สงครามเย็น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายกำแพงเบอร์ลินจากฝั่งตะวันตก(ฝั่งของประเทศเยอรมันตะวันตก) กำแพงถูกสร้างใน ค.ศ. 1961 เพื่อป้องกันมิให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีและหยุดการหลั่งไหลของแรงงานซึ่งเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นและการทลายกำแพงใน ค.ศ. 1989 เป็นสัญลักษณ์ว่าสงครามเย็นใกล้ยุติ

สงครามเย็น (อังกฤษ: Cold War รัสเซีย: Холодная война) เป็นสถานะความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างประเทศกลุ่มตะวันตก (สหรัฐอเมริกา พันธมิตรเนโท ฯลฯ) และประเทศกลุ่มตะวันออก (สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในสนธิสัญญาวอร์ซอ)

นักประวัติศาสตร์ยังไม่ตกลงกันทั้งหมดว่าสงครามเย็นคือช่วงใดกันแน่ แต่ส่วนใหญ่ถือ ค.ศ. 1947–1991 สงครามเย็นได้ชื่อว่า "เย็น" เพราะไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่โดยตรงระหว่างสองฝ่าย แม้มีสงครามในภูมิภาคสำคัญ ๆ ที่เรียก สงครามตัวแทน ในประเทศเกาหลี เวียดนามและอัฟกานิสถานซึ่งทั้งสองฝ่ายสนับสนุนก็ตาม สงครามเย็นแบ่งแยกพันธมิตรยามสงครามชั่วคราวเพื่อต่อกรกับนาซีเยอรมนี ซึ่งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจโดยมีข้อแตกต่างทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างลึกล้ำ คือ สหภาพโซเวียตเป็นรัฐลัทธิมากซ์–เลนินพรรคการเมืองเดียว และสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐทุนนิยมที่มีการเลือกตั้งเสรีโดยทั่วไป กลุ่มเป็นกลางที่ประกาศตนกำเนิดขึ้นด้วยขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งประเทศอียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซียและยูโกสลาเวียก่อตั้ง กลุ่มแยกนี้ปฏิเสธการสมาคมกับทั้งกลุ่มตะวันตกและกลุ่มตะวันออก สองประเทศมหาอำนาจไม่เคยประจัญในการต่อสู้ด้วยอาวุธเต็มขั้น แต่ต่างฝ่ายต่างสั่งสมอย่างหนักเตรียมรับสงครามโลกนิวเคลียร์แบบสุดตัวที่อาจเกิดขึ้น ต่างฝ่ายมีสิ่งกีดขวางนิวเคลียร์ซึ่งกีดขวางการโจมตีของอีกฝ่าย บนพื้นฐานว่าการโจมตีนั้นจะนำไปสู่การทำลายล้างฝ่ายโจมตีอย่างสิ้นซาก คือ ลัทธิอำนาจทำลายล้างซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการพัฒนาคลังนิวเคลียร์ของสองฝ่าย และการวางกำลังทหารตามแบบแล้ว การต่อสู้เพื่อครองความเป็นใหญ่ยังแสดงออกมาผ่านสงครามตัวแทนทั่วโลก การสงครามจิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อและจารกรรม และการแข่งขันทางเทคโนโลยี เช่น การแข่งขันอวกาศ

การใช้คำ

สงครามเย็นเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายต่างแข่งขันกัน โดยพยายามสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนไว้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม โดยประเทศมหาอำนาจจะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามแทน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสงครามตัวแทน (proxy war) เหตุที่เรียก สงครามเย็น เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจ โดยใช้จิตวิทยา [ต้องการอ้างอิง]

การกำเนิดค่ายตะวันออก

การเปลี่ยนแปลงของดินแดนหลังสงครามในยุโรปและการก่อตัวของทางทิศตะวันออกที่เรียกว่าม่านเหล็ก.

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ก่อตั้งค่ายตะวันออก (Eastern Bloc) โดยการรวมรัฐที่ได้ยึดมาจากฝ่ายนาซี เช่น โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ เอสโตเนีย โรมาเนีย แล้วจึงเปลี่ยนสถานะให้เป็นรัฐสังคมนิยมซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต

ลำดับเหตุการณ์

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าว คำนึงถึงสงครามเย็นเป็นหลัก นับจากปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) สมัยเริ่มต้นสงครามเย็น น่าจะอยู่ในสมัยวิกฤตการณ์ทางการทูตในตอนกลางและปลาย ค.ศ. 1947 เมื่อสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเกิดขัดแย้งเรื่องการจัดตั้งองค์การสันติภาพในตุรกี ยุโรปตะวันออกและเยอรมนี

ความตึงเครียดเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างอภิมหาอำนาจ แต่ยังไม่มีการประกาศสงครามหรือใช้กำลัง เป็นสมัยลัทธิทรูแมน วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 กับประกาศแผนการมาร์แชลล์ เพื่อฟื้นฟูบูรณะยุโรปตะวันตก ซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปตะวันออก และการแบ่งแยกเยอรมนี

การวิจัยและพัฒนาโครงการทางการทหารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก เกิดขึ้นในในช่วงเวลานี้ รวมถึงการแข่งขันกันสำรวจอวกาศ และการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อแสดงแสนยานุภาพของฝ่ายตน

เริ่มต้นของสงครามเย็น (ค.ศ. 1945-1950)

นักบินกำลังลำเลียงนมขึ้นเครื่องบินที่ส่งไปช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตกในช่วงปิดล้อมเบอร์ลิน

ระยะแรกของสงครามเย็นเริ่มในสองปีให้หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติใน ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตรวบการควบคุมเหนือรัฐในกลุ่มตะวันออก โดยสหภาพโซเวียตได้นำกองทัพเข้ารัฐประหารประเทศต่าง ๆ กลุ่มตะวันออกและพยายามเข้าแทรกแซงทางการเมืองในกรีซและตรุกี ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มได้เริ่มลัทธิทรูแมนคือการจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนาทั่วโลกเพื่อท้าทายโซเวียต โดยแผนมาร์แชลล์ขยายความช่วยเหลือทางทหารและการเงินแก่ประเทศยุโรปตะวันตก (ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองกรีซ) การตั้งพันธมิตรเนโท

จากนั้นสหภาพโซเวียตได้ปิดล้อมเบอร์ลิน ไม่ให้กลุ่มตะวันตกเข้าช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก โดยหวังว่าจะให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกจะมาร่วมกับเบอร์ลินตะวันออก แต่กลุ่มตะวันตกได้ส่งของทางอากาศช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก โซเวียตเห็นว่าไม่ได้ผลจึงยกเลิกการปิดกั้นให้กลุ่มตะวันตกเข้ามา[ต้องการอ้างอิง]

วิกฤตการณ์ (ค.ศ. 1950-1975)

ภายถ่ายจากการบินสอดแนมของยู-2 แสดงให้เห็นขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบา ในภาพจะมีรถขนส่งและเต็นท์เชื้อเพลิง

ด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนและการอุบัติของสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950–53) ความขัดแย้งขยายตัว สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาแข่งขันชิงอิทธิพลในละตินอเมริกาและรัฐแอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับปลดปล่อยอาณานิคม ขณะเดียวกัน การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 ถูกโซเวียตหยุดยั้ง การขยายและบานปลายจุดประกายวิกฤตการณ์เพิ่มอีก เช่น วิกฤตการณ์สุเอซ (ค.ศ. 1956) วิกฤตการณ์เบอร์ลิน ค.ศ. 1965 และวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ค.ศ. 1962

หลังความขัดแย้งสุดท้ายนี้ก็เริ่มระยะใหม่ซึ่งมีความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียตทำให้ความสัมพันธ์ภายในเขตคอมมิวนิสต์ซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศฝรั่งเศส แสดงอิสระในการปฏิบัติมากขึ้น สหภาพโซเวียตปราบปรามโครงการเปิดเสรีปรากสปริง ค.ศ. 1968 ในเชโกสโลวาเกีย และสงครามเวียดนาม (ค.ศ. 1955–1975) ยุติลงด้วยความปราชัยของสาธารณรัฐเวียดนามใต้ที่สหรัฐหนุนหลัง ทำให้มีการปรับแก้เพิ่มขึ้น

การผ่อนคลายครั้งแรก (ค.ศ. 1974-1979)

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ทั้งสองฝ่ายต่างสนใจในการผ่อนปรนเพื่อสถาปนาระบบระหว่างประเทศที่เสถียรมั่นคงและทำนายได้มากขึ้น อันเริ่มระยะการผ่อนคลายความตึงเครียดซึ่งมีการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์และสหรัฐเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นการถ่วงดุลยุทธศาสตร์กับสหภาพโซเวียต และเจรญาสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ SALT I (ค.ศ. 1974) และ SALT II (ค.ศ.1979)

วิกฤตการณ์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1979-1989)

การผ่อนคลายความตึงเครียดทลายลงเมื่อสิ้นทศวรรษโดยสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถานเริ่มใน ค.ศ. 1979 เป็นการพยายามให้อัฟกานิสถานยังเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์

ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยการที่โซเวียตยิงโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 007 ตก (ค.ศ. 1983) และการซ้อมรบ "เอเบิลอาร์เชอร์" ของเนโท (ค.ศ. 1983) สหรัฐเพิ่มการกดดันทางการทูต ทหารและเศรษฐกิจต่อสหภาพโซเวียต

การผ่อนคลายครั้งสองและสิ้นสุดสงครามเย็น (ค.ศ. 1985-1991)

