วัดอัมพวัน (จังหวัดสิงห์บุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอัมพวัน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชโลธร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอัมพวัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

วัดอัมพวันมีการปฏิบัติธรรมซึงพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)เป็นผู้สร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ แนวทางการปฏิบัติจะเป็นการฝึกแบบสติปัฏฐาน 4 (พอง-ยุบ)[1]

ที่ตั้งและอาณาเขตของวัด[แก้]

วัดอัมพวัน ตั้งอยู่เลขที่ 53 หมู่ที่ 4 (เบี่ยงออกจากถนนเอเชีย กิโลเมตรที่ 78 )ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี 16160 โทร. 036 510 598

ที่ดินของวัดมีเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ตามหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือ โฉนดที่ 8877 เลขที่ 223 โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทางทิศเหนือ มีความยาว 38 เมตร ติดกับที่ดินเลขที่ 147 ทางสาธารณประโยชน์
  • ทางทิศใต้ มีความยาวยาว 259 เมตร ติดกับที่ดินเลขที่ 145 ที่มีการครอบครองสาธารณประโยชน์
  • ทางทิศตะวันออก มีความยาว 185 เมตร ติดกับทางสาธารณประโยชน์
  • ทางทิศตะวันตก มีความยาว 192 เมตร ติดกับที่ดินเลขที่ 147 ทางสาธารณประโยชน์

ประวัติ[แก้]

วัดอัมพวันเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[2] ดังมีหลักฐานที่ปรากฏ เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรกหิน 2 องค์ สมัยลพบุรี แบบหูยาน 2 องค์ ตู้พระธรรมสร้าง พ.ศ. 2200 จำนวน 1 ตู้ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ 1 ตู้ พ.ศ. 2310 ศิลาจารึกในอุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่าคนจีนได้สร้างอุโบสถวัดอัมพวัน สมัยเหม็งเชี้ยว คนจีนได้นำเรือกำปั่นมาทำการค้ามากับฝรั่งชาติฮอลันดามาค้าขายกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี จอดหน้าวัดอัมพวัน ได้สร้างโบสถ์วัดอัมพวันสมัยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันชื่อ พระครูญาณสังวร อายุ 99 ปี สร้างโบสถ์เสร็จแล้ว ฝรั่งเพื่อนคนจีนได้ขอพระราชทาน พระพุทธรูปปางนาคปรกหินทั้งสององค์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้คนจีนเอาไว้ในโบสถ์จนถึงการสร้างโบสถ์หลังใหม่(ปัจจุบันนำไปประดิษฐานที่กุฏิหลวงพ่อชั้นล่าง)

โบราณวัตถุที่สำคัญ

  1. พระพุทธรูปนาคปรกหูตุ้ม
  2. พระพุทธรูปนาคปรกหูหยาน
  3. พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร
  4. ตู้พระไตรปิฎก ลายรดน้ำ สร้างปีพ.ศ. 2310
  5. ตุ้พระธรรม สร้างปีพ.ศ. 2200

พระพุทธชโลธร พระประธานที่อุโบสถเป็นพระประธานแบบสุโขทัย ปางสะดุ้งมารขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 9 นิ้ว สูง 5 ศอก ประทับนั่งอยู่บนฐานชุกชีแบบอยุธยาทำด้วยปูนปั้นจำลองแบบมาจากวัดโพธิ์ พระนคร สร้างเมื่อ 8 เมษายน 2513 โดยมีคุณสุมาลย์-คุณทองย้อย ชโลธร เป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างจึงได้ชื่อสกุลมาเป็นพระนามของพระพุทธรูปนั้น

การบริหาร การปกครอง[แก้]

วัดอัมพวัน เป็นวัดในเขตการปกครองสงฆ์ของมหานิกาย ภาค 3 หนกลาง ปัจจุบัน เจ้าอาวาสชื่อ “พระครูปลัดสิทธิวรวัฒน์”

  • รายชื่อเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเท่าที่มีหลักฐาน ดังนี้

