สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
Defence Technology Institute
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง1 มกราคม พ.ศ. 2552; 15 ปีก่อน (2552-01-01)
สำนักงานใหญ่47/433 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (แจ้งวัฒนะ) ชั้น 4 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
งบประมาณประจำปี1,190.2741 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดกระทรวงกลาโหม
เอกสารหลัก
เว็บไซต์DTI.or.th

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม มีภารกิจในการดำเนินการวิจัยโครงการขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ทำการวิจัยและพัฒนาจากระดับองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปสู่ระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนพัฒนายุทโธปกรณ์ต้นแบบตามความต้องการของเหล่าทัพ

การจัดตั้ง[แก้]

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ใช้เวลาในการจัดตั้งกว่า 2 ปี เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 3 รัฐบาล ในระหว่างรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ภารกิจของหน่วยงาน[แก้]

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีหน้าที่ดังนี้[2]

  • สายงานวิจัย มีหน้าที่ในการวิจัย ออกแบบ จำลอง พัฒนา ผลิตต้นแบบ ทดสอบทดลอง กำหนดมาตรฐาน เชื่อมต่อระบบ ติดตั้ง แนะนำและฝึกอบรมการใช้งาน รับและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงบริหารและจัดเก็บองค์ความรู้ ตามแผนงานที่ฝ่ายบริหารโครงการกำหนด นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนความรู้ด้านเทคนิคให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคสาธารณะอีกด้วย จำนวนเจ้าหน้าที่ในสายงานนี้เป็นนักวิจัย วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และนับประมาณได้ร้อยละ 70 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด
  • สายงานบริหารโครงการ มีหน้าที่จัดทำและนำเสนอแผนแม่บทการวิจัยพัฒนายุทโธปกรณ์ให้สภากลาโหมพิจารณา ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยผู้ใช้ถึงความต้องการและประเด็นการวิจัยพัฒนาต่างๆ ทำการบริหารงานโครงการ การตลาด การหารายได้ การเสนองบประมาณโครงการ การบริหารผลผลิตและกำหนดตัวชี้วัดของโครงการ รวมถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจของ สทป. ในระยะยาวโดยร่วมมือกับกองทัพ ภาควิชาการ และภาคเอกชน การทำงานของสายงานนี้เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม แบบ Matrix ที่อาศัยความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่อีกสองสายงานเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ในสายงานนี้เป็นนักบริหารโครงการมืออาชีพ วิศวกร นักประสานงาน และนักพัฒนากลยุทธ์ คิดเป็นประมาณจำนวนเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด
  • สายงานบริหารและสนับสนุน มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติงาน บริหารงบประมาณ การเงิน การบัญชี การพัสดุ ธุรการ การจัดซื้อจัดจ้าง การทรัพยากรบุคคล การประชาสัมพันธ์ การรักษาความปลอดภัย งานกฎหมาย และงานระบบสารสนเทศ เจ้าหน้าที่ในสายงานนี้เป็นผู้มีประสบการณ์ตามสาขาวิชาชีพ นับประมาณจำนวนเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด
  • สายงานองค์ความรู้และการเผยแพร่ มีหน้าที่จัดการความรู้ในองค์กร เผยแพร่ความรู้สู่สังคม โดยการจัดทำวารสารเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTech) มีการจัดหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระดับบัญฑิตศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เจ้าหน้าที่ในสายงานนี้เป็นนักจัดการความรู้ นักวิชาการ และกองบรรณาธิการวารสาร DTech
  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

อ้างอิง[แก้]