ศาลาว่าการกรุงบรัสเซลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออแตลเดอวีลเดอบรูว์แซล
Hôtel de Ville de Bruxelles
ศาลาว่าการนครบรัสเซลส์
ตัวอาคารมองจากจัตุรัสบรัสเซลส์ (กร็อง-ปลัส)
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทศาลาว่าการ
สถาปัตยกรรมกอทิก
บาโรก
เมืองกร็อง-ปลัส
บรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม เบลเยียม
พิกัด50°50′48″N 4°21′07″E / 50.84667°N 4.35194°E / 50.84667; 4.35194
เริ่มสร้างค.ศ. 1401 - ค.ศ. 1717
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกยาโกบ ฟัน ตีเนิน
ฌ็อง บอร์นัว
ยัน ฟัน เรยส์บรุก
กอร์แนย์ วาน แนร์แวน

ศาลาว่าการกรุงบรัสเซลส์ หรือ ออแตลเดอวีลเดอบรูว์แซล (ฝรั่งเศส: Hôtel de Ville de Bruxelles; อังกฤษ: Brussels Town Hall) เป็นศาลาว่าการของนครบรัสเซลส์ โดยเป็นอาคารเพียงแห่งเดียวที่สร้างตั้งแต่สมัยยุคกลางในสถาปัตยกรรมกอทิก ที่ตั้งอยู่ที่ใจกลางส่วนประวัติศาสตร์ของนครบรัสเซลส์ คือ กร็อง-ปลัส (La Grande Place de Bruxelles)

ประวัติ[แก้]

ศาลาว่าการแห่งนี้ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งหมดสองส่วนสำคัญ ได้แก่

รายละเอียดของหน้าบันบริเวณเหนือซุ้มทางเข้า ประกอบด้วย (ซ้ายไปขวา); นักบุญเซบาสเตียน, นักบุญคริสโตเฟอร์, นักบุญมีคาเอล, นักบุญจอร์จ และนักบุญเฌรี

ส่วนสถาปัตยกรรมกอทิก[แก้]

ส่วนของอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้นถูกแบ่งเป็นสามช่วงหลักๆ คือ

บริเวณปีกซ้ายและบริเวณฐานของหอแขวนระฆังนั้นเริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1401 จนถึงค.ศ. 1421 โดยสร้างบนที่เดิมซึ่งเป็นที่พักของเทศมนตรี อำนวยการสร้างโดยสถาปนิกยาโกบ ฟัน ตีเนิน (ศิษย์เอกของฌ็อง ดัวซี สถาปนิกชาวแอโนผู้ริเริ่มสถาปัตยกรรมกอทิกแบบบราบันต์) และฌ็อง บอร์นัว สถาปนิกชาวฝรั่งเศส กับเค. ฟันเดอร์ บรุกเกอ[1]

บริเวณปีกขวาได้มีการวางศิลาฤกษ์โดยชาร์ลผู้อาจหาญ เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1444 จนถึงค.ศ.​1449 โดยเป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิก กีโยม เดอ วอแกล[1] ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นสถาปนิกเอกประจำนครบรัสเซลส์ในปี ค.ศ. 1452

บริเวณส่วนบนของอาคารรวมทั้งยอดแหลมของหอแขวนระฆังนั้นสร้างขึ้นโดยยัน ฟัน เรยส์บรุก สถาปนิกเอกประจำราชสำนักของฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี ในปี ค.ศ.1449 ถึงค.ศ. 1455[1]

ส่วนสถาปัตยกรรมบาโรก[แก้]

หลังจากการถูกถล่มโดยกองทัพฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1695 ได้สร้างความเสียหายมากมายให้กับตัวอาคาร และยังทำลายอาคารที่ตั้งอยู่ด้านหลัง คือ ตลาดผ้า หรือ "อาโลดรา" (Halle au Drap) ที่ตั้งอยู่ติดกันกับอาคารนี้ ซึ่งต่อมาจึงได้มีการบูรณะซ่อมแซม รวมทั้งขยายออกไปบริเวณด้านหลังอาคารที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของอาโลดรา ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวบรัสเซลส์ กอร์แนย์ วาน แนร์แวน ในแบบสถาปัตยกรรมบาโรก (แบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ในระหว่างปี ค.ศ. 1706 ถึงค.ศ. 1717[1] อาคารส่วนที่ต่อเติมมาด้านหลังนี้มิได้สร้างขึ้นในฐานะสถานที่ราชการของบรัสเซลส์ แต่ในฐานะของรัฐบราบันต์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1795

การบูรณะในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

อาคารศาลาว่าการแห่งนี้ได้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาหลายครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การควบคุมของสถาปนิกตีลมาน-ฟร็องซัว ซุย ตั้งแต่ปี ค.ศ.​ 1840 และวิกตอร์ ฌาแมร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860[2] เป็นต้นไป โดยได้มีการเฉลิมฉลองครบสองร้อยปีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1897[3] โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการต่อเติมรูปปั้นโดยรอบของอาคารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ศาลาว่าการแห่งนี้ไม่ได้ถูกตกแต่งประดับประดาโดยรอบอาคารด้วยรูปปั้นมากมาย มีเพียงแต่คันทวย รูปปั้นของผู้เผยพระวจนะทั้งแปด และรูปปั้นตกแต่งบริเวณป้อมมุมของอาคารเท่านั้น โดยจากหลักฐานของอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของเบลเยียม บรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 หน้า 126 ได้ระบุว่า จากหลักฐานที่พบตามภาพเขียนในปี ค.ศ. 1564, 1606, 1646 และ 1650 จะพบว่าบริเวณหน้าบันหลักของอาคารรวมทั้งปีกทั้งสองข้างนั้นไม่พบรูปปั้นใด ๆ ประกอบ ยกเว้นบริเวณเหนือซุ้มประตูทางเข้าหลัก บริเวณชั้นสองของหอแขวนระฆัง และบริเวณหอป้อมมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และหน้าที่ 128 ระบุอีกว่า ได้มีการตกแต่งเพิ่มเติมด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกในระหว่างปี ค.ศ. 1860 จนถึง ค.ศ. 1867

ส่วนงานตกแต่งด้านหน้าอาคารนั้นเป็นผลงานของวิกตอร์ ฌาแมร์ ซึ่งได้เพิ่มส่วนหน้าต่างโค้งมีช่องทางเดินด้านใน รวมทั้งบันไดซึ่งเขาได้ปรึกษาอย่างดีกับเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ในระหว่างปี ค.ศ. 1844 ถึงค.ศ. 1902 นั้นได้มีการเพิ่มเติมรูปปั้นต่าง ๆ ภายนอกอาคารถึง 150 ชิ้น สลักจากหินปูนสีขาวจากเมืองก็องและเอชายง[2]

ส่วนรูปปั้นผู้เผยพระวจนะนั้นประดับอยู่เหนือมุขทางเข้า ซึ่งเสื่อมโทรมไปตามเวลานั้นได้ถูกย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งบรัสเซลส์ (Musée communal de Bruxelles) โดยได้แทนที่เดิมด้วยงานสลักจำลองจากของจริง รวมถึงงานคันทวย และงานแกะสลักหัวเสาจาก แมซงเดอแล็สทราปาด, แมซงเดอลากาโวมวน และ แมซงดูว์มอร์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้]

หอแขวนระฆัง[แก้]

หอแขวนระฆัง (beffroi) ที่สูงตระหง่านอยู่บนยอดอาคารนั้นถูกสร้างในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลับกลายเป็นความลงตัวกันอย่างอัศจรรย์ โดยมีส่วนฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสในช่วงระยะแรกของการก่อสร้าง และบริเวณยอดเป็นแบบหอส่องสว่าง (tour-lanterne) ซึ่งสร้างเสร็จในอีกกว่าห้าสิบปีต่อมาโดยฝีมือของสถาปนิกยัน ฟัน เรยส์บรุก

