เกษรอัมรินทร์

พิกัด: 13°44′37″N 100°32′29″E / 13.74361°N 100.54139°E / 13.74361; 100.54139
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์
Gaysorn Amarin
เกษรอัมรินทร์ในปี พ.ศ. 2564 ก่อนการปรับปรุง
แผนที่
ที่ตั้ง496–502 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′37″N 100°32′29″E / 13.74361°N 100.54139°E / 13.74361; 100.54139
เปิดให้บริการพ.ศ. 2528 (ศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า)
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 (แมคโดนัลด์)
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 (ปรับปรุงศูนย์การค้า)
28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 (LV The Place Bangkok)
20 มีนาคม พ.ศ. 2567 (ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์)[1]
ชื่อเดิมอัมรินทร์พลาซ่า (พ.ศ. 2528-2565)
ผู้บริหารงานบริษัท เกษรพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
จำนวนชั้น5 ชั้น (เกษรอัมรินทร์)
22 ชั้น (อัมรินทร์ ทาวเวอร์)
ขนส่งมวลชน สถานีชิดลม สถานีสยาม

ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ (อังกฤษ: Gaysorn Amarin) หรือในชื่อเดิม ศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า (อังกฤษ: Amarin Plaza) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมแบบผสมที่ตั้งอยู่ในย่านราชประสงค์ ประกอบด้วยศูนย์การค้า 5 ชั้น และอาคารสำนักงาน 22 ชั้น

เกษรอัมรินทร์เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2528 โดยมีห้างสรรพสินค้าโซโก้เป็นผู้เช่าหลัก อาคารออกแบบโดย รังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดดเด่นด้วยการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ ที่ผสมผสานองค์ประกอบแบบกรีก-โรมันเข้ากับส่วนหน้ากระจกสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และเป็นปรากฎการณ์ในหมู่นักพัฒนา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นตามมาในประเทศไทย กระนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแวดวงสถาปนิก โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัท อัมรินทร์พลาซ่า จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จนถึงปี พ.ศ. 2550 เกษรกรุ๊ปได้ซื้อกิจการและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเกษรวิลเลจในเวลาต่อมา

ประวัติ[แก้]

การพัฒนา[แก้]

เกษรอัมรินทร์ เป็นทรัพย์สินแห่งแรกของบริษัท อัมรินทร์พลาซ่า จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ถือเป็นการร่วมลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกของครอบครัวว่องกุศลกิจ ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมน้ำตาลผ่านกลุ่มมิตรผล อิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ หลังจากได้รับข้อเสนอจากตระกูลศรีวิกรม์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และได้ร่วมมือกับตระกูลวัฒนาเวคิน เพื่อก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งในอีกหกปีต่อมา อิสระได้ให้วิฑูรย์พี่ชายของเขา ดูแลกิจการนี้แทนตน[2]

อาคารหลังนี้ออกแบบโดยรังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดดเด่นด้วยการวางองค์ประกอบกรีก-โรมันเข้าด้วยกัน เช่น เสาไอออนิก ผ้าสักหลาด และบัวหัวเสา ร่วมกับผนังกระจกสมัยใหม่ รังสรรค์กล่าวว่าเขาไม่ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างการออกแบบหลังสมัยใหม่ แต่ดัดแปลงตามสิ่งที่เขาคาดหวังจะดึงดูดรสนิยมของผู้เช่า แม้กระนั้นเจ้าของโครงการบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการออกแบบดังกล่าว แต่เขายืนกรานโดยรับประกันว่าจะมีผู้สนใจเช่าพื้นที่นี้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเสียค่าปรับการก่อสร้างล่าช้าและยังต้องออกแบบใหม่โดยไม่ได้รับค่าจ้างอีกด้วย[3][4] โครงการขายได้ร้อยละ 80 ของยูนิตทั้งหมดก่อนเริ่มการก่อสร้าง การออกแบบอาคารกลายเป็นปรากฎการณ์ในหมู่สถาปนิกและนักพัฒนาชาวไทย หลังจากนั้นมีการการนำเอาองค์ประกอบกรีก-โรมันในลักษณะเดียวกับโครงการนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การออกแบบนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแวดวงสถาปนิกว่าเป็นการใช้องค์ประกอบคลาสสิกอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในบริบทสิ่งก่อสร้างของไทยในเวลานั้น[4][5]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2526 แต่ในช่วงแรกประสบปัญหากับระบบเสาเข็ม ทำให้เจ้าของเปลี่ยนจากเสาเข็มเจาะคอนกรีตเป็นระบบเจาะ ทำให้ความคืบหน้าล่าช้าไปมากเนื่องจากโครงสร้างของดิน และการก่อสร้างได้เปลี่ยนไปใช้เสาเข็มเจาะเหล็กอีกครั้ง ซึ่งประสบปัญหามากขึ้นไปอีก เนื่องจากการก่อสร้างต้องหยุดชะงักตามคำสั่งศาลที่โรงแรมเอราวัณได้ฟ้องร้องเรื่องมลพิษทางเสียง แม้จะมีปัญหาข้างต้น แต่การชำระเงินล่วงหน้าของโครงการทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน และสามารถลดเงินกู้จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเริ่มแรกประมาณ 270 ล้านบาท เป็นน้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า อันเปิดทำการเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น

