ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (อังกฤษ: Phaholyothin Transportation Center) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่บริการรถไฟ (Transit Oriented Development; TOD) และอสังหาริมทรัพย์แบบประสมโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บนที่ดินรวม 2,325 ไร่ (919.23 เอเคอร์) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ มีแนวอาณาเขตตั้งแต่ถนนเทอดดำริ ถนนกำแพงเพชร 5 ถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดี-รังสิต ตลอดจนพื้นที่ของสวนวชิรเบญจทัศ สวนจตุจักร อาคารเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (สำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัท ปตท.) และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยรัฐบาลไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งเป้าให้ศูนย์คมนาคมแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางการเดินทางทางรางแห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจครบวงจร และสมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

รูปแบบการพัฒนา[แก้]

ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ และแยกพัฒนาเป็น 10 โครงการ[1] โดยไม่รวมพื้นที่ของสวนวชิรเบญจทัศ สวนจตุจักร อาคารเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จทุกระยะภายในปี พ.ศ. 2575 โดยทั้ง 10 โครงการประกอบไปด้วย

  1. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือในชื่อเดิม สถานีกลางบางซื่อ ตั้งเป้าเป็นสถานีรถไฟกรุงเทพแห่งใหม่ ที่จะเป็นศูนย์รวมทุกการเดินทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางและรถไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในอาเซียน
  2. แปลง A (ทางทิศใต้ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสม
  3. แปลง B (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ติดกับตลาดนัดจตุจักรเดิม) พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจระดับอาเซียน
  4. แปลง C (สถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน) พัฒนาเป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมระดับนานาชาติ ตลอดจนศูนย์รวมการแสดงความบันเทิงครบวงจร
  5. แปลง D (ตลาดนัดจตุจักรเดิม) พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าครบวงจร และสะพานเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนตามแนวถนนพหลโยธิน (สถานีหมอชิต และสถานีสวนจตุจักร)
  6. แปลง E (ย่านตึกแดง) พัฒนาเป็นศูนย์ราชการ และที่ทำการแห่งใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
  7. แปลง F (ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ติดกับถนนเทอดดำริ) พัฒนาเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่
  8. แปลง G (ย่าน กม. 11) พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย และห้องพักอาศัยของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
  9. แปลง H (ทางทิศตะวันออกของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) พัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสม
  10. แปลง I (สถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน) พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย

ลำดับการพัฒนา[แก้]

การพัฒนาโครงการทั้งหมด การรถไฟแห่งประเทศไทยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็นส่วน ๆ และใช้วิธีการร่วมพัฒนาโครงการในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐฯ และเอกชน (PPP) ด้วยการแยกประมูลออกเป็นแต่ละแปลงตามความสามารถของเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงการ โดยเริ่มจากการพัฒนาศูนย์กลางทางธุรกิจและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสมในแปลง A เป็นลำดับแรก แล้วจะพัฒนาต่อในแปลง B, C, และ D และพัฒนาต่อเนื่องจนครบทั้งโครงการภายใน พ.ศ. 2575

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์[แก้]

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือในชื่อเดิม สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งอยู่ในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2556 พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ด้วยพื้นที่ใช้งานภายในอาคารกว่า 259,000 ตารางเมตร ทำให้สถานีรถไฟแห่งนี้จะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นสถานีรถไฟที่มีจำนวนชานชาลามากเป็นอันดับ 6 ของโลกควบคู่กับสถานีรถไฟกลางซูริก โดยในระยะแรกจะให้บริการใน 8 เส้นทาง โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเร็ว 4 สายและรถไฟทางไกลอีก 4 สาย และในอนาคตมีแผนที่จะให้บริการรถไฟความเร็วสูงโดยใช้สถานีนี้เป็นสถานีต้นทาง

ศูนย์กลางทางธุรกิจและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสม (แปลง A)[แก้]

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดขายเอกสารสำหรับยื่นข้อเสนอเข้าร่วมพัฒนาโครงการบนพื้นที่แปลง A ขนาด 32 ไร่ มีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 11,500 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยมีเอกชนเข้าซื้อซองพัฒนาโครงการ 4 ราย[2] ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ Urban Renaissance Agency จากประเทศญี่ปุ่น แต่ในการยื่นซองเข้าประมูลเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 กลับไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูล เนื่องจากเป็นกังวลว่าโครงการจะดึงคนได้ไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ เพราะตามมติบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยครั้งล่าสุด สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะมีเพียงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงใช้งานเพียงสายเดียว จึงทำให้ตัวแปรเรื่องผู้โดยสารผันเปลี่ยนไป

อ้างอิง[แก้]

  1. "ภาครัฐดันศูนย์คมนาคมพหลโยธิน สมาร์ทซิตี้แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-27. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ซื้อ 4 รายชิลล์ๆ! ประมูลที่ดินบางซื่อแปลง A มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน "มาบุญครอง" ถอดใจนาทีสุดท้าย". สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

ดูเพิ่ม[แก้]