ซีลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สคิวล่า)
ซีลาบนแจกันดินเผายุคกรีกโบราณ

ซีลา (อังกฤษ: Scylla; กรีก: Σκύλλα, Skylla) เป็นอสูรกายทะเลปรากฏในเทพปกรณัมกรีก เคียงคู่กับคาริบดิส อันเป็นที่มาของสุภาษิตตะวันตกที่ว่า "ระหว่างคาริบดิสและซีลา"[1]

ซีลา มีท่อนบนเป็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่ท่อนล่างเป็นสุนัขดุร้ายทั้งหมด 6 หัว เชื่อว่าซีลาและคาริบดิสอาศัยอยู่บริเวณโขดหินแถบช่องแคบเมสสินา ใกล้กับเกาะซิซิลี ในประเทศอิตาลี ในปัจจุบัน

เดิมที ซีลาเป็นนิมฟ์หรือพรายน้ำที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นบุตรีของเพอร์ซิส เทพแห่งน้ำ กลอคัส ซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเลอีกองค์หนึ่งตามปกรณัม เมื่อได้มาพบเห็นซีลาก็หลงรักและปรารถนาอยากได้ครอบครองนาง แต่ซีลากลัวในรูปร่างอันประหลาดของกลอคัส จึงวิ่งหนีเมื่อกลอคัสปรากฏตัวขึ้นเหนือน้ำ กลอคัสจึงเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้แก่นางแม่มด เซอร์ซี เพื่อหวังให้นางช่วย แต่เมื่อเซอร์ซีได้ฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว นางกลับหลงรักกลอคัสแทน และได้เทยาพิษลงในน้ำในจุดที่ซีลาลงเล่นน้ำบ่อย ๆ เมื่อซีลาลงเล่นน้ำร่างกายท่อนล่างเมื่อแตะน้ำจึงกลับกลายเป็นสุนัขดุร้าย 6 หัวแทน และถูกตรึงอยู่ ณ ที่นั้น ไม่สามารถขยับไปไหนได้ จึงกลายเป็นอสูรกายคอยดักเล่นงานลูกเรือตามเรือที่ผ่านไปมา โดยจับกินเป็นอาหาร

อีกปกรณัมหนึ่ง เล่าว่า ซีลาเป็นชายาลับ ๆ อีกองค์ของโพไซดอน มหาเทพแห่งท้องทะเล จึงทำให้แอมฟิไทรทีชายาใหญ่ของโพไซดอนเกิดความหึงหวง จึงเอายาพิษมาโปรยใว้ที่จุดที่ซีลาลงเล่นน้ำ จึงกลายเป็นอสูรกายไป และบางปกรณัมก็ว่า ซีลาถูกปราบโดยเฮราคลีส จึงกลายเป็นโขดหินไป[2]

เรื่องราวของสคลิลาและคาริบดิสปรากฏในมหากาพย์โอดิสซีย์ โดย เรือของโอดิซูสต้องผ่านช่องแคบเมสสินาในระหว่างเดินทางกลับ หลังเสร็จสงครามกรุงทรอย โอดิสซูสจำต้องเลือกว่าจะเสี่ยงเอาเรือแล่นไปใกล้คาริบดิสและเรืออาจถูกน้ำวนของนาง ดูดจนอัปปางจมไปทั้งลำหรือนำเรือเข้าไปใกล้โขดหินซีลาและเสี่ยงต่อการถูกจู่โจม ซึ่งสุดท้าย โอดิสซูสก็เลือกนำเรือเข้าใกล้โขดหินซีลาและต้องเสียลูกเรือ 6 คนโดยถูกสุนัขทั้ง 6 หัวของซีลาฉกไปกินหัวละคน[3][4][5][6]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ซีลาได้ถูกอ้างอิงถึงในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า โดยปรากฏเป็นมารีนเนอร์ระดับขุนพล ชื่อ ซีลา อิโอ เป็นผู้พิทักษ์เสาค้ำมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ โดยดัดแปลงให้ซีลามีท่อนล่างเป็นสัตว์ป่าดุร้าย 6 ชนิดแทน[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Noted by Edward Charles Harington in Notes and Queries 5th Series, 8 (7 July 1877:14).
  2. Tzetzes, On Lycophron 45
  3. Fagles 1996 XII.275–79.
  4. Robert Fagles, The Odyssey 1996, XII.119f.
  5. Servius on Aeneid III. 420.
  6. On Lycophron 45
  7. Kurumada, Masami (2006). "Chapter 52". Saint Seiya, Volume 15. Viz Media. ISBN 1-4215-0656-4.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Hanfmann, George M. A., "The Scylla of Corvey and Her Ancestors" Dumbarton Oaks Papers 41 "Studies on Art and Archeology in Honor of Ernst Kitzinger on His Seventy-Fifth Birthday" (1987), pp. 249–260. Hanfman assembles Classical and Christian literary and visual testimony of Scylla, from Mesopotamian origins to his ostensible subject, a ninth-century wall painting at Corvey Abbey.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]