ข้ามไปเนื้อหา

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

พิกัด: 13°45′13″N 100°30′06″E / 13.75348728524569°N 100.50167045215373°E / 13.75348728524569; 100.50167045215373
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มุมมองจากลานคนเมือง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ที่อยู่173 ถนนดินสอ
ที่ตั้งแขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
พิกัด13°45′13″N 100°30′06″E / 13.75348728524569°N 100.50167045215373°E / 13.75348728524569; 100.50167045215373
เจ้าของตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
การออกแบบและการก่อสร้าง
ผู้ออกแบบผู้อื่นหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร

ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (อังกฤษ: Bangkok City Hall) เป็นศูนย์ราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการของกรุงเทพมหานครตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่ยังเป็นเทศบาลนครกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ทำการเฉพาะบางหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักงานปลัดฯ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการฯ สำนักงานข้าราชการฯ สำนักการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานผู้ตรวจราชการฯ และสำนักงานประชาสัมพันธ์[1] ด้านหน้าศาลาว่าการมีลานคนเมืองเป็นจัตุรัสของกรุงเทพฯ สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ คั่นระหว่างศาลาว่าการและเสาชิงช้า

ประวัติ

[แก้]

ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นวันเปิดดำเนินการวันแรกของเทศบาลนครกรุงเทพ ที่ว่าการแห่งแรกของเทศบาลเป็นการเช่าบ้านสุริยานุวัตร เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม ตำบลวัดโสมนัส อำเภอนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร จากคุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัตร ภรรยาของพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อดีตเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ[2] (ปัจจุบันอยู่ในแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และภายหลังจากเทศบาลนครย้ายที่ว่าการ กรมโลหกิจ (ต่อมาคือกรมทรัพยากรธรณี) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมาใช้อาคารนี้เป็นที่ทำการต่อตามลำดับ)[3]

ต่อมา พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรีคนถัดมาได้เสนอต่อรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ว่า เทศบาลต้องการมีสถานที่ทำงานของตนเอง รวมถึงพิจารณาแล้วเห็นว่าพื้นที่ตลาดเสาชิงช้าและตึกแถวโดยรอบมีความเหมาะสมและอยู่ในย่านพระนคร ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 เทศบาลจึงย้ายสำนักงานมาตั้งที่ตำบลเสาชิงช้า (ปัจจุบันคือแขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร) ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน แต่ในครั้งแรกเป็นการดัดแปลงตึกแถวเดิมเพื่อใช้ชั่วคราวก่อน และเนื่องจากที่ดินที่เป็นที่ตั้งของศาลาเทศบาลหลังใหม่ที่ต้องการจัดสร้างนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เทศบาลจึงเสนอรัฐบาลให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลผ่านคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงการคลังที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำหน่ายที่ดินดังกล่าวให้แก่เทศบาล และพระองค์มีพระบรมราชานุมัติ โดยทรงกำหนดราคาที่ดินไว้ที่ 300,000 บาท[2]

หลังจากนั้น พลเอก มังกร พรหมโยธี นายกเทศมนตรีคนถัดมา มอบหมายให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ที่เคยรับผิดชอบการบูรณะหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนหลัง, พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหน้าสวนลุมพินี เป็นผู้ออกแบบอาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยดำเนินการอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นจึงประกอบแบบจำลองอาคารเพื่อนำไปประกอบการขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลสมัยที่ 8 ของจอมพลแปลก และได้รับการอนุมัติงบก่อสร้าง จอมพลแปลกจึงเดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ต่อมามีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และกรุงเทพมหานคร อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน[2]

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแบบเต็มที่หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบไว้ในสมัยตั้งแต่ใช้เป็นอาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ตามแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม วางผังโดยเน้นเรื่องความสมมาตรเป็นสำคัญ[4] มีลักษณะที่สำคัญคือ