พ.ศ. 2382 - 2397 คือ พระครูพรหมนครบวรราชมุนี

พ.ศ. 2398 - 2412 คือ พระครูปาน

พ.ศ. 2412 - 2427 คือ พระอธิการเทศ

พ.ศ. 2428 - 2442 คือ พระอธิการเยื้อน

พ.ศ. 2443 - 2556 คือ พระใบฎีกาแย้ม

พ.ศ. 2456 - 2465 คือ พระอธิการเลี่ยม

พ.ศ. 2466 - 2476 คือ เจ้าอธิการสัว

พ.ศ. 2476 - 2480 คือ พระอธิการล้วน

พ.ศ. 2481 - 2499 คือ พระอธิการหล่ำ เหมโก

พ.ศ. 2500 - 2559 คือ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)

พฤษภาคม พ.ศ. 2559 - เมษายน พ.ศ. 2560 คือ พระครูปัญญาประสิทธิคุณ

พ.ศ. 2560 ถึง ปัจจุบัน คือ พระครูปลัดสิทธิวรวัฒน์

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญ[แก้]

  • พระเจดีย์ธรรมสิงหบุราจริยานุสรณ์

เริ่มดำเนิการก่อสร้างหลังจากหลวงพ่อจรัญได้ละสังขารในปีพ.ศ. 2559 ได้แรงบันดาลใจจากวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา (ซึ่งหลวงพ่อจรัญเคยไปตามนิมิตได้พบใบลานทองคำที่จารึกบทถวายพรพระหรือพุทธชัยมงคลคาถาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงจารึกและบรรจุไว้ในเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลแห่งนี้) สำหรับพระเจดีย์ธรรมสิงหบุราจริยานุสรณ์นี้ มีเจดีย์ใหญ่อยู่ตรงกลางแวดล้อมด้วยเจดีย์เล็กอีก 8 ทิศ เจดีย์เป็นสีขาว มีส่วนยอดหุ้มทองคำ เจดีย์ประกอบด้วยกัน 4 ชั้น ชั้น G : ลานจอดรถ ความจุประมาณ 140 คัน ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่อเนกประสงค์ที่พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทสามารถใช้ปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ชั้นที่ 2 เพื่อบรรจุพระสรีระสังขารของพระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโมรวมทั้งอัฐบริขารต่างๆของหลวงพ่อ ส่วนชั้น 3 (ชั้นบนสุด) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนที่ฐานโดยรอบชั้นล่างของพระเจดีย์ยังสามารถใช้เพื่อการเวียนเทียนประทักษิณ

กิจกรรมและวันสำคัญของวัด[แก้]

  • 1 มกราคม วันทำบุญผ้าป่าข้าวสาร
  • 14 มกราคม วันทำบุญแผ่นดิน
  • 25 มกราคม วันละสังขารหลวงพ่อจรัญ
  • 27 มกราคม วันทำบุญบำเพ็ญกุศลให้แม่ใหญ่(อุบาสิกาสุ่ม ทองยิ่ง)
  • 5 กุมภาพันธ์ วันทำบุญบำเพ็ญกุศลให้ย่าเจิม จรรยารักษ์(โยมแม่)
  • 15 เมษายน วันกตัญญู
  • 15 สิงหาคม วันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อจรัญ
  • 14 ตุลาคม วันคล้ายวันประสบอุบัติเหตุ
  • 31 ธันวาคม วันชำระหนี้สงฆ์ สวดมนต์ข้ามปี

ศูนย์ปฏิบัติธรรม[แก้]

เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้เป็นผู้ก่อตั้งเพื่อโดยมีปณิธานว่า"ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันนี่ เป็นของคนไทย เอาไว้ช่วยเหลือประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในชาติบ้านเมืองของเรา" โดยศูนย์ฯมีพื้นที่เกือบ 300 ไร่ มีศาลาปฏิบัติธรรม อาคารที่พัก วิหาร หอฉัน โรงทาน ห้องน้ำ ห้องครัว ไว้รองรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งแบบทั่วไปและหมู่คณะ

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดอัมพวัน". สำนักงานจังหวัดสิงห์บุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  2. "วัดอัมพวัน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.

แหล่งข้อมูล[แก้]