บริเวณฐานทรงสี่เหลี่ยมนั้นประดับด้วยซุ้มประตูทรงแหลมแบบกอทิก บริเวณชั้นบนถัดไปนั้นตกแต่งในแบบเดียวกันกับปีกซ้ายทั้งหมด คือ มีหน้าต่างแบ่งซีกบริเวณชั้นสอง เหนือขึ้นไปเป็นรูปปั้นเรียงกันเป็นแถว และชั้นถัดไปบริเวณชั้นสามเป็นหน้าต่างแบ่งซีกซึ่งด้านบนมียอดหน้าบันทรงแหลมและสลักเป็นลายดอกสามใบอย่างกอทิก เหนือขึ้นไปบริเวณชั้นที่สี่และห้านั้นยังอยู่ในโครงแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยในแต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างสูงปลายแหลมสองบานหันหน้าไปทางจัตุรัส

ด้านบนซึ่งเป็นส่วนที่สองนั้นออกแบบเป็นทรงแปดเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งรับน้ำหนักโดยครีบยันจำนวนสี่ด้าน ซึ่งแต่ละด้านนั้นก็เป็นทรงแปดเหลี่ยมเช่นกัน บริเวณส่วนยอดนี้แบ่งเป็นสามระดับชั้น ในแต่ละชั้นตกแต่งด้วยซุ้มหน้าต่างสูงปลายแหลมฉลุเป็นลวดลายสวยงาม ซึ่งด้านบนประดับด้วยงานแกะสลักนูนต่ำเป็นซุ้มหน้าต่างแบบตัน และกำแพงเตี้ย ๆ (parapets) แกะสลักประดับด้วยปนาลี ส่วนบริเวณยอดแหลมนั้นประดับด้วยลายประดับทอง บริเวณยอดประดับด้วยรูปหล่อของนักบุญมีคาเอล ผู้เป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์แห่งนครบรัสเซลส์

ทัศนียภาพโดยรวม
ของหอแขวนระฆัง
หอส่องสว่าง
โดยยัน ฟัน เรยส์บรุก
ยอดแหลมและ
รูปปั้นนักบุญมีคาเอล
หอแขวนระฆัง
จากฝั่งตรงข้าม

รูปปั้นนักบุญมีคาเอล[แก้]

จิตรกรรมสมัยยุคกลางเกี่ยวกับอัครทูตสวรรค์มีคาเอลสังหารมังกร

อนุเสาวรีย์นักบุญมีคาเอล (อัครทูตสวรรค์) นักบุญผู้อุปถัมภ์แห่งบรัสเซลส์ ซึ่งประดับอยู่บนปลายยอดแหลมของหอแขวนระฆังนั้น เป็นอิริยาบถที่กำลังสังหารมังกร เป็นผลงานการปั้นของประติมากร มาร์ติน แวน โรด ซึ่งเสร็จสมบูรณ์และติดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1454

อนุเสาวรีย์นี้สร้างจากโลหะแผ่น (มิใช่ทองเหลืองอย่างที่เข้าใจกัน) โดยหากมองด้วยตาเปล่าจากบริเวณใกล้ ๆ แล้ว จะมีความรู้สึกเหมือนรูปหล่อนี้ไม่ได้สัดส่วนและไม่สวยงาม แต่เมื่อมองจากเบื้องล่างบริเวณจัตุรัสแล้วจะดูสวยงามและลงตัวกว่ามาก[4]

อนึ่ง จากพระคัมภีร์นั้น มังกรถือเป็นสัญลักษณ์ของซาตานหรือปีศาจ หลังจากวันพิพากษา

ซุ้มประตู[แก้]

คันทวยประดับ

บริเวณฐานของหอแขวนระฆังนั้นเป็นซุ้มประตูหลักทรงโค้งสัน เหนือขึ้นไปคือหน้าบัน โดยมีรูปปั้นของนักบุญมีคาเอลล้อมรอบด้วยนักบุญเซบาสเตียง, นักบุญคริสโตเฟอร์, นักบุญจอร์จ, นักบุญเฌรี (กอเกอริกุส มุขนายกแห่งก็องเบร) ผู้ที่ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเป็นผู้ที่สร้างหอสวดมนต์ซึ่งกลายมาเป็นต้นกำเนิดของนครบรัสเซลส์

