ศาสนาพุทธแบบทิเบต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศาสนาพุทธในทิเบต)

ศาสนาพุทธแบบทิเบต[1] (อังกฤษ: Tibetan Buddhism) คือศาสนาพุทธแบบหนึ่งซึ่งถือปฏิบัติในทิเบต และปัจจุบันได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ

ดินแดนทิเบตในอดีตมีความรุ่งเรืองทางศาสนาพุทธมาก ศาสนาพุทธแบบทิเบตมีเอกลักษณ์เฉพาะคือเป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธนิกายมหายานทั้งจากอินเดียและจีน ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น ประชาชนใฝ่ธรรมะ เมื่อมีงานบุญ ประชาชนจะเดินทางไปแสวงบุญแม้จะไกลสักเพียงใด ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่เมื่อตกอยู่ในการปกครองของจีนวัดนับพันแห่งทั่วนครลาซา เหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแห่งในปัจจุบัน จนแทบไม่เหลือความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

ลักษณะเฉพาะ[แก้]

พุทธศาสนาแบบทิเบตจะมีการศึกษาแบ่งเป็น 3 ระดับ[1] คือระดับต้นจะศึกษาเถรวาท ระดับกลางศึกษามหายาน และระดับสูงศึกษาวัชรยานและมนตรยาน ภิกษุถือปาติโมกข์ตามนิกายมูลสรวาสติวาท มีสิกขาบท 253 ข้อ มีความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าต่างจากนิกายเถรวาทคือ นับถือพระธยานิพุทธะ 5 พระองค์ ได้แก่ พระไวโรจนพุทธะ พระอักโษภยพุทธะ พระอมิตาภพุทธะ พระอโมฆสิทธิพุทธะ และพระรัตนสัมภวพุทธะ นอกจากนี้ยังนับถือพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์และพระชายาคือพระนางตารา พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ เป็นต้น

ลักษณะเด่นอื่น ๆ ของพุทธศาสนาแบบทิเบตได้แก่ ลามะ ตรรกวิภาษ และการปฏิบัติแบบตันตระ

ลามะ[แก้]

คำว่าลามะหมายถึงอาจารย์ ในการปฏิบัติธรรมในทิเบต ให้ความสำคัญกับอาจารย์มาก โดยความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์มีผลต่อความสำเร็จของศิษย์ในการปฏิบัติตามสายตันตระ โดยถือว่าลามะเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ โดยเมื่อกล่าวสรณคมน์ ศิษย์จะระลึกถึงลามะเป็นที่พึ่งด้วย

วิภาษวิธี[แก้]

เป็นการโต้วาทีทางธรรมโดยใช้หลักตรรกะ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนาดีขึ้น ขจัดความเห็นผิด วิธีการของตรรกวิภาษจะประกอบด้วยผู้ถามและผู้ตอบ ก่อนเริ่มต้นทั้ง 2 ฝ่ายจะสวดมนต์บูชาพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ที่ถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญาจากนั้นจึงเริ่มถามตอบ

การปฏิบัติแบบตันตระ[แก้]

บทความหลัก: พุทธศาสนาลัทธิตันตระ

เป็นการฝึกจิตเพื่อให้จิตอยู่ในสภาวะประภัสสร เพื่อเข้าถึงสุญตาการปฏิบัติตามแบบตันตระแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ

  • กริยาตันตระ ให้ความสำคัญกับท่ามุทราต่าง ๆ และการท่องมนต์
  • จรรยาตันตระ ให้ความสำคัญกับท่าทางไปพร้อม ๆ กับการฝึกจิต เน้นการทำสมาธิ เข้าเงียบ
  • โยคะตันตระ เน้นการฝึกภายในมากกว่าท่าทางภายนอก
  • อนุตรโยคะตันตระ เน้นการฝึกจิตภายในอย่างเดียว เพื่อเข้าถึงรากฐานของจิตประภัสสร โดยขับพลังหยาบของจิตออกไป ซึ่งจะทำให้เข้าถึงสุญญตาในที่สุด

