ข้ามไปเนื้อหา

ศุภลักษณ์ อัมพุช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุภลักษณ์ อัมพุช
เกิดมกราคม พ.ศ. 2498 (68 ปี)
อาชีพนักธุรกิจ
บิดามารดาศุภชัย อัมพุช
บุญเลี้ยง อัมพุช

ศุภลักษณ์ อัมพุช (ชื่อเล่น แอ๊ว, เกิด พ.ศ. 2498) ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารกลุ่มเดอะมอลล์ จากข้อมูลของนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับภาษาไทย ในปี พ.ศ. 2566 ศุภลักษณ์เป็นเศรษฐินีที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 69,420 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 15 ของไทย

ประวัติ

[แก้]

ศุภลักษณ์ อัมพุช เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายศุภชัยและนางบุญเลี้ยง (สกุลเดิม กันเขตต์) มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่เธอยังเด็ก

ศุภลักษณ์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเพอร์ดู สหรัฐ[1] กลับมาเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงการเป็นผู้แทนขายยา บริษัท แอตแลนติก จำกัด ก่อนตัดสินใจมาช่วงทำงานต่อจากคุณพ่อ นายศุภชัย ผู้ก่อตั้งกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งขณะนั้นกำลังทำโครงการเดอะมอลล์ ราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2524 แต่ก็ประสบกับภาวะขาดทุนทำให้ต้องปิดสาขานี้ไปเมื่อ พ.ศ. 2531

เมื่อไม่สำเร็จจากโครงการในเมือง เดอะมอลล์เข้าหากลุ่มลูกค้าย่านชานเมืองแทน โดย พ.ศ. 2532 จากพื้นที่สวนมะพร้าวย่านฝั่งธนบุรีถูกพัฒนาเป็นเดอะมอลล์ ท่าพระ ต่อมา พ.ศ. 2534 เปิดเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พ.ศ. 2537 เปิดตัวพร้อมกันทั้งสาขาบางแคและเดอะมอลล์ 8 สาขาบางกะปิ จากนั้นได้จับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยการเปิดโครงการเอ็มโพเรียม ร่วมกับกลุ่มโสภณพนิช เมื่อ พ.ศ. 2540 แม้จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่รายได้ของดิเอ็มโพเรียมในปีแรกก็ทำได้ดี ภายหลังได้มีโครงการ ดิ เอ็มดิสทริค ประกอบไปด้วย 3 ศูนย์การค้าหลัก คือ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์[2] จนกระทั่งเปิดสยามพารากอนจากการร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์ เธอรับบทบาทเป็นกำลังหลักในการสร้างสยามพารากอนให้เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพ[3]

ด้านตำแหน่งการทำงาน ศุภลักษณ์เริ่มทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายการค้า บริษัท เดอะมอลล์ ดีพาร์ท เม้นท์สโตร์ จำกัด ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม ช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ จำกัด และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด[4]

พ.ศ. 2564 ศุภลักษณ์ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส เชอวาลีเยเลฌียงดอเนอร์ ชั้นอัศวิน (Chevalier de la Légion d'Honneur) เพื่อยกย่องและเชิดชูบุคคลที่มีผลงานโดดเด่น ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟชั่นแบรนด์หรูของฝรั่งเศสในประเทศไทย[5] จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2566 ศุภลักษณ์เป็นเศรษฐินีที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 69,420 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 15 ของไทย จากนิตยสาร ฟอบส์

รางวัล

[แก้]
  • World Retail Hall of Fame 2024[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธาน กรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป". ประชาชาติธุรกิจ.
  2. "ย้อนอดีต พลิกอนาคตเดอะมอลล์กรุ๊ป เมื่อ M จะ Transformation เล็กๆ ทำไม่เป็น". marketeeronline.
  3. "ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้หญิงที่กล้าได้กล้าเสีย". positioningmag.
  4. "ศุภลักษณ์ อัมพุช นางสิงห์เหล็ก ค้าปลีก". positioningmag.
  5. ""ศุภลักษณ์ อัมพุช" ปลื้มใจ ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศส". ไทยรัฐ.
  6. ""ศุภลักษณ์ อัมพุช" เจ้าของฉายาราชินีค้าปลีกไทย แห่ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป คว้ารางวัล World Retail Hall of Fame จาก สภาค้าปลีกโลก - Brand Buffet" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-04-30.