นอกจากนี้บริเวณหน้าบันยังตกแต่งด้วยรูปปั้นคุณธรรมหลัก 4 ประการ (cardinal virtues) ได้แก่ พรูเดนเชีย (ความรอบคอบ) และจุสติเตีย (ความยุติธรรม) อยู่ทางด้านขวามือ ฟอร์ติตูโด (ความกล้าหาญ) และ เทมเปอรานเชีย (ความพอประมาณ) อยู่บริเวณด้านขวามือ โดยแต่ละรูปนั้นจะรองรับด้วยคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม

บริเวณส่วนของหน้าบัน รูปปั้นประดับต่างๆ รวมทั้งคันทวยนั้นมิได้สร้างในยุคสมัยสถาปัตยกรรมกอทิก แต่ล้วนสร้างขึ้นภายหลังในการปรับปรุงในคริสต์ศตวรรษที่ 19

พรูเดนเชีย
หน้าบันซุ้มประตู
นักบุญมีคาเอล
นักบุญเฌรี

ผนังด้านหน้า[แก้]

บริเวณหอมุมฝั่งขวามือ

บริเวณด้านหน้าของอาคารนั้นแบ่งเป็นสองฝั่งโดยไม่เท่ากันทั้งสองข้างขนาบหอแขวนระฆัง และบริเวณปลายสุดทั้งสองฝั่งเป็นป้อมมุม

ในแต่ละฝั่ง (ปีก) นั้นประกอบด้วยซุ้มทางเดิน (arcade), ระเบียง, และชั้นบนจำนวนสองชั้นโดยแต่ละชั้นมีหน้าต่างบานใหญ่แบบแบ่งซีกเรียงกันอย่างสวยงาม และบนสุดเป็นหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ขนาดเล็ก และยังมีหน้าต่างหลังคา ประดับอยู่มากมาย

บริเวณด้านหน้าอาคารนั้นประกอบด้วยรูปปั้นประดับมากมาย ส่วนมากเป็นรูปปั้นของดยุกและดัชเชสแห่งบราบันต์[5] โดยแต่ละรูปนั้นจะรองรับโดยคันทวย และด้านบนจะเป็นบุษบก (dais) ทำจากหินแกะสลักอย่างวิจิตรซึ่งมีด้านบนเป็นยอดทรงพิรามิดประดับด้วยหินแกะเป็นใบไม้เรียงกันขึ้นไปบนปลายยอดที่เป็นสลักเป็นช่อดอกไม้แบบกอทิก "เฟลอรง" (fleuron)

ส่วนประกอบของทั้งสองฝั่งนั้นไม่สมมาตรในหลายองค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่:

  • ปีกซ้าย (ซึ่งเก่ากว่า) ประกอบด้วยช่วงเสาจำนวน 10 ช่วง ในขณะที่ปีกขวานั้นมีเพียง 7 ช่วงเท่านั้น
  • ปีกซ้ายนั้นมีซุ้มทางเดินจำนวน 11 ช่อง อีกฝั่งมีเพียง 6 ช่อง
  • หน้าต่างบริเวณชั้นบน (ชั้นสอง) นั้นเป็นเพียงหน้าต่างธรรมดาแบบแบ่งซีก ในขณะที่ปีกขวานั้นเป็นหน้าต่างสูงปลายแหลมซึ่งด้านบนสลักเป็นดอกสามดอกแบบกอทิก
  • หน้าต่างบริเวณชั้นบน (ชั้นสอง) นั้นเหนือขึ้นไปจะประดับด้วยรูปปั้นเรียงรายกันเป็นแถว ยกเว้นปีกขวาทั้งหมด
  • บานหน้าต่างบริเวณชั้นสามนั้นเป็นแบบสี่เหลี่ยมแต่งยอดโค้งสันเป็นลายดอกแบบกอทิกที่ตัน (สลักแบบนูนต่ำ) แต่ปีกขวานั้นฉลุเป็นหน้าต่างแทน