ประธานาธิบดีเรแกนและรองประธานาธิบดีบุชและประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ, นิวยอร์กซิตี้, 7 ธันวาคม 1987

เป็นช่วงปลายสงครามเย็น สหภาพโซเวียตกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้ว ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ผู้นำโซเวียตคนใหม่ มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ริเริ่มการปฏิรูปเปิดเสรีเปเรสตรอยคา (ค.ศ. 1987) และกลัสนอสต์ (ประมาณ ค.ศ. 1985) ยุติการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน และการสนธิสัญญาควบคุมขีปนาวุธ INF

การกดดันเรียกร้องเอกราชของชาติยิ่งเติบโตขึ้นในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศโปแลนด์ ฝ่ายกอร์บาชอฟไม่ยอมใช้ทหารโซเวียตเพื่อค้ำจุดระบอบสนธิสัญญาวอร์ซอที่ไม่มั่นคงดังที่เคยเป็นในอดีต ผลลงเอยด้วยใน ค.ศ. 1989 เกิดคลื่นปฏิวัติซึ่งโค่นระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

พรรคคอมมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตเองเสียการควบคุมและถูกห้ามหลังความพยายามรัฐประหารอันไร้ผลในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 แล้วนำไปสู่การยุบสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 และการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นอย่างประเทศมองโกเลีย กัมพูชาและเยเมนใต้ สหรัฐเหลือเป็นประเทศอภิมหาอำนาจของโลกแต่ผู้เดียว

คู่สงคราม

เริ่มต้นของสงครามเย็น ค.ศ. 1947-1953 มีประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาหลัก ๆ คือ สมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ มีประเทศพันธมิตรของโซเวียตหลัก ๆ คือสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอและสาธารณรัฐประชาชนจีน

แผนที่แสดงฝ่ายของสงครามเย็น ในค.ศ.1959
  ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
  ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา
  ประเทศอาณานิคม
  ประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอ
  ประเทศพันธมิตรของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
  ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง

ค.ศ. 1950 ได้เกิดสงครามเกาหลี สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือเกาหลีใต้ ส่วนโซเวียตได้ช่วยเหลือเกาหลีเหนือ จนกระทั่งสงบศึกหลังจากเวียดมินห์ได้รับชัยชนะ ฝรั่งเศสยอมรับความปราชัยและต้องสงบศึก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการลงนามใน "อนุสัญญาเจนีวา" (พ.ศ. 2497) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผลให้เวียดนามถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยมีเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือ โดยเวียดนามเหนือยึดถือการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ส่วนเวียดนามใต้ยึดถือการปกครองแบบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของโง ดินห์ เสี่ยม ทำให้สหภาพโซเวียตเข้าควบคุมเวียดนามเหนือ สหรํฐอเมริกาเข้าควบคุมเวียดนามใต้ ในตะวันออกกลาง อเมริกาได้สนับสนุนอิสราเอลในเรื่องอาวุธที่ไว้ใช้ป้องกันตัวเอง ทำให้โซเวียตตอบโต้โดยสนับสนุนสันนิบาตอาหรับในต่อต้านอิสราเอล

ในปีค.ศ. 1959 ได้มีการปฏิวัติคิวบาและได้เข้าเป็นพันธมิตรของโซเวียต ในปี ค.ศ.1960 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีความคิดคัดแย้งกัน ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มเขมรแดง และโซมาเลีย แยกออกมาจากพันธมิตรของโซเวียต หลังจากสงครามยมคิปปูร์ เวียดนามได้เข้าเป็นพันธมิตรของโซเวียต ส่วนสันนิบาตอาหรับตัดความสัมพันธ์จากโซเวียตไปเป็นพันธมิตรของอเมริกา

แผนที่แสดงฝ่ายของพันธมิตรของโซเวียต(สีแดง) ฝ่ายของพันธมิตรของจีน(สีเหลือง) เป็นคอมมิวนิสต์แต่ไม่มีพันธมิตร(สีดำ)

ในปี ค.ศ.1979 เกิดสงครามอัฟกานิสถานที่เป็นพันธมิตรของโซเวียตได้ต่อสู้กับมุจญาฮิดีนซุนนีย์ที่อเมริกาสนับสนุน ในที่สุดมุจญาฮิดีนซุนนีย์ได้รับชัยชนะ ทำให้โซเวียตเสียพันธมิตรไป ใน ค.ศ.1989 ได้มีการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ทำให้โซเวียตเสียพันธมิตรในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ทำให้รัฐในโซเวียตเรียกร้องอิสรภาพ ส่งผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลายในเวลาต่อมา

แผนที่ในปีค.ศ.1980 แสดงฝ่ายพันธมิตรของโซเวียต (สีแดง) ฝ่ายพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา (สีน้ำเงิน)

สงครามตัวแทน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง