ศึกสงบ (มิเล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศึกสงบ (มิเลส์))
ศึกสงบ
ศิลปินจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
ปีค.ศ. 1856
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่สถาบันศิลปะมินนีแอโพลิส, มินนีแอโพลิส
“ความตายของเมเจอร์เพียร์สัน” โดย จอห์น ซิงเกิลตัน โคพลีย์

ศึกสงบ, 1856 (อังกฤษ: Peace Concluded) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษ ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะมินนีแอโพลิสในสหรัฐอเมริกา

“ศึกสงบ” เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1856 เป็นภาพของทหารอังกฤษที่บาดเจ็บกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ “The Times” ที่รายงานการยุติของสงครามไครเมีย (Crimean war) “ศึกสงบ” ตั้งแสดงครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1856 ที่ไดัรับการต้อนรับจากนักวิจารณ์ทั้งดีและไม่ดี จอห์น รัสคินสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยถึงกับประกาศว่าในอนาคตจะเป็นงาน “หนึ่งในงานชิ้นเอกของโลก”[1] สตรีในภาพที่นั่งข้างสามีคือเอฟฟี (Effie Gray) ภรรยาของมิเล ผู้ก่อนหน้านั้นเป็นภรรยาของรัสคินแต่ทิ้งรัสคินมาแต่งงานกับมิเล

หัวเรื่อง[แก้]

มีหลักฐานว่าเดิมมิเลตั้งใจจะเขียนภาพเสียดสีที่โจมตีนายทหารสัญบัตรที่ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านเพราะมี “ปัญหาด่วนส่วนตัว” ทางบ้าน ขณะที่ทหารธรรมดาคนอื่น ๆ ต้องทนกับความลำบากลำบนในไครเมีย เมื่อสงครามสงบการเสียดสีก็หมดความหมาย มิเลจึงเปลี่ยนหัวเรื่องเป็นทหารบาดเจ็บที่กำลังรักษาตัวที่บ้านขณะที่สงครามยุติลง[2]

นายทหารนั่งอยู่บนโซฟาโดยมีภรรยานั่งบนตัก ด้านหลังของภรรยาเป็นพุ่มต้นเมอร์เติล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักอันยาวนาน นายทหารวางหนังสือ “ผู้มาใหม่” (The Newcomes) โดยวิลเลียม เมกพีซ แทกเคอรีย์ (William Makepeace Thackeray) เล่มสีเหลืองไว้ข้างหลังศีรษะเพื่อจะอ่านหนังสือพิมพ์

ลูกสองคนเล่นกล่องไม้ที่เป็นเรือโนอาห์ซึ่งเป็นเกมที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น เกมมีสัตว์หลายอย่างที่ลูกวางไว้บนตักแม่ สัตว์แต่ละอย่างเป็นสัญลักษณ์ของคู่ต่อสู้ในสงครามไครเมีย ไก่เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ หมีเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซีย และไก่งวง (turkey=Turkey) เป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิออตโตมัน เด็กผู้หญิงทางซ้ายเพิ่งหยิบนกพิลาปที่เป็นสัญลักษณ์ความสงบออกจากกล่องมายื่นไปทางพ่อแม่[3] เสื้อสีแดงก่ำที่ห้อยแผ่ลงมาบนพื้นเป็นนัยถึงเลือด เด็กหญิงทางขวาถือเหรียญกล้าหาญของพ่อและมองไปทางพ่อด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม

ในฉากหลังเป็นภาพพิมพ์ของภาพเขียน “ความตายของเมเจอร์เพียร์สัน” โดย จอห์น ซิงเกิลตัน โคพลีย์ ที่เป็นภาพของความตายของนายทหารอังกฤษระหว่างการป้องกันเจอร์ซีย์ (บ้านของครอบครัวของมิเล) ระหว่างยุทธการเจอร์ซีย์ (Battle of Jersey) ในปี ค.ศ. 1781

ปฏิกิริยาต่อภาพเขียน[แก้]

การสรรเสริญอย่างใหญ่หลวงของรัสคินเน้นความสามารถในการใช้สีที่เพิ่มมากขึ้นของมิเลที่รัสคินเปรียบเทียบกับการใช้สีของทิเชียน แต่นักวิจารณ์ผู้อื่นไม่ประทับใจเท่ารัสคิน ผู้ที่ต่อต้านศิลปะกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลกล่าวว่า “เสื้อโค้ต, หมวก, กางเกง” ดูจะมีชีวิตจิตใจกว่าคนในภาพ[4] เพื่อนร่วมกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลบางคนของมิเลก็ไม่ชอบภาพเขียนนี้[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Ruskin, John, Academy Notes, 1856, Cook and Wedderburn, Ruskin: Complete Writings, vol 14, pp.56-7
  2. Hancher, M. (1991), "'Urgent Private Affairs': Millais’s 'Peace Concluded, 1856'", Burlington Magazine, vol. 133, Aug., p. 499.
  3. World Myths and Legends in Art; Minneapolis Institute of Arts
  4. Young, E. (1857), Pre-Raffaelitism, or a Popular Enquiry into Some Newly Asserted Principles Connected with the Philosophy, Poetry, Religion and Revolution of Art London, p. 240
  5. "Peace Concluded by Millais: An Important Pre-Raphaelite Painting", The Minneapolis Institute of Arts Bulletin เก็บถาวร 2007-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.

ดูเพิ่ม[แก้]