ได้มีตำนานเก่าแก่เล่าไว้ว่าสถาปนิกผู้สร้างอาคารหลังนี้ได้ทำการฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงมาจากยอดของหอแขวนระฆังภายหลังจากที่เขาได้เห็นถึงความไม่เท่ากันของทั้งสองฝั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองฝั่งมิได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกัน และก็มิได้สร้างโดยสถาปนิกคนเดียวกันด้วย

หอมุมทรงแปดเหลี่ยมที่ประดับอยู่บริเวณหัวมุมอาคารทั้งสองฝั่งนั้นมีด้านหน้าประดับด้วยลายดอกแบบกอทิกนูนต่ำ ในแต่ละชั้นความสูงนั้นจะตกแต่งด้วยปนาลีจำนวน 8 ตนยื่นออกมาอยู่บริเวณฐานของกำแพงระเบียงด้านนอกซึ่งฉลุเป็นลวดลายสวยงาม บริเวณชั้นบนสุดนั้นประดับยอดแบบโคนตกแต่งด้วยหินสลักเป็นใบไม้ บนสุดบริเวณปลายยอดแหลมเป็นกังหันลม

รูปปั้นของดยุกและดัชเชสแห่งบราบันต์
ซึ่งอยู่ด้านบนของหน้าต่างบริเวณชั้นสองฝั่งซ้ายมือ
หน้าต่างบริเวณชั้นสามฝั่งขวามือ

ซุ้มทางเดิน[แก้]

คันทวยสลักเป็นนักดนตรีสีเครื่องเล่น

บริเวณชั้นล่างสุดของอาคารจะมีลักษณะเป็นซุ้มทางเดิน ซึ่งที่กล่าวมาแล้วจะมีลักษณะที่ไม่สมมาตร โดยฝั่งซ้ายมือมีจำนวน 11 ช่อง (หนึ่งช่องเป็นแบบตันอยู่บริเวณฐานของหอมุม) และขวามือเพียง 6 ช่อง

ซุ้มทางเดินนั้นมีลักษณะเป็นช่องโค้งสัน บริเวณสันโค้งด้านบนตกแต่งด้วยหินสลักเป็นลวดลายใบกะหล่ำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบบราบองซง บริเวณยอดสันตกแต่งด้วยหินแกะเป็นช่อดอกไม้แบบกอทิก "เฟลอรง" ตกแต่งด้วยลายใบกะหล่ำ อยู่ภายในช่องโค้งสันแบบตัน

บริเวณฐานของช่องโค้งนั้นตกแต่งเป็นรูปปั้นของเหล่าอัศวินจากเจ็ดตระกูลขุนนางแห่งบรัสเซลส์ (Lignages de Bruxelles)[2] ซึ่งรองรับรูปปั้นด้วยคันทวยที่สลักเป็นลวดลายบอกเล่าเรื่องราวต่างๆอย่างชัดเจน ที่เห็นได้ชัดคือนักดนตรีกำลังสีเครื่องเล่นอย่างสนุกสนาน

ซุ้มทางเดินฝั่งปีกซ้าย
อัศวินจาก "เจ็ดตระกูลขุนนางแห่งบรัสเซลส์"
เฟลอรง, ลายใบกะหล่ำ
และซุ้มโค้งสันแบบตันตกแต่งด้วยลายดอกสามดอก

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 (ฝรั่งเศส) Le Patrimoine monumental de la Belgique, Volume 1B, Bruxelles, Pentagone E-M, Pierre Mardaga éditeur, 1993, p.126
  2. 2.0 2.1 2.2 (ฝรั่งเศส) Le Patrimoine monumental de la Belgique, Volume 1B, Bruxelles, Pentagone E-M, แม่แบบ:Opcit, p.128
  3. ระบุที่แผ่นจารึกตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารฝั่งถนนชาร์ล บูล
  4. Guillaume Dez Marez, Guide illustré de Bruxelles, 1979, p. 16.
  5. Le Patrimoine monumental de la Belgique, Volume 1B, Bruxelles, Pentagone E-M, แม่แบบ:Opcit, p.131

ดูเพิ่ม[แก้]