การดำเนินงาน[แก้]

เกษรอัมรินทร์ (ซ้าย) เชื่อมต่อกับโรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ (ขวา) โครงการทั้งสองได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มเอราวัณและออกแบบโดยรังสรรค์

เกษรอัมรินทร์เปิดทำการในปี พ.ศ. 2528 โดยมีห้างสรรพสินค้าโซโก้ เป็นผู้เช่าหลัก ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรกของบริษัทเครือญี่ปุ่นดังกล่าว ในเวลาเดียวกันศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ที่อยู่ใกล้เคียง ได้เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าโตคิวด้วย อัมรินทร์พลาซ่ายังเคยเป็นที่ตั้งของแมคโดนัลด์สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคาร โดยร้านเปิดทำการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน[6]

"โซโก้" กลายเป็นชื่อที่ผู้คนพูดถึงอาคารแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนักในช่วงสองสามปีแรก เนื่องจากจำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งเปิดใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง โซโก้เปิดสาขาที่สองในศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก ซึ่งเป็นโครงการในเครือเดียวกัน แต่ปิดตัวลงไม่นานหลังจากที่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นลดขนาดการดำเนินงานระหว่างประเทศลงในปี พ.ศ. 2543[7]

เกษรอัมรินทร์ในปี พ.ศ. 2548

ในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มบริษัทเอราวัณได้ขายอัมรินทร์พลาซ่าให้กับกลุ่มเกษรเจ้าของที่ดิน (ซึ่งดำเนินการศูนย์การค้าเกษรพลาซ่าอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน) เนื่องจากใกล้จะสิ้นสุดสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปีของทรัพย์สินซึ่งมีโอกาสในการปรับปรุงอย่างจำกัด โครงการนี้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเกษรวิลเลจในอีกสิบปีให้หลัง[8] ต่อมาได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ระหว่างปี 2565 ถึง 2567 และดำเนินการเปิดอีกครั้งในชื่อเกษรอัมรินทร์[9] โดยใช้แนวคิดผสมผสานสถาปัตยกรรมเดิมเข้ากับการใช้ชีวิตยุคใหม่[10]

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

แอลวี เดอะ เพลส แบงค็อก
ศาลท้าวอัมรินทราธิราช

เกษรอัมรินทร์ตั้งอยู่ริมถนนเพลินจิต ใกล้มุมตะวันออกเฉียงใต้ของแยกราชประสงค์ ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อด้วยทางเดินลอยฟ้าไปยังสถานีชิดลมของ รถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงอาคารเกษรเซ็นเตอร์ที่อยู่ตรงข้าม และโครงการอื่น ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีสะพานลอยตรงไปยังโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณที่อยู่ใกล้เคียง

