนิดอส (กรีกโบราณ: Λύχνιδος) ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่และมีการใช้งานในปัจจุบัน สถานที่ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขาสองแห่งที่ล้อมรอบ ทำให้สามารถป้องกันจากลมที่อาจรบกวนการได้ยินเสียงในระหว่างการแสดง

สถาปัตยกรรมโรมัน[แก้]

สะพานส่งน้ำสกอเปีย

สถาปัตยกรรมโรมันกระจายอยู่ทั่วดินแดน ซึ่งเมืองสกอเปียเป็นที่ตั้งของตัวอย่างสถาปัตยกรรมประเภทนี้ หนึ่งในนั้นคือสะพานส่งน้ำสกอเปียซึ่งเป็นสะพานส่งน้ำเพียงแห่งเดียวในมาซิโดเนียเหนือ ประกอบด้วยซุ้มประตูหิน 55 ซุ้ม อีกตัวอย่างหนึ่งคือค่ายทหารโรมันสคูปิ (ละติน: Scupi; Colonia Flavia Scupinorum) แม้ว่าจะมีซากปรักหักพังไม่มากนักจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ แต่บริเวณสุสานและโรงละครก็ยังมองเห็นได้

แม้ว่าจะถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวมาซิโดเนียโบราณ ส่วนที่เหลือของเมืองเฮราเคลอา ลินเซสติส ส่วนใหญ่มาจากช่วงการยึดครองของโรมัน ซึ่งรวมถึงมุขเด็จ (ละติน: porticus) และโรงละครขนาดใหญ่

ตัวอย่างอื่น ๆ ของสถาปัตยกรรมโรมันในมาซิโดเนียเหนือรวมถึงซากปรักหักพังของโรมันภายในและรอบ ๆ เมืองสตรูมิตซา (มาซิโดเนีย: Струмица) หนึ่งในซากที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีที่ใหญ่ที่สุดคือ โรงอาบน้ำสาธารณะหรือแทรไม (ละติน: Thermae) ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปลายยุคโบราณ

อารามเตรสกาเวตซ์

สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์[แก้]

สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในมาซิโดเนียเหนือ ส่วนใหญ่จะเห็นในโบสถ์และอาราม เช่นอาราม เตรสกาเวตซ์ (มาซิโดเนีย: Манастир Трескавец) ใกล้เมืองปรีเลป (มาซิโดเนีย: Прилеп)

มัสยิดมุสตาฟา ปาชา

สถาปัตยกรรมออตโตมัน[แก้]

ชาวออตโตมันควบคุมดินแดนมาซิโดเนียในปัจจุบันเป็นเวลาประมาณห้าศตวรรษ พวกเขาได้ทิ้งร่องรอยไว้กับมัสยิด และอาคารในศาสนาอิสลามอื่น ๆ ที่ได้สร้างขึ้น

สถาปัตยกรรมออตโตมันมีความโดดเด่นในบางเขตของเมืองสกอเปียโดยเฉพาะเขตเมืองเก่า มัสยิดมุสตาฟา ปาชา (ตุรกี: Mustafa Paşa Camii) เป็นหนึ่งในอาคารออตโตมันที่มีชื่อเสียงที่สุดในมาซิโดเนียเหนือ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1492 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของโดม 16 เมตร เสาของพะไล (ตุรกี: sütunlu giriş) ตกแต่งด้วยส่วนแขวนประดับ (ตุรกี: mukarnas; อังกฤษ: stalactite) ที่เป็นแบบฉบับของสถาปัตยกรรมออตโตมัน[2]

สถาปัตยกรรมออตโตมันยังสามารถเห็นได้ในเมืองบิตอลา (มาซิโดเนีย: Битола) และเตตอวอ (มาซิโดเนีย: Тетово)

สถาปัตยกรรมสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในแนวลัทธิคลาสสิกใหม่หรือแบบบารอกมีอยู่ทั่วประเทศมาซิโดเนียเหนือ แต่อาจหายากและจำกัดเพียงหนึ่งโครงสร้างในแต่ละเมือง สามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกในเมืองสกอเปียที่ อาคารริสติเชวา ปาลาตา (เซอร์เบีย: Ристићева палата) ข้อยกเว้นของรูปแบบนี้อยู่ในเมืองบิตอลา ซึ่งถนนคนเดินชีรอก ซอกัก (ตุรกี: Širok Sokak) เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกใหม่และบารอก รวมทั้งโบสถ์คาทอลิกแบบกอทิก


สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวีย[แก้]

นวนิยมช่วงระหว่างสงคราม (ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2)[แก้]

สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนการก่อตั้งรัฐ ในช่วงเวลานี้มีผู้สร้างสรรค์ชาวสลาฟใต้จำนวนหนึ่ง ที่กระตือรือร้นในความเป็นไปได้ของการก่อตั้งรัฐของชาวสลาฟ ได้มีการจัดชุดนิทรรศการศิลปะในเซอร์เบียในฐานะอัตลักษณ์ร่วมของชาวสลาฟ หลังจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลหลังจากการก่อตั้งราชอาณาจักรยูโกสลาเวียในปี พ.ศ. 2461 ความกระตือรือร้นจากฐานสู่ยอดเริ่มเบาบางลง สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอำนาจแห่งชาติซึ่งพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์ของรัฐแบบรวมศูนย์[3]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 สถาปนิกชาวยูโกสลาเวียเริ่มให้การสนับสนุนรูปแบบสถาปัตยกรรมในแนวนวนิยม ฉายภาพของสไตล์ซึ่งเป็นส่วนขยายตรรกะของการรังสรรค์ความก้าวหน้าของชาติ กลุ่มสถาปนิกของขบวนการสมัยใหม่ (เซอร์เบีย: Група архитеката модерног правца; ГАМП) ซึ่งก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2471 โดยสถาปนิก บรานิสลาฟ กอยิช (เซอร์เบีย: Бранислав Ђ. Којић), มิลาน ซลอกอวิช (เซอร์เบีย: Милан Злоковић), ยาน ดูบอวี (เช็ก: Jan Dubový) และ ดูซาน บาบิช (เซอร์เบีย: Душан Бабић) ผลักดันให้เกิดความแพร่หลายในการประยุกต์สถาปัตยกรรมในแนวสมัยใหม่ ในฐานะสไตล์รูปแบบ "แห่งชาติ" ของยูโกสลาเวีย ที่แตกต่างกว่ารูปแบบอื่นในภูมิภาค แม้การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่แยกห่างออกไปกับประเทศตะวันตก จะทำให้การยอมรับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เกิดความไม่แน่นอนในยูโกสลาเวียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในขณะนั้นรัฐโครเอเชียและสโลวีเนียทางด้านตะวันตก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอิทธิพลของประเทศตะวันตก มีความกระตือรือร้นที่จะนำสถาปัตยกรรมในแนวนวนิยมมาใช้ แต่บอสเนียที่ได้รับอิทธิพลของออตโตมันมาอย่างยาวนานยังคงต่อต้านรูปแบบดังกล่าว ในทุกเมืองของยูโกสลาเวียนั้น เบลเกรดมีปริมาณโครงสร้างสถาปัตยกรรมในแนวสมัยใหม่มากที่สุด[4][5]


สัจนิยมสังคมนิยม (พ.ศ. 2488-2491)[แก้]

ทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์สั้น ๆ ของยูโกสลาเวียกับรัฐกลุ่มตะวันออกนำเข้ามาซึ่งช่วงเวลาสั้น ๆ ของแนวคิดสัจนิยมแบบสังคมนิยม การรวมศูนย์ในรูปแบบคอมมิวนิสต์นำไปสู่การยกเลิกการปฏิบัติงานสถาปัตยกรรมส่วนตัว และการควบคุมสถานะของวิชาชีพ ในช่วงเวลานี้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียซึ่งมีอำนาจปกครองประณามแนวคิดนวนิยมว่าเป็น "คตินิยมของชนชั้นกลาง" ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดแรงเสียดทานกับงานแนวนวนิยมเช่นที่มีในช่วงก่อนสงคราม ของหมู่สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของประเทศ[6]

นวนิยมสังคมนิยม[แก้]

สถาปัตยกรรมสัจนิยมแบบสังคมนิยมในยูโกสลาเวีย มาถึงจุดสิ้นสุดอย่างกระทันหันในปี พ.ศ. 2491 เมื่อยอซีป บรอซ ตีโต แยกแนวทางกับสตาลิน ในปีต่อ ๆ มาประเทศก็หันไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศทางตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียกลับสู่แนวนวนิยมที่โดดเด่นในยุคก่อนสงคราม[5] ในช่วงยุคนี้สถาปัตยกรรมแนวสมัยใหม่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการแยกห่างจากสหภาพโซเวียต (ในเวลาต่อมาความคิดนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยการยอมรับที่เพิ่มขึ้นของแนวคิดนวนิยมในกลุ่มตะวันออก)[6][7]

สปอแมนิก (Spomenik)[แก้]

ในช่วงเวลาที่ยูโกสลาเวียได้แยกตัวออกจากแนวคิดสัจนิยมแบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต รวมกับความพยายามที่จะรำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้นำไปสู่การสร้างประติมากรรมในแนวนามธรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า สปอแมนิก (โครเอเชีย: Spomenik)[8]

สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์[แก้]

หอพักนักศึกษา (2514) โดยกอร์กี คอนสแตนตินอฟสกี ในสกอเปีย

ในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 แนวคิดสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์เริ่มมีการสนับสนุนเพิ่มขึ้นในยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สถาปนิกรุ่นใหม่ โดยมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากการล่มสลายในปี พ.ศ. 2502 ขององค์กรการประชุมนานาชาติว่าด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Congrès Internationaux d'Architecture Moderne; CIAM)[9]

อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในประเทศของแนวคิดบรูทัลลิสต์ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในความพยายามฟื้นฟูเมืองสกอเปียหลังเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2506[10] สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เคนโซ ตังเง (ญี่ปุ่น: 丹下 健三โรมาจิTange Kenzō) มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสถาปัตยกรรมในแนวบรูทัลลิสต์ในเมือง จนถึงกับมีการเสนอการออกแบบเมืองสกอเปียใหม่ทั้งหมดในแนวทางนี้[11][12]

สมัยการกระจายศูนย์กลาง[แก้]

โบสถ์ซเวตีคลีเมนทอครีดสกี (2515) โดยสลาฟโก เบรซอสกี ในเมืองสกอเปีย ได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างสถาปัตยกรรมทางศาสนาของชาวมาซิโดเนียกับแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่

ด้วยนโยบายการกระจายอำนาจและการเปิดเสรีในคริสตทศวรรษ 1950 ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย รูปแบบสถาปัตยกรรมเริ่มแยกแนวทางมากขึ้นตามชาติพันธุ์ สถาปนิกมุ่งเน้นไปที่การสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงกับมรดกทางสถาปัตยกรรมของสาธารณรัฐสังคมนิยมแต่ละประเทศ ในรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านสู่ภูมิภาคนิยม[13] ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในงานสถาปัตยกรรมของแต่ละเชื้อชาติภายในยูโกสลาเวียนั้นทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจขององค์กรอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ทำให้แต่ละภูมิภาคมีโอกาสมากขึ้นในการคิดวิเคราะห์อย่างจริงจังถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเอง[3]

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย[แก้]

พิพิธภัณฑ์โบราณคดีซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่

อาคารร่วมสมัยส่วนใหญ่ในมาซิโดเนียเหนือ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองสกอเปีย ตัวอย่างหนึ่งคือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติมาซิโดเนีย ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศสูงถึง 70 เมตร (230 ฟุต) ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยยัง พบได้ในเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะบิตอลา (มาซิโดเนีย: Битола) และกอสติวาร์ (มาซิโดเนีย: Гостивар)

โครงการสกอเปีย 2014 (Skopje 2014)[แก้]

สกอเปีย 2014 เป็นโครงการที่ประกาศโดยรัฐบาลในปี พ.ศ. 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงให้เมืองหลวงสกอเปีย มีรูปแบบภูมิทัศน์ในแบบคลาสสิกที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้น โดยการสร้างอาคารหลายหลังซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสไตล์คลาสสิกใหม่[14] ซึ่งต่อมาได้รับการวิจารณ์จากสถาปนิกหลายคนว่าเป็นศิลปะที่ปราศจากรสนิยม[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Kokino Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 6, 2008.
  2. "Culture in MK". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 6, 2009.
  3. 3.0 3.1 Darren Deane; Sarah Butler (December 5, 2016). "Conceptualizing National Architectures: Architectural Histories and National Ideologies among the South Slavs". Nationalism and Architecture. Taylor & Francis. ISBN 9781351915793.
  4. Đorđević, Zorana (2016). "Identity of 20th Century Architecture in Yugoslavia: The Contribution of Milan Zloković" (PDF). Култура/Culture. 14: 154–167.
  5. 5.0 5.1 Babic, Maja (2013). Modernism and Politics in the Architecture of Socialist Yugoslavia, 1945-1965 (PDF). University of Washington (MSc).
  6. 6.0 6.1 Vladimir, Kulić (2012). Modernism in-between : the mediatory architectures of socialist Yugoslavia. Jovis Verlag. ISBN 9783868591477. OCLC 814446048.
  7. Alfirević, Đorđe; Simonović Alfirević, Sanja (2015). "Urban housing experiments in Yugoslavia 1948-1970" (PDF). Spatium (34): 1–9.
  8. Kulić, Vladmir. "Edvard Ravnikar's Liquid Modernism: Architectural Identity in a Network of Shifting References" (PDF). New Constellations New Ecologies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 1, 2019.
  9. di Radmila Simonovic, Ricerca (December 2014). "New Belgrade, Between Utopia and Pragmatism" (PDF). Sapienza Università di Roma. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-23. สืบค้นเมื่อ 2020-05-29.
  10. Lozanovska, Mirjana (2015). "Brutalism, Metabolism and its American Parallel". Fabrications. 25 (2): 152–175. doi:10.1080/10331867.2015.1032482.
  11. Maja Babić (August 1, 2018). "Curating the Yugoslav Identity: The Reconstruction of Skopje | post". post.at.moma.org.
  12. "Reconstruction Plan for Skopje". architectuul.com. สืบค้นเมื่อ February 1, 2019.
  13. David Huber. "YUGOTOPIA: The Glory Days of Yugoslav Architecture On Display". PIN–UP. New York. สืบค้นเมื่อ February 5, 2019.
  14. Jonathan P. Stein (2000). The Politics of National Minority Participation in Post-Communist Europe: State-Building, Democracy, and Ethnic Mobilization. M.E. Sharpe. p. 91. ISBN 978-0-7656-0528-3.
  15. Koteska, Jasna (December 29, 2011). "Troubles with History: Skopje 2014". Art Margins Online. Republic of Macedonia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-16. สืบค้นเมื่อ 8 June 2012.