มูลนิธิชัยพัฒนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูลนิธิชัยพัฒนา
ก่อตั้ง14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 (35 ปี)
นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เลขาธิการ
สุเมธ ตันติเวชกุล

มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นมูลนิธิซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้

การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จะเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และ ประสานงานให้โครงการต่างๆ เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่นในกรณีที่อาจต้องจัดซื้อที่ดินจากราษฎรบางส่วน แต่รัฐมีปัญหางบประมาณ หรือถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ มูลนิธิชัยพัฒนาจะช่วยเหลือตามความเหมาะสม เพื่อให้โครงการนั้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมทบ

มูลนิธิชัยพัฒนาก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 109 วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หน้า 5220 โดยปัจจุบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิ และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการมูลนิธิ [1] มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ภายในสวนหลวงพระราม 8 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมเคยเป็นสถานที่ตั้งโรงสุราบางยี่ขัน

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ[แก้]

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติอยู่ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดซื้อที่ดินผืนนี้ จำนวน 14 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2532 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นสมควรที่จะได้รับใช้เบื้องยุคลบาท เผยแพร่แนวพระราชดำริให้กว้างขวางและลึกซึ้งออกไป ในกิจกรรมที่จะเข้าถึงสาธารณชนจำนวนมากได้ จึงขออนุญาตจากมูลนิธิชัยพัฒนา ใช้ที่ดินเป็นที่รวบรวมข้อมูลและมีกิจกรรมที่แสดงให้เห็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เกิดเป็น "โครงการศูนย์นันทนาการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ" เพื่อเสนอแนวคิด และทฤษฎีการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ตลอดจนการสาธิตความเป็นอยู่วิถีไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม อีกทั้งยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่คาดว่าจะมาท่องเที่ยวโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน ที่จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2547 สมาคมฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการตามที่เสนอ โดยการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ ต้อนรับนักท่องเที่ยว อาคารห้องประชุม ร้านค้า และลานนิทรรศการ เป็นต้น

โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อโครงการว่า "ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ได้เสด็จรับมอบศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติจากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย พร้อมกับทรงเปิดศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมีนายปัญญา ปุลิเวคินทร์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

บุคลากรภายในศูนย์[แก้]

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ มีวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ในปัจจุบัน คือ

  • นายปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
  • นางสาวขนิษฐา ขันชะลี หัวหน้าฝ่ายพัสดุ
  • นางสาวกันหา โทมนตรี หัวหน้าฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์
  • นายตีรณ ศิลาลาย หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมและประชาสัมพันธ์
  • นางสาวอันธิกา สโมสร ธุรการ/ผู้ประสานงานศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์[แก้]

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และได้พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" โดยให้เป็นศูนย์การอบรมกระบือในการทำนา ทำการเกษตร และกิจกรรมต่าง ๆ และให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจจะใช้ประโยชน์จากกระบือในการประกอบอาชีพ รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]