เกษรอัมรินทร์ แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน คือ ศูนย์การค้า ความสูง 5 ชั้น พื้นที่ 55,000 ตารางเมตร และอาคารสำนักงานอัมรินทร์ทาวเวอร์ ความสูง 22 ชั้น พื้นที่ 21,000 ตารางเมตร[8] โดยมีผู้เช่าหลัก เช่น วิลล่า มาร์เก็ท, อีฟแอนด์บอย, เรณู[11], คอปเปอร์ บียอนด์ บุฟเฟต์[12], จัสต์โค[13] และศูนย์อาหารเดอะ คุก แอท อัมรินทร์[14][15] เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ "แอลวี เดอะ เพลส แบงค็อก" สาขารูปแบบพิเศษของหลุยส์ วิตตอง แห่งแรกของโลก ซึ่งประกอบด้วยร้านค้า, นิทรรศการ "วิชันนารี เจอร์นีส์", เลอ คาเฟ่, และร้านอาหาร เปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[16][17][18]

นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของศาลท้าวอัมรินทราธิราชอีกด้วย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "THE "BLOOMING LEGACIES" OF GAYSORN VILLAGE งานที่ขนทัพ Celebrities และศิลปินแนวหน้าของไทยมาแบบจัดเต็ม". BKKMENU.
  2. "อิสระ ว่องกุศลกิจ ทางสีเขียวแห่ง "มิตรผล" ความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง - Forbes Thailand". forbesthailand.com.
  3. "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (1)". The Momentum. 10 February 2017. สืบค้นเมื่อ 10 September 2021.
  4. 4.0 4.1 Chanowanna, Satanan (9 December 2015). "Arguments on the Postmodern Movement in Thai Architecture During the 1980s". EAU Heritage Journal Science and Technology (ภาษาอังกฤษ). 9 (3): 10–24. ISSN 2651-1738.
  5. Noobanjong, Koompong (2003). Power, identity, and the rise of modern architecture : from Siam to Thailand. Universal-Publishers. pp. 299, 309. ISBN 9781581122015.
  6. "First McDonald's opens in Bangkok – 75th Anniversary Bangkok Post". Bangkok Post.
  7. Khanthong, Thanong (10 July 2000). "Sogo to keep Bangkok presence". The Nation. สืบค้นเมื่อ 8 September 2021.
  8. 8.0 8.1 Jitpleecheep, Pitsinee (13 September 2017). "Gaysorn Village set to open". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 September 2021.
  9. Katharangsiporn, Kanana (22 April 2023). "Gaysorn sets out Bangkok expansion plans". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 October 2023.
  10. เอื้อศิริศักดิ์, ธนาดล (2024-02-21). "จากตำนานเสาโรมันของ อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สู่ยุคใหม่ที่ไม่เหมือนใครของ Gaysorn Amarin". The Cloud.
  11. "เกษรวิลเลจเผยตำนานบทใหม่ของ Gaysorn Amarin อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้คอนเซปต์ Blooming Legacies พร้อมเปิดตัว Raynue เล้าจ์แห่งใหม่ของย่านราชประสงค์ propholic.com". 2024-03-22.
  12. "Copper Beyond Buffet Gaysorn Amarin ที่สุดของพรีเมียมบุฟเฟต์ กับสาขาใหม่สุดหรูใจกลางเมือง". Hungry Hub Blog. 2024-03-22.
  13. "จัสโค เดินหน้าขยายโคเวิร์กกิ้งสเปซสาขาทื่ 4 ที่อาคารอัมรินทร์พลาซ่า". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-06-11.
  14. Luekens, David (23 March 2017). "Siam Square". Travelfish. สืบค้นเมื่อ 10 September 2021.
  15. "Amarin Plaza Bangkok". Hotels.com. สืบค้นเมื่อ 10 September 2021.
  16. "Louis Vuitton is opening its first 'Le Cafe V' in Thailand with Gaggan Anand this March". Lifestyle Asia Bangkok (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-02-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-02-09. สืบค้นเมื่อ 2024-03-04.
  17. LV The Place Bangkok
  18. "เปิดแล้ว! 'LV The Place Bangkok' แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ จาก Louis Vuitton". VOGUE Thailand (ภาษาอังกฤษ). 2024-02-28.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]