ประวัติ[แก้]

ยุคเริ่มต้น[แก้]

ใน พ.ศ. 976 พระเจ้าลาโทโทรีแญ็นแจ็น (ทิเบต: ལྷ་ཐོ་ཐོ་རི་གཉན་བཙན་, ไวลี: lha tho tho ri gnyan btsan, พินอินทิเบต: lhato tori nyänzän) เป็นกษัตริย์ทิเบตองค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รับเครื่องบรรณาการจากตัวแทนชาวอินเดีย โดยนำคัมภีร์พระพุทธศาสนา และพระพุทธรูปเข้ามาในทิเบต ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คนทิเบตได้รู้จักกับพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก เพราะชาวทิเบตยังนับถือลัทธิบอนซึ่งมีความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจอยู่มาก ชาวทิเบตเป็นชนชาติที่ชอบสงคราม ไม่มีอารยธรรมชั้นสูงเหมือนชนชาวเขาทั่วไป แต่ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาจึงทำให้ทิเบตกลายเป็นผู้ใฝ่สันติสุข และเป็นชาวเขาที่มีอารยธรรมสูงส่งจนถึงมีอักขระพิเศษเพื่อพระศาสนา โดยนำแบบอย่างมาจากอักษรอินเดีย จากนั้นมาพระพุทธศาสนาจากอินเดียก็เข้าถึงทิเบตครั้งแรกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 และประดิษฐานมั่นคงในพุทธศตวรรษที่ 16

ยุคประวัติศาสตร์[แก้]

ใน พ.ศ. 1173 ถือว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของทิเบต พระเจ้าซงแจ็นกัมโป สนับสนุนให้มีการศึกษาพุทธศาสนาจากคัมภีร์ที่นำเข้ามาตั้งแต่ยุคต้น (พ.ศ. 976) พร้อมดำเนินการปฏิรูปศรัทธาทิเบต ต่อมาประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยการสนับสนุนของพระมเหสี 2 พระองค์ คือพระนางเหวินเฉิง พระธิดาของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งจีน และพระนางภริคุติเทวี พระธิดาของพระเจ้าอัมสุวารมาแห่งเนปาล ทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามหายานอย่างเคร่งครัด จึงได้นำพระพุทธรูปมาด้วยทั้งสองพระองค์ คือเจ้าหญิงเหวินเฉิง นำพระพุทธรูปชื่อโจโว มาประดิษฐานที่วัดซิลลากัง ในกรุงลาซา และเจ้าหญิงภริคุติเทวีได้นำพระพุทธรูปศากยมุนีที่สำคัญมาประดิษฐานที่วัดราโมเช ซึ่งเป็นวัดหลวง และมีความสำคัญรองเป็นอันดับสองในกรุงลาซา ช่วงนี้ได้มีชาวทิเบตเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในจีน และพระภิกษุชาวจีนก็มาศึกษาในทิเบตเพื่อแปลพระคัมภีร์และพระสูตรจำนวนมาก

ในยุคนี้พระเจ้าซงแจ็นกัมโปได้ทรงส่งทูตชื่อ เทินมี สัมโภฏะ ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แล้วกลับทิเบต ท่านได้เริ่มงานประดิษฐ์อักษร และเขียนไวยากรณ์สอนชาวทิเบต โดยใช้อักษรพราหมี ที่นิยมใช้กันในกัศมีร์ (แคชเมียร์) และดำเนินงานเผยแผ่พุทธศาสนาทำให้ประชาชนเลื่อมใส นับว่าพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการทำให้ชาวทิเบตมีวัฒนธรรมด้านภาษา แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะได้รับความต้านทานจากความเชื่อเดิม การที่ภาษาทิเบตที่มีรากฐานมาจากอินเดียทำให้รักษาความหมายในการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาสันสกฤตเป็นทิเบตได้ดี หากต้นฉบับสันสกฤตสูญหาย ก็ใช้ต้นฉบับของทิเบตเทียบเคียงของเดิมได้ดีที่สุด

