วิถี พานิชพันธ์
อาจารย์ วิถี พานิชพันธ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีล้านนา เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา
ประวัติ
[แก้]นายวิถี พานิชพันธ์ (9 มีนาคม พ.ศ. 2489 - ) เดิมชื่อนายบุญทิวา พานิชพันธ์ เป็นบุตรของนายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ กับนางปทุม มหาวรรณ เป็นชาวจังหวัดลำปางโดยกำเนิด สมรสกับ รศ.ดร.สุคนธ์ พานิชพันธ์ มีบุตรสองคนคือนายภูริน พานิชพันธ์ และนายภูเบ็ง พานิชพันธ์
การศึกษา
[แก้]อาจารย์วิถี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี Bachelor of Arts จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เมื่อ พ.ศ. 2511 และปริญญาโท Master of Arts สาขา Environmental Design จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส พ.ศ. 2513
ประวัติการทำงาน
[แก้]อาจารย์วิถีก่อตั้งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2526 มีบทบาทโดดเด่นด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ทั้งในด้านของการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมดั้งเดิม และการสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย ศิษย์เก่าที่ได้รับถ่ายทอดแนวความคิดไปจาก อ.วิถี เหล่านี้ ออกไปสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมากมาย และได้รับการตอบสนองจากสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น ด้านงานประเพณี “ประเพณีสลุงหลวง จังหวัดลำปาง” ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการนำเสนอด้วยรูปแบบริ้วขบวน หรือในด้านการแสดงนาฏศิลป์ อย่างการฟ้อนเทวดา ฟ้อนปิติ ฟ้อนถวายมือ ฟ้อนผางประทีปพม่า เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่บนพื้นฐานความดีงามอย่างเดิม นอกจากนั้นในส่วนของงานดนตรีล้านนาร่วมสมัย วง ”ช้างสะตน” www.changsaton.com ซึ่งเป็นศิษย์จากภาควิชาศิลปะไทยเช่นกัน ก็ได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล
การแสดงออกพร้อมทั้งการส่งเสริมให้ลูกศิษย์เป็นผู้นำเสนอต่อสาธารณชนโดย อ.วิถี พานิชพันธ์ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย ปัจจุบันได้ปรากฏบทบาทและหน้าที่ด้านการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรหลายแห่งมีการจัดการชุมชน ศิลปกรรมและวัฒนธรรมชุมชนเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์ของท้องถิ่น และหลายแห่งมีบัณฑิตจากภาควิชาศิลปะไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปรากฏการณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตและให้คำนิยามเอาไว้ว่าเป็น “กระแสนีโอล้านนา” ซึ่งไม่ใช่การกลับมาของรากเหง้า แต่เป็นการสร้างสรรค์ต่อยอดมาจากรากที่มีอยู่ ไม่ใช่การทำขึ้นมาลอย ๆ อ.วิถี คือผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
รศ.ดร.สมพงษ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงชีวิตและการทำงานของ อ.วิถี ว่า ในยุคแรก ๆ ของชีวิตการทำงานในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ชีวิต อ.วิถี อาจแบ่งได้เป็นสองภาค โดยภาคหนึ่งเป็นช่วงเวลาของการสอนหนังสือ ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นช่วงเวลาของการแสวงหา เป็นการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ ออกไปสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยจะสะพายกล้องถ่ายภาพไปด้วย โดยถ่ายเป็นภาพสไลด์ และนำมาล้างดู และอธิบายภาพนั้นซ้ำอีกที ซึ่งทำให้ อ.วิถี มีความซาบซึ้ง และมองเห็นแง่มุมต่างๆจากภาพเหล่านั้นยุคต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาของการสร้างฐาน โดย อ.