สงครามโชซ็อนโบราณ–ฮั่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สงครามโกโชซ็อน–ฮั่น)
สงครามโชซ็อนโบราณ–ฮั่น
วันที่109-108 ปีก่อนคริสต์ศักราช
สถานที่
ผล ราชวงศ์ฮั่นชนะอย่างเด็ดขาด
คู่สงคราม
โชซ็อนสมัยวีมัน ราชวงศ์ฮั่น
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าอูกอแห่งโชซ็อนโบราณ 
แม่ทัพซ็อง กี 
เสนาบดีโน อิน (เชลย)
เสนาบดีฮัน อึม (เชลย)
เสนาบดีซัม (เชลย)
แม่ทัพวัง คย็อป (เชลย)
หยาง พู
สฺวิน จื้อ
กำลัง
ไม่ทราบ ประมาณ 50,000 นาย

สงครามโชซ็อนโบราณ–ฮั่น (อังกฤษ: Gojoseon–Han War; จีน: 汉灭朝鲜之战) เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรโชซ็อนโบราณกับราชวงศ์ฮั่น ระหว่าง 109–108 ปีก่อนคริสศศักราช

นับตั้งแต่พระเจ้าวีมันแห่งโชซ็อนโบราณ (Wiman of Gojoseon) ขึ้นครองราชย์ ความสัมพันธ์ระหว่างโชซ็อนโบราณกับฮั่นก็เสื่อมถอยลง[1] ในรัชสมัยพระเจ้าอูกอแห่งโชซ็อนโบราณ (Ugeo) มีการขัดขวางไม่ให้ผู้นำเผ่าต่าง ๆ ของเกาหลีติดต่อกับราชวงศ์ฮั่น จักรพรรดิฮั่นอู่จึงส่งผู้แทนนามว่าเช่อ เหอ (She He) ไปสอบถาม แต่เช่อ เหอก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้[2] ขณะเดินทางกลับ เช่อ เหอได้ฆ่าข้าราชการของกษัตริย์โชซ็อน[2] พระเจ้าอูกอจึงส่งคนไปฆ่าเช่อ เหอ[2] และสั่งให้ฆ่าคณะทูตของราชวงศ์ฮั่น ซึ่งทำให้จักรพรรดิฮั่นอู่กริ้วมาก[3] อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่สันนิษฐานว่าราชวงศ์ฮั่นก่อสงครามนี้ขึ้นเพื่อกำจัดอาณาจักรโชซ็อนโบราณก่อนจะร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มชนซฺยงหนู ซึ่งเป็นหนึ่งในศัตรูที่ฮั่นกำลังทำสงครามอยู่ หรือเป็นการตอบโต้ที่พระเจ้าวีมันสั่งห้ามการค้าระหว่างชินบ็อน (Jinbeon) กับฮั่น[4]

ในปีที่ 109 ก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิฮั่นอู่ได้ส่งกองทัพสองกองรวมทหารกว่า 50,000 นาย ล่องเรือข้ามทะเลปั๋วไห่ (Bohai Sea) และเดินทัพไปที่วังก็อม-ซ็อง (Wanggeom-seong) เมืองหลวงของโชซ็อนโบราณ ในช่วงแรกของสงคราม ทหารฮั่นไม่สามารถยึดเมืองหลวงได้ จนกระทั่งรวมเป็นทัพเดียวและโจมตีหนักขึ้น ที่ปรึกษาโชซ็อนหลายคนเสนอให้พระเจ้าอูกอยอมจำนน แต่พระองค์ไม่ยอม ต่อมาในเดือนเมษายน 108 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่ปรึกษาโชซ็อนได้ยอมจำนนต่อกองทัพฮั่นและปลงพระชนม์พระเจ้าอูกอ แต่ฝ่ายโชซ็อนบางส่วนที่นำโดยซ็อง กี (Seong Gi) ยังไม่ยอมแพ้ แต่ในที่สุดกองทัพฮั่นก็ยึดเมืองหลวงได้สำเร็จ และซ็อง กีถูกสังหาร

ภายหลังสงคราม มีการจัดผู้บัญชาการชาวฮั่นสี่นายเพื่อดูแลดินแดนโชซ็อน[1] การล่มสลายของโชซ็อนโบราณนำไปสู่ยุคก่อนสามอาณาจักรเกาหลี (Proto–Three Kingdoms of Korea)[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Sin 2006, 22−23.
  2. 2.0 2.1 2.2 Pai 2000, 142.
  3. Pai 1992, 309.
  4. Pai 2000, 144–145.
  5. West 2009, 412.