สคิลลา

สคิลลา (อังกฤษ: Scylla; กรีก: Σκύλλα, Skylla) เป็นอสูรกายทะเลปรากฏในเทพปกรณัมกรีก เคียงคู่กับคาริบดิส อันเป็นที่มาของสุภาษิตตะวันตกที่ว่า "ระหว่างคาริบดิสและสคิลลา"[1]
สคิลลา มีท่อนบนเป็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่ท่อนล่างเป็นสุนัขดุร้ายทั้งหมด 6 หัว เชื่อว่าสคิลลาและคาริบดิสอาศัยอยู่บริเวณโขดหินแถบช่องแคบเมสสินา ใกล้กับเกาะซิซิลี ในประเทศอิตาลี ในปัจจุบัน
เดิมที สคิลลาเป็นนิมฟ์หรือพรายน้ำที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นบุตรีของเพอร์ซิส เทพแห่งน้ำ กลอคัส ซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเลอีกองค์หนึ่งตามปกรณัม เมื่อได้มาพบเห็นสคิลลาก็หลงรักและปรารถนาอยากได้ครอบครองนาง แต่สคิลลากลัวในรูปร่างอันประหลาดของกลอคัส จึงวิ่งหนีเมื่อกลอคัสปรากฏตัวขึ้นเหนือน้ำ กลอคัสจึงเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ให้แก่นางแม่มด เซอร์ซี เพื่อหวังให้นางช่วย แต่เมื่อเซอร์ซีได้ฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว นางกลับหลงรักกลอคัสแทน และได้เทยาพิษลงในน้ำในจุดที่สคิลลาลงเล่นน้ำบ่อย ๆ เมื่อสคิลลาลงเล่นน้ำร่างกายท่อนล่างเมื่อแตะน้ำจึงกลับกลายเป็นสุนัขดุร้าย 6 หัวแทน และถูกตรึงอยู่ ณ ที่นั้น ไม่สามารถขยับไปไหนได้ จึงกลายเป็นอสูรกายคอยดักเล่นงานลูกเรือตามเรือที่ผ่านไปมา โดยจับกินเป็นอาหาร
อีกปกรณัมหนึ่ง เล่าว่า สคิลลาเป็นชายาลับ ๆ อีกองค์ของโพไซดอน มหาเทพแห่งท้องทะเล จึงทำให้แอมฟิไทรต์ชายาใหญ่ของโพไซดอนเกิดความหึงหวง จึงเอายาพิษมาโปรยใว้ที่จุดที่สคิลลาลงเล่นน้ำ จึงกลายเป็นอสูรกายไป และบางปกรณัมก็ว่า สคิลลาถูกปราบโดยเฮราคลีส จึงกลายเป็นโขดหินไป[2]
เรื่องราวของสคลิลาและคาริบดิสปรากฏในมหากาพย์โอดิสซีย์ โดย เรือของโอดิซูสต้องผ่านช่องแคบเมสสินาในระหว่างเดินทางกลับ หลังเสร็จสงครามกรุงทรอย โอดิสซูสจำต้องเลือกว่าจะเสี่ยงเอาเรือแล่นไปใกล้คาริบดิสและเรืออาจถูกน้ำวนของนาง ดูดจนอัปปางจมไปทั้งลำหรือนำเรือเข้าไปใกล้โขดหินสคิลลาและเสี่ยงต่อการถูกจู่โจม ซึ่งสุดท้าย โอดิสซูสก็เลือกนำเรือเข้าใกล้โขดหินสคิลลาและต้องเสียลูกเรือ 6 คนโดยถูกสุนัขทั้ง 6 หัวของสคิลลาฉกไปกินหัวละคน[3][4][5][6]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย สคิลลาได้ถูกอ้างอิงถึงในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า โดยปรากฏเป็นมารีนเนอร์ระดับขุนพล ชื่อ สคิลลา อิโอ เป็นผู้พิทักษ์เสาค้ำมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ โดยดัดแปลงให้สคิลลามีท่อนล่างเป็นสัตว์ป่าดุร้าย 6 ชนิดแทน[7]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Noted by Edward Charles Harington in Notes and Queries 5th Series, 8 (7 July 1877:14).
- ↑ Tzetzes, On Lycophron 45
- ↑ Fagles 1996 XII.275–79.
- ↑ Robert Fagles, The Odyssey 1996, XII.119f.
- ↑ Servius on Aeneid III. 420.
- ↑ On Lycophron 45
- ↑ Kurumada, Masami (2006). "Chapter 52". Saint Seiya, Volume 15. Viz Media. ISBN 1-4215-0656-4.
บรรณานุกรม[แก้]
- Hanfmann, George M. A., "The Scylla of Corvey and Her Ancestors" Dumbarton Oaks Papers 41 "Studies on Art and Archeology in Honor of Ernst Kitzinger on His Seventy-Fifth Birthday" (1987), pp. 249–260. Hanfman assembles Classical and Christian literary and visual testimony of Scylla, from Mesopotamian origins to his ostensible subject, a ninth-century wall painting at Corvey Abbey.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: สคิลลา |