  1. มีห้องประชุมสภาเทศบาล (ปัจจุบันคือสภากรุงเทพมหานคร) แบบหลังคาสูงใหญ่
  2. มีสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงเอราวัณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่เทศบาลนครกรุงเทพจนถึงกรุงเทพมหานคร
  3. เป็นอาคาร 4 ชั้นเชื่อมกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลานกลางภายในและมีสนามทางด้านหน้า (ปัจจุบันคือลานคนเมือง) ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอในการปฏิบัติงานอย่างสะดวก จึงกั้นห้องเป็นที่ทำการและต่อหลังคาดาดฟ้าเพิ่มขึ้น
  4. มีหลังคาจั่วขนาดใหญ่คลุมพื้นที่บางส่วนของตัวอาคาร เพื่อแสดงถึงถึงเอกลักษณ์ไทย[4]
  5. มีหอนาฬิกาสูง 10 ชั้น สำหรับสังเกตการณ์เพื่อดูแลรักษาและตรวจตราบริเวณเช่นเดียวกับอาคารอื่น ๆ ที่มีความกว้างขวาง

แต่ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าควรดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นและเร่งด่วนก่อน จึงตัดลดงบประมาณการก่อสร้างอาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพลง ทำให้รูปแบบที่ได้สร้างจริงแตกต่างออกไปหลายส่วน โดยไม่มีการก่อสร้างหลังคาจั่วและหอนาฬิกาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการลงเสาเข็มสำหรับสร้างหออยู่ใต้ดินแล้วก็ตาม[2] อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบตกแต่งอีกหลายส่วนก็ยังได้รับการก่อสร้างต่อมา จนกลายเป็นศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่ปรากฏในปัจจุบัน[4]

การย้ายศาลาว่าการ

[แก้]

ต่อมาหลังจากมีโครงการก่อสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 บนถนนมิตรไมตรี ในพื้นที่แขวงดินแดง เขตดินแดง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และเปิดใช้งานบางส่วนในปี พ.ศ. 2560 โดยเริ่มมีหน่วยงานของกรุงเทพมหานครย้ายไปทำการที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการระบายน้ำ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว รวมถึงส่วนงานของสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด[1] ทั้งนี้ เนื่องจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 มีพื้นที่ใช้สอย 83 ไร่ มากกว่าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 ที่มีเพียง 10 ไร่ ในปี พ.ศ. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปัจจุบันจึงมีนโยบายย้ายหน่วยงานของกรุงเทพมหานครไปทำการที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยสมบูรณ์ ส่วนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 เดิมจะปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์คนเมืองที่รวบรวมเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครต่อไป รวมถึงเปิดลานคนเมืองให้เป็นจัตุรัสของเมืองอย่างเต็มรูปแบบ[5]

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ส่องแผนย้ายศาลาว่าการ กทม. จาก 'เสาชิงช้า' สู่ 'ดินแดง'". มติชน. 30 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2025.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ย้อนตำนาน 66 ปี ศาลาว่าการ กทม. "เสาชิงช้า" ก่อนโบกมือลา สู่ "ดินแดง"". กรุงเทพธุรกิจ. 27 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2025.
  3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กันยายน 2022). "บ้านโบราณสถาน.... ตำนานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย" (PDF). พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ (1 ed.). เผยแพร่เอง. p. 78. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2025 – โดยทาง ระบบชุมชนการเรียนรู้ทางออนไลน์.
  4. 4.0 4.1 4.2 ประกิตนนทการ, ชาตรี (21 กรกฎาคม 2022). "เมืองใหม่คณะราษฎร ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (5)". พื้นที่ระหว่างบรรทัด. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2025.
  5. "ทำไม "ชัชชาติ" เตรียม "ย้ายศาลาว่าการ กทม." จาก "เสาชิงช้า" ไป "ดินแดง" แบบ 100%". กรุงเทพธุรกิจ. 26 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2025.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′13″N 100°30′06″E / 13.75348728524569°N 100.50167045215373°E / 13.75348728524569; 100.50167045215373