คุรุรินโปเชเผยแผ่หลักธรรม[แก้]

พระปัทมสัมภวะ หรือคุรุรินโปเช ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่กว้างขวางในหมู่ชนชาวทิเบต

ใน พ.ศ. 1298 - 1340 กษัตริย์องค์ที่ 5 นับจากพระเจ้าซงแจ็นกัมโปได้ไปอาราธนา พระศานตรักษิต ที่เคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาเผยแผ่หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากท่านสอนแต่หลักธรรม แต่ไม่สอนเวทมนตร์คาถา แต่ชาวทิเบต มีความเชื่อเรื่องอำนาจภูติผีของลัทธิบอน และขณะนั้นเกิดโรคระบาด และภัยธรรมชาติ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าท่านนำเหตุการณ์นี้มาด้วย

พระศานตรักษิตได้กลับไปอินเดีย แล้วอาราธนาพระปัทมสัมภวะ พระราชโอรสของพระเจ้าอินทรภูมิ แห่งแคว้นอุทยานซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ให้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิตันตระซึ่งถูกกับอัธยาศัยของประชาชน ท่านมีความชำนาญในเรื่องไสยศาสตร์สามารถปราบปีศาจ และทำให้ภูติผีปีศาจกลับมาสนับสนุนปกป้องพระพุทธศาสนาด้วย เหตุการณ์จึงสงบประชาชนฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายราชสำนักก็ยอมรับนับถือท่านว่าเป็น คุรุรินโปเช คือพระอาจารย์ใหญ่ของพวกเขา ท่านปัทมสัมภวะได้สร้างวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกของทิเบตในนาม วัดสัมเย ตามความเชื่อของอินเดียที่มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง มีอารามอยู่ 4 ทิศ และมีอารามด้านนอกอีกแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ของทีปในจักรวาล มีอีกวัดทางตะวันออก และตะวันตกเฉียงเหนือเป็นสัญลักษณ์พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ในวัดนี้มีห้องสมุด ห้องนั่งสมาธิโดยอาจารย์สอนสมาธิจากจีน

พุทธศาสนาลัทธิตันตระ เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 มีชื่อกำหนดแยกจำเพาะออกไปว่านิกายญิงมา ต่อมาพระศานตรักษิต ได้กลับทิเบตเพื่อปฏิบัติศาสนกิจอีกครั้งจนมรณภาพที่นั่น ท่านได้แปลพระคัมภีร์ และเป็นอุปัชฌาย์บวชให้แก่ชายหนุ่มทิเบต 5 คน เพื่อวางรากฐานการบวชสายทิเบต ตามพระราชดำริขอพระเจ้าตริสองเดซัน อุปสมบทกรรมที่นั่นมีพระนิกายสรวาทสติวาทร่วมด้วย 12 รูป พระภิกษุ 5 รูป ที่ได้รับการอุปสมบทนั้นได้เผยแผ่หลักธรรมประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าอุปัชฌาย์ คือท่านศานตรักษิตเป็นอนุรักษนิยม และมีพระนิกายสรวาทที่มีหลักธรรมเหมือนกับเถรวาทมากที่สุดในบรรดาที่ใช้คัมภีร์ภาษาสันสกฤต จึงทำให้มีปัญญาชนที่สนใจหลักคำสอนอันบริสุทธิ์ไม่เจือไสยศาสตร์เข้ามาบวชถึง 300 คน

การร่ายรำชุดดำ[แก้]

พุทธศาสนาในยุคนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทิเบตเป็นอย่างดี บางองค์เป็นนักปราชญ์รอบรู้พุทธธรรมลึกซึ้ง คือ พระเจ้าเสนาเล ซึ่งทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุ ใน พ.ศ. 1357 ได้มีการทำพจนานุกรมภาษาสันสกฤต-ทิเบต และในรัชสมัยของพระเจ้าราลปาเชน (พ.ศ. 1359) มีการเขียนประวัติศาสตร์ทิเบตเป็นฉบับแรก กษัตริย์พระองค์นี้มีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ พระสงฆ์ได้รับสิทธิพิเศษเป็นราชครู มีพระรูปหนึ่งมีผู้ถวายอาหารเจ็ดครอบครัว มีการลงโทษผู้ที่ไม่เคารพพระสงฆ์ สุดท้ายมีการลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพระองค์ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางการบริหาร หรือสนับสนุนพุทธศาสนาเกินไป จากนั้น พระเจ้าลางทรมาที่ทรงถือลัทธิบอนก็ครองราชย์ พระองค์ทรงตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อพุทธศาสนาอยู่หลายปี ได้ทำลายวัดวาอารามที่สำคัญสองแห่งในนครลาซา กำจัดพระสงฆ์โดยให้ลาสิกขา ต่อมามีพระสงฆ์แต่งตัวด้วยชุดดำ ทาม้าสีดำ สวมหมวกสีดำเข้ามาปะปนกับประชาชน ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลางทรมาสำเร็จ เป็นที่มาของฉากร่ายรำของพระทิเบตเรียกว่า การร่ายรำชุดหมวกดำ ถือว่าสิ้นสุดการทำลายล้างพุทธศาสนา คราวนี้พระสงฆ์ที่หนีภัยกลับทิเบตมีอำนาจเข้มแข็งกว่าเดิม

พระทีปังกรศรีชญาณ (อตีศะ)[แก้]

ใน พ.ศ. 1600 ถือว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ทิเบตโดยตรง ประดิษฐานมั่นคง เป็นศาสนาประจำชาติครั้งใหญ่สุดท้าย และมีนิกายแตกแยกออกไปมาก โดยมีพระทีปังกรศรีชญาณ หรือ พระอติศะจากมหาวิทยาลัยวิกรมศาลาในแคว้นพิหาร ได้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต ชาวทิเบตจึงนับถือพระอตีศะรองจากพระปัทมสัมภวะ โดยมีชื่อเรียกว่า "โจโวเจ" ซึ่งมีความหมายว่า ท่านอาจารย์ที่เคารพ คำสอนของท่านเป็นแบบโยคาจารที่ผสมผสานกันระหว่างมหายาน และหินยาน บังคับให้พระสงฆ์ถือพรหมจรรย์ และไม่สนับสนุนไสยศาสตร์

กำเนิดนิกายเกลุก[แก้]

พระสองขะปะ ผู้ชำระพุทธธรรมเป็นพระไตรปิฎกฉบับทิเบตที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นปลายยุคนี้ ท่านสองขะปะ (พ.ศ. 1918) ซึ่งเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ได้อาศัยหลักคำสอนนี้แล้วตั้งนิกาย "นิกายเกลุก หรือเกลุกปะ หรือหมวกเหลือง" ขึ้น นิกายนี้องค์ดาไลลามะปัจจุบันสังกัดอยู่ และมีอิทธิพลในภาคกลางของทิเบต ท่านได้ชำระหลักพุทธธรรมให้บริสุทธิ์จากลัทธิพิธีต่าง ๆ มีการรวบรวมคัมภีร์ที่ได้แปลแล้วนั้นออกเป็น 2 หมวด คือ พุทธพจน์ 100 เล่ม และอรรถกถา 225 เล่ม คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่าพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนาฉบับทิเบต ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ยุคมองโกล[แก้]

ใน พ.ศ. 2089 - 2130 มีกษัตริย์มองโกลนามว่า อัลตัลข่าน ได้พบกับประมุขสงฆ์ของนิกายเกลุกที่ชื่อว่า สอดนัมยาโส แล้วเลื่อมใส เนื่องจากท่านสืบเชื้อสายมาจากนิกายสักยะ และพักโมดรุ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในทิเบต มีการดัดแปลงวัดที่นิกายอื่นอ่อนแอในการปกครอง และทิ้งให้ร้างให้เป็นวัดนิกายเกลุก (หมวกเหลือง) นิกายนี้เรียบง่าย เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ชาวบ้านจึงนิยมมาก อีกอย่างหนึ่งกษัตริย์มองโกลทรงเชื่อว่าประมุขสงฆ์นี้เคยเป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อน เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงถวายตำแหน่ง "ทะเล" แต่ทิเบตออกเสียงเป็น "ทะไล" (Dalai) ในความหมายของไทยก็คือทะเลเช่นกัน (คำว่าทะไลลามะ "ทะไล" เป็นภาษามองโกลแปลว่า ทะเล หรือ กว้างใหญ่ "ลามะ" หมายถึง พระหรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ชาวทิเบตนิยมใช้คำว่า "คยาวา ริมโปเช" คือ ชัยรัตนะ) นับว่าเป็นต้นกำเนิดทะไลลามะครั้งแรก และท่านสอดนัมวังยาโสก็ได้ถวายตำแหน่ง "ธรรมราชาทรงความบริสุทธิ์" แก่อัลตันข่านเป็นการตอบแทน ท่านสอดนัมวังยาโสถือว่าตนเองเป็นทะไลลามะองค์ที่ 3 เพราะท่านได้ถวายตำแหน่งย้อนขึ้นไปแก่อวตารในสองชาติแรกของท่านด้วย ในขณะที่ท่านมีพระชนม์ชีพท่านได้สร้างวัดพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ ได้เผยแผ่พระศาสนาสู่มองโกเลีย และทิเบตตะวันออกซึ่งเคยเป็นดินแดนอิทธิพลของลัทธิบอน จนท่านได้ตำแหน่งพิเศษจากราชวงศ์หมิงของจีน ถึงยุคทะไลลามะองค์ที่ 4 นิกายหมวกเหลืองก็ยังเจริญรุ่งเรืองเพราะมีทหารมองโกลหนุนหลังอยู่

ยุคทะไลลามะครองอำนาจ[แก้]

ในยุคของโลซัง กยัตโส ทะไลลามะองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2158 - 2223) ชาวมองโกลในทิเบตไม่มีเอกภาพ ทำให้เจ้าเมืองซังอัน ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของทิเบตชิงบัลลังก์ลาซาไปได้ ทะไลลามะองค์นี้ซึ่งมีมองโกลสนับสนุน จึงขอความช่วยเหลือไปยัง กุชรีข่าน ผู้นำมองโกลให้มายึดอำนาจคืนสำเร็จ และมอบอำนาจการปกครองทิเบตทั้งหมด คือฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรให้แก่ทะไลลามะ และเป็นครั้งแรกที่ทะไลลามะได้อำนาจสูงสุดทั้งหมด จากนั้นท่านก็ได้ย้ายที่ประทับที่พระราชวังโปตาลา นครลาซา ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรพระโพธิสัตว์ผู้กรุณา และเชื่อว่าปันเชนลามะ ผู้มีอำนาจรองจากทะไลลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภะ แต่ทะไลลามะนั่งสมาธิแบบเนียงมา พลอยทำให้นิกายเนียงมาเจริญไปด้วย แต่นิกายโจนังหลังจากท่านตารนาถ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงแล้วถูกยึดวัดทั้งหมด ถือว่านิกายเกลุกพัฒนารุ่งเรืองตามคำสอนของพระนาคารชุนะ พระอสังคะ เป็นต้น แม้ลัทธิบอนก็ยังนำไปพัฒนาตนเองของตนเอง จนทะไลลามะสวรรคต ชาวทิเบตจึงถวายพระนามว่า "มหาปัญจะ" เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้วยังมีผู้อ้างว่าทะไลลามะเสด็จเข้าสมาธิระยะยาว แล้วสำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยปิดข่าวการสวรรคตนานถึง 13 ปี เพื่องานฟื้นฟูวังโปตาลาต่อไป จากนั้นมีการแต่งตั้งทะไลลามะองค์ที่ 6 แต่พระองค์โปรดการแต่งกวี และสนใจผู้หญิง ไม่สนใจบริหารประเทศ จึงถูกเนรเทศไปจีนแต่สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