วิถี ใช้เวลาไม่กี่ปีในการสร้างฐานของศิลปะไทยขึ้นมา ซึ่งถูกตั้งคำถามขึ้นมาว่าเป็นศิลปะไทยจริงหรือ โดยหากภาควิชาศิลปะไทยไม่มี อ.วิถี อยู่ ศิลปะไทยอาจอยู่ในรูปแบบของศิลปะไทยเดิม แต่ด้วยมุมมองที่ต่างจากคนอื่น ศิลปะไทยที่เป็นอยู่ในตอนนี้ จึงเป็นศิลปะไทยที่ประกอบด้วยวิญญาณของ อ.วิถี อย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่น่าสนใจคือการมองด้วยมุมมองที่แตกต่าง ผสมผสานกับรากเหง้าของความเป็นคนล้านนา และการเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสด้วยตัวเอง ทดลองด้วยตัวเอง และพยายามจะสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดีงามขึ้นมา
แต่ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เด่นชัดขึ้นมา เกิดขึ้นในยุคของการสร้างศิษย์ ในช่วงเวลาที่โลกาภิวัฒน์ยังไม่เข้ามามากเท่านี้ ช่วงเวลาที่เชียงใหม่ยังไม่บูมเท่านี้ การสร้างสีสันด้านศิลปวัฒนธรรมโดยลูกศิษย์ลูกหาที่แพร่กระจายออกไป สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสังคมในวงกว้าง สิ่งที่ อ.วิถี ทำคือการเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ให้แพร่กระจายออกไป สิ่งที่ อ.วิถีสร้างขึ้นมานั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาลอย ๆ แต่ใช้เวลานับสิบ ๆ ปี ในการลงไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ได้รู้จักศิลปะ ได้รู้จักชีวิตผู้คน จนสามารถที่จะอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมานั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีพื้นฐานที่ดี จึงจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้นมาได้ และนั่นคือสิ่งที่ อ.วิถี พานิชพันธ์ ทำมาตลอดชีวิต
ผลงานตีพิมพ์
[แก้]Title ผ้าและสิ่งถักทอไท / วิถี พานิชพันธ์ Publisher เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม; 2547 Subject ผ้าไทย, การทอยกดอก, หัตถกรรมสิ่งทอ, การทอผ้า
Title วิถีล้านนา / วิถี พานิชพันธ์ Publisher Imprint กรุงเทพฯ :โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์; 2548. ISBN 974-9575-90-3 Subject ภูมิหลังแผ่นดินล้านนา, วัฒนธรรมข้าวเหนียว, ชาติพันธุ์ของชาวล้านนา, บ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้าง, เรื่องเล่าและตำนานในล้านนา, สังคมและวัฒนธรรมปัจจุบัน, ล้านนาประเพณีดั้งเดิมที่ยังคงอยู่, ไทย (ภาคเหนือ)--ความเป็นอยู่และประเพณี
Title: จิตรกรรมเวียงต้า / วิถี พานิชพันธ์ Publisher อนุสาร อ.ส.ท. 33, 4 (พ.ย. 35) 24-27 : ภาพประกอบ Subject: จิตรกรรมไทย -- ไทย -- แพร่
Title: หำยนต์ เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย / วิถี พานิชพันธ์ Publisher: สยามอารยะ 2, 20 (ส.ค.37) 122-126 Subject: สถาปัตยกรรมไทย -- ไทย
Title: ไทเขินแห่งเชียงตุง / วิถี พานิชพันธ์ Publisher Imprint: โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา, 2556. ISBN 978-616-7820-01-9 Subject:1. ไทเขิน--ความเป็นอยู่และประเพณี. 2. พุทธศาสนา--เชียงตุง (พม่า).
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[1]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[2]
- พ.ศ. 2542 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[3]
แหล่งข่าว
[แก้]- 60 ปี “อ.วิถี พานิชพันธ์” ปลุกกระแสวัฒนธรรมท้องถิ่นนีโอล้านนาหยั่งรากลึก
- The Lanna Deception - City Life Chiang Mai Volume 18, 12 February 2009 Author: James Austin Farrell
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๖๕, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙๕, ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๔๐๕, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