ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
Institute of Field Robotics
Institute of field robotics
King Mongkut's University of Technology Thonburi
สถาปนาพ.ศ. 2538
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คณบดีรศ. ดร.สยาม เจริญเสียง
ที่อยู่
126 ถ.ประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์http://fibo.kmutt.ac.th

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (อังกฤษ: Institute of field robotics, King Mongkut's University of Technology Thonburi) หรือเรียกว่าฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานระดับคณะ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อ พ.ศ. 2538 ในชื่อ ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม ตามแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 7 เพื่อวิจัยพัฒนาการศึกษาระดับสูงทางด้านวิชาการหุ่นยนต์ และงานวิจัยทางด้านระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการให้บริการรับปรึกษาด้านอุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศ คณะนี้ก่อตั้งโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ซึ่งมีความคิดว่า แนวโน้มของการใช้หุ่นยนต์ทางด้านการผลิตและงานบริการมีจำนวนสูงขึ้นมากกว่า 30% ทุกปี แต่ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในทุกระดับ โดยเฉพาะอาชีพวิศวกร อาจารย์และนักวิจัย จึงมีคติพจน์ว่า "A Cradle of Future Leaders in Robotics ที่มุ่งสร้างผู้นำด้านวิทยาการหุ่นยนต์ของไทย"

ที่ตั้ง

[แก้]

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ตั้งอยู่ ณ 126 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10140 เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 08.30 - 16.30 น.

วัตถุประสงค์ของ ฟีโบ้

[แก้]
  1. สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มุ่งสู่ความเป็นสากลในด้านวิชาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีอัตโนมัติ ให้มีความทัดเทียมกับสถาบันวิจัยระดับนานาชาติ
  2. ผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้มีคุณภาพสามารถแข่งขัน และช่วยลดความเสียเปรียบทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
  3. ทางสถาบันฯ เป็นองค์กรที่บริการสังคมเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีวิชาการหุ่นยนต์ให้แก่เยาวชน และผู้ที่สนใจ

งานวิจัยและกิจกรรมของฟีโบ้

[แก้]

เนื่องจากทางฟีโบ้เป็นองค์กรในภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการให้ความรู้แก่สังคม และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้สามารถนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นฟีโบ้จึงสามารถจัดแบ่งการทำงานขององค์กรออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย

งานวิจัยพื้นฐาน

[แก้]

กลุ่มงานวิจัยพื้นฐานนี้เป็นกลุ่มที่ทำวิจัยเกี่ยวกับพื้นฐานองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งกลุ่มงานวิจัยประเภทนี้จะเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าและงานวิจัยระดับสูง โดยกลุ่มงานวิจัยนี้ทำงานวิจัยที่ค่อนข้างใหม่ สามารถทำการแข่งขันกับนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลกได้ เช่น การวิจัยระบบ Haptic Interface, Intelligent Algorithm, Nonlinear Control System และ Multi-body Dynamic Analysis.

งานวิจัยประยุกต์

[แก้]

กลุ่มงานวิจัยประยุกต์เป็นกลุ่มทำวิจัยที่นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาประยุกต์ใช้ในการลดปัญหาต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานวิจัยนั้นๆ เช่น การสร้างหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย เพื่อลดอันตรายให้กับมนุษย์และสามารถนำเอาไปใช้ในงานสำรวจได้และการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติเช่น ระบบควบคุมแบบต่างๆมาใช้ในงานอุตสาหกรรม

งานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรม

[แก้]

กลุ่มงานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมนี้ เป็นกลุ่มวิจัยที่มุ่งเน้นบริการ วิจัยและพัฒนา และให้คำปรึกษาแก่งานทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งงานทางด้านอุตสาหกรรมของไทยนี้ยังขาดบุคลากรผู้ที่มีความชำนาญในสาขาวิชาเทคโนโลยีอัตโนมัติ และสาขาวิชาการหุ่นยนต์อยู่มาก ซึ่งมีผลกระทบทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างล่าช้า ด้วยเหตุนี้เองทางฟีโบ้ จึงมีกลุ่มงานวิจัยนี้เกิดขึ้น งานวิจัยที่ ฟีโบ้ ได้ให้บริการนั้นมีหลายประเภท เช่น งานอุตสาหกรรมไมโครอิเลคทรอนิกส์

งานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

[แก้]

งานอุตสาหกรรมผลิตของบริโภค และงานอุตสาหกรรมที่ต้องการการวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติงานเพื่อสาธารณะ กลุ่มงานเพื่อสาธารณนั้นเป็นงานที่ฟีโบ้ได้มุ่งเน้นที่จะตอบแทนให้กับสังคม ซึ่งฟีโบ้ได้ให้ความสำคัญกับงานเพื่อสาธารณะค่อนข้างมาก เนื่องจากทางฟีโบ้เองได้ตระหนักถึงการพัฒนาทางด้านความรู้และวิชาการของเยาวชนไทย และอีกทั้งการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป งานสาธารณะที่ฟีโบ้ได้ให้บริการ เช่น การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไป จนถึงระดับประถมและมัธยม เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถคิด ประดิษฐ์สร้าง ชิ้นงานที่สามารถทำงานได้จริง ซึ่งจะเป็นการนำเอาความรู้ที่ได้ศึกษามา นำมาใช้กับงานจริงทำให้เกิดการฝึกฝนทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติมากขึ้น และอีกทั้งงานบริการที่ทางฟีโบ้ได้ให้การอบรมแก่บุคคลกรในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

ตัวอย่างผลงานวิจัย

[แก้]

หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์นะโม (NAMO : Novel Articulated MObile platform) เป็นหุ่นยนต์กึ่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ท่อนบนมีลักษณะเป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นล้อเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ ประดิษฐ์โดยนักวิจัยของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม นายบุญเลิศ มณีฉาย, ดร.ถวิดามณีวรรณ์ และ ศูนย์การศึกษาในเมือง(CODE) สนับสนุนทุนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยแพร่ผลงานเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลักสูตรที่เปิดสอน

[แก้]

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดสอนในสาขาาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก ดังนี้:

ปริญญาตรี

[แก้]
  • หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (วศ.บ. วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562)[1]

ปริญญาโท

[แก้]
  • หลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (วศ.ม. วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พ.ศ. หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)[2]
  • หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี (วท.ม. ธุรกิจเทคโนโลยี หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559)[3]

ปริญญาเอก

[แก้]
  • หลักสุตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (ปร.ด. วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)[4]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. CurriculumEDS @KMUTT, สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (2020). วศ.บ. วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
  2. CurriculumEDS @KMUTT, สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (2020). วศ.ม. วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
  3. CurriculumEDS @KMUTT, สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (2020). วท.ม. ธุรกิจเทคโนโลยี หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
  4. CurriculumEDS @KMUTT, สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (2020). ปร.ด. วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563