จีนคอมมิวนิสต์ยึดทิเบต[แก้]

จนถึง พ.ศ. 2351 - 2401 คาลซังกยัตโส ได้ขึ้นเป็นทะไลลามะองค์ที่ 7 โดยการสนับสนุนของราชวงศ์ชิงของจีน ซึ่งจีนเคยมีบทบาทต่อตำแหน่งปันเชนลามะ หรือ บัณฑิตเซ็นโป แปลว่านักวิชาการใหญ่ จากนั้นมีสงครามกลางเมือง ฝ่ายทะไลลามะแพ้ต้องหนีภัยจากเมือง ทำให้นิกายเกลุกอับอายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากนั้นมามีผู้สำเร็จราชการเป็นลามะเกลุก มีรัฐมนตรีเป็นลามะและฆราวาสด้วย ทะไลลามะอีก 4 พระองค์ต่อมาก็มีพระชนม์สั้นทั้งหมด บางองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ จนถึง องค์ทะไลลามะองค์ที่ 13 เข้ามาบริหารประเทศ ทรงหลีกเลี่ยงติดต่อกับอังกฤษ โดยอาศัยจีนติดต่อกับรัสเซีย จนมีความผันผวนทางการเมือง องค์ทะไลลามะจึงลี้ภัยไปจีน เมื่อจีนรุกรานก็ลี้ภัยไปอินเดีย เมื่อจีนปฏิวัติท่านก็กลับทิเบต แล้วมีความสัมพันธ์กับอังกฤษ จากนั้นเหล่ามิชชันนารีชาวคริสต์เข้าไป ความสัมพันธ์กับอินเดียค่อย ๆ เลือนลางไป พระสงฆ์จากที่เคยมาจากอินเดียก็เสื่อมไปต่อมาทิเบตก็ปิดประเทศโดดเดี่ยว พอใจกับอำนาจที่นิกายเกลุกดำรงอยู่ติดต่อกันจนสวรรคตในปี พ.ศ. 2476 ก็มีผู้สำเร็จราชการปกครองประเทศ สิบแปดปีต่อมาจีนแดงยึดทิเบต ภิกษุลดลงอย่างมาก เนื่องจากจีนให้ลงทะเบียน ตามรายงานของวัดเดรปังบอกว่า มีพระสงฆ์จำนวน 7,700-10,000 รูป เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลทิเบตสลายตัว มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาบริหาร โดยมีปันเชนลามะเป็นประมุข

ปัจจุบัน[แก้]

ทะไลลามะองค์ที่ 14 ท่านเทนซิน กยัตโส ได้ลี้ภัยไปที่ธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตที่นี่ ต่อมาก็เป็นศูนย์รวมใจชาวทิเบตในต่างแดน ชาวทิเบตในจีน ช่วงแรกทำถนนทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศ จนบางคนเป็นวัณโรค บาคนเป็นโรคทางเดินหายใจ ต่อมาก็มาค้าขายเสื้อผ้าที่อินเดีย และได้ขยายไปตั้งนิคมอยู่ที่รัฐมิโซรัม ประเทศอินเดีย ในยุคนี้มีการเผยแผ่พุทธศาสนาแบบทิเบตไปทั่วโลกทั้ง 4 นิกาย ได้แก่ นิกายเนียงมา นิกายกาจู นิกายสักยะ และนิกายเกลุก ในอเมริกา มีชาวพุทธทิเบตประมาณ 5 ล้านคนและส่วนใหญ่เป็นของนิกายหมวกเหลือง ทะไลลามะยังต่อสู้เพื่อเอกราชของตนโดนสันติวิธี พร้อมกับรักษาจิตวิญญาณของชาวพุทธไว้อย่างมั่งคง

