วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
Faculty of Agriculture
Princess of Naradhiwas University
ชื่อเดิมวิทยาลัยเกษตรกรรมนราธิวาส
สถาปนา1 เมษายน พ.ศ. 2516; 51 ปีก่อน (2516-04-01)
ผู้อำนวยการนายมงคล วชิรอำไพ (รักษาการ)
ที่อยู่
เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 บ้านป่าไผ่ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
สถานปฏิบัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
เว็บไซต์agri.pnu.ac.th

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารหลักในพื้นที่วิทยาเขตแห่งนี้ และมีภารกิจในการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี,และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านเกษตร ที่มีคุณภาพ มีความรู้เป็นเลิศทางวิชาการ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ และเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ตลอดจนพัฒนา และส่งเสริมให้มีการวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และองค์ความรู้ใหม่ พร้อมถ่ายทอดสู่สังคม โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทำการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ซึ่งเป็นหลักสูตรดั้งเดิมที่เคยเปิดสอน ส่วนวิทยาลัยเกษตร อนุปริญญาต่อเนื่องได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์เกษตร) ขึ้นมาใหม่

ประวัติ[แก้]

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เดิมมีชื่อว่า วิทยาลัยเกษตรกรรม ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 บ้านป่าไผ่ ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,808 ไร่

พื้นที่วิทยาลัยเกษตรฯ เดิมเป็นของบริษัทชาวญี่ปุ่น ต่อมาอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ (ก.ท.ส.) มีเนื้อที่ประมาณ 997 ไร่ และในปี พ.ศ. 2515 กระทรวงศึกษาธิการได้รับอนุญาตจาก ก.ท.ส. ให้ใช้ที่ดินดังกล่าวจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม โดยมีคณะกรรมการประสานงานการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมนราธิวาส นำโดย นายธรรมนูญ บุญทอง เป็นหัวหน้าคณะ ร่วมด้วย นายยศ พุตตาล และนายบุญเยื้อน ทรัพย์คูณ ทำการรังวัดพื้นที่หาระดับและทำแผนที่ และได้ประกาศจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 ได้เปิดเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2517 โดยมีนายธรรมนูญ บุญทอง เป็นผู้อำนวยการคนแรก ต่อมาได้ยกสถานะจากโรงเรียน เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 และในปี พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) โปรดเกล้ามอบที่ดินให้วิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 811 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,808 ไร่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2537 (วันที่ 26 กรกฎาคม 2537 ) กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายบทบาทของสถาบันการศึกษาในสังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา ให้ทำหน้าที่เป็นวิทยาลัยชุมชนและใช้ชื่อวิทยาลัยชุมชนทักษิณ ทั้งนี้โดยเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้น และได้เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยเกษตรกรรมนราธิวาส เป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539 ในสมัย พณสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม โดยการหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วในจังหวัด เพื่อจะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการลงทุนน้อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อปรัชญาการศึกษา และภารกิจของสถาบันการศึกษาเดิม การบริหารจัดการ และการดำเนินการมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรอยต่อออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นอกจากกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังสามารถที่จะรองรับการศึกษา และการใช้บริการทางการอุดมศึกษาของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย และได้สถาปนามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 14 ก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 แล้ว โดยหลอมรวมกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ รายได้ หนี้สิน บุคลากรของสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพในการพัฒนาในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 สถาบัน คือ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส วิทยาลัยการอาชีพตากใบ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนราธิวาส

ปัจจุบัน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ได้ดำเนินการจัดการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ ซึ่งในระบบเปิดสอนนักศึกษาระดับปวช. ปวส. โดยมี 2 ภาควิชา คือ ภาควิชาพืชศาสตร์ และภาควิชา สัตวศาสตร์ ส่วนการศึกษานอกระบบ วิทยาลัยฯ จะเปิดฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ทั้งด้านความรู้ทางการเกษตร ทักษะและเทคโนโลยี นอกจากนี้ วิทยาลัยยังมีหน้าที่ทำงานวิจัยและบริการวิชาการ โดยได้รับการสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการจาก มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส โดยคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ผู้บริหาร และบุคลากรของวิทยาลัย ต่างมีความเห็นพ้องที่จะเห็นวิทยาลัยเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางที่ดี นโยบายและกลยุทธ์ ต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองให้บรรลุวิสัยทัศน์และภารกิจของวิทยาลัย }}

หน่วยงาน[แก้]

สำนักงานวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส

  • งานกิจการนักศึกษา
  • งานบริการการศึกษา
  • งานหลักสูตรและวิชาการ
  • งานบริการทั่วไป

สถานที่ตั้ง[แก้]

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ตั้งอยู่ เลขที่ 102 หมู่ 5 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีพื้นที่ของวิทยาเขตครอบคลุม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 5 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส รหัสไปรษณีย์ 96130 อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร เดิมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 997 ไร่ และในปี พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ มอบที่ดินให้วิทยาลัยเพิ่มเติมอีก 811 ไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,808 ไร่ อาณาเขตติดต่อ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1. เนื้อที่เดิม 997 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ สถานีรถไฟบ้านป่าไผ่
  • ทิศตะวันนออก ติดต่อกับ บ้านออกและที่ดินแปลงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านลาลู
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านไอปาเซ

ส่วนที่ 2. เนื้อที่ใหม่ 811 ไร่ มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านป่าไผ่
  • ทิศตะวันนออก ติดต่อกับ บ้านลูโบ๊ดีแย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ที่ดินแปลงเก่า
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านออก

อ้างอิง[แก้]