ภิกษุณีปัลโม ภิกษุณีชาวอังกฤษที่เข้าบวชในนิกายกาจู ถือเป็นภิกษุณีสงฆ์องค์แรก ๆ นอกเขตทิเบต

ภิกษุณี[แก้]

ในทิเบตไม่เคยมีการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในประวัติศาสตร์ มีแต่พระภิกษุสงฆ์ หรือลามะ และสามเณรีเท่านั้น ดังที่ ปีเตอร์ สกีลลิง ผู้เชี่ยวชาญทิเบต และบาลีสันสกฤต ชี้แจงว่า "ในหิมาวันตประเทศ ได้มีภิกษุนิกายมูลสรวาทสติวาทินเข้ามาเผยแผ่หลักธรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (ประมาณ พ.ศ. 1300) แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าได้จัดพิธีอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์เลย" ทั้งนี้เพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์ การเดินทางไปทิเบตนั้นยากลำบากมากตามที่องค์ทะไลลามะกล่าวไว้ทำให้การบรรพชาอุปสมบทภิกษุณีที่ต้องมีปวัตตินี และกรรมวาจาจารย์ รวมทั้งภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์อีกฝ่ายละ 10 รูป ในการบวชภิกษุณีอย่างน้อยต้องมี 22 รูปขึ้นไป จึงจะทำพิธีอุปสมบทกรรมได้ แต่สามเณรีในทิเบตมีมานานแล้ว ทั้งมีระบบการศึกษาพุทธธรรมที่เข้มข้นอีกด้วย แม้องค์ดาไลลามะที่ 14 แห่งทิเบต ที่ลี้ภัยในอินเดียในปัจจุบัน ยังได้กล่าวไว้ในคราวประชุมศากยธิดา สมาคมสตรีของชาวพุทธนานาชาติครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย "เนื่องจากการเดินทางในอดีตลำบากมากภิกษุณีจึงไม่สามารถเดิมทางไปทิเบตได้ และเพราะไม่มีภิกษุณีวงศ์ในทิเบต พระสงฆ์ทิเบตจึงไม่ต้องอาบัติข้อที่เกี่ยวกับภิกษุณีตลอดไป นี้ถือว่าเป็นอานิสงส์ที่เราได้จากการไม่มีภิกษุณีในทิเบต" แต่นอกเขตทิเบตอย่างประเทศเนปาล, ภูฏาน และบางส่วนของอินเดีย มีการบวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ในศาสนาพุทธแบบทิเบตด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 587-8
  • ส.ศิวรักษ์ (แปล),ของดีจากทิเบต, (กรุงเทพฯ:สองสยามจำกัด,2544),หน้า 8
  • Skilling Peter, A Note on the History the Bhikkuni-Sangha (Pali & SanskritStudies Mahamakut Centennary Commemorative Volume,(Bangkok:Mahamakuta,2536),p 223
  • Daugthers of the Buddha,Edit.by Karma Lekshe Tsomo,Opening Speech of His Holineess the Dalai Lama,(New York:Snow Lion Publications,1988),p 44
  • ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, พระพุทธศาสนาแบบธิเบต,(กรุงเทพฯ:ศูนย์ไทยธิเบต,2538),หน้า 17 หน้า 49-77
  • yashe De Project,Ancient Tibet,(U.S.A.:Dhamma Publishing),pp. 265-266
  • Bapat,P.V..,2500 Year of Buddism,p.93
  • Rockhill,W.W.,The Dalai Lama of Lhasa,(Leizing,1958)p.8