วิกิพีเดีย:ศาลาชุมชน/อภิปราย/เสนอแนวทางจัดการกับผู้ใช้ที่ไม่ฟัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้านี้เป็นหน้าอภิปรายในวิกิพีเดียภาษาไทย

ช่วงหลังมานี้ มีผู้ใช้บางคนที่ดึงดันแก้ไขโดยไม่ฟังคำชี้แจงตักเตือนจากชุมชน แม้จะตักเตือนไปแล้วก็ไม่รับรู้หรือตอบสนอง บ้างก็ลบคำเตือนนั้นทิ้งเสียด้วย ทำให้ต้องมีการย้อน/ลบหลายครั้ง เพราะผู้ใช้คนนั้นยังคงการแก้ไขแบบเดิมเรื่อย ๆ กรณีเช่นนี้ ผู้ใช้หรือผู้ดูแลระบบควรมีแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการที่ตรงกันและไม่หนักไม่เบาเกินไป จะได้ไม่เป็นที่พิพาทกันภายหลัง จึงขอเสนอให้พิจารณาแนวทางปฏิบัติ (ไม่ใช่ทั้งนโยบายและแนวปฏิบัติ) เพื่อประกอบการตัดสินใจในอนาคต

โดย "ผู้ใช้ที่ไม่ฟัง" หมายถึง

  1. ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือบรรทัดฐานที่ระบุในวิกิพีเดียภาษาไทยเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
  2. ผู้นั้นได้รับคำตักเตือนในหน้าคุยกับผู้ใช้แล้ว
    1. คำตักเตือนมีการชี้ไปยังหน้านโยบาย แนวปฏิบัติ หรือบรรทัดฐานที่กล่าวถึง
    2. คำตักเตือนนั้นไม่ขัดต่อนโยบาย "ประพฤติเยี่ยงอารยชน" "อย่าว่าร้ายผู้อื่น" และแนวปฏิบัติ "สันนิษฐานว่าคนอื่นสุจริตใจ" "โปรดอย่ากัดผู้ใช้ใหม่"
    3. ผู้นั้นได้รับการบอกวิธีแก้ไข คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแล้ว
  3. ผู้ใช้นั้นไม่สนองตอบคำตักเตือน ยังคงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
    1. ผู้ใช้นั้นอาจลบหรือไม่ลบคำตักเตือนนั้นก็ได้
    2. ผู้นั้นได้รับคำชี้แจงให้หยุดพฤติกรรม และเตือนว่าอาจมีการบังคับ (sanction)
    3. ยังเกิดปัญหาซ้ำ ต้องย้อนการแก้ไขและ/หรือลบหน้าหลายครั้ง

ใจความหลัก คือ ผู้ใช้ที่ไม่แสดงท่าทีต่อคำตักเตือน และไม่หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แต่ถ้าตอบ และยังคงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ก็ไม่เข้าข่าย

ในกรณีเช่นนี้ ขอความเห็นว่าควรจัดการอย่างไรดีครับ --Horus non nobis, sed omnibus | พูดคุย 22:24, 5 กุมภาพันธ์ 2556 (ICT)


ลองดูสถานการณ์นี้ซึ่งเกิดบ่อยมาก มือใหม่ที่ถูกเตือน บทความที่เขียนถูกลบ ไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไป อยากจะตอบกลับหรือรับทราบคำเตือนแต่ก็ทำไม่เป็น หรือไม่รู้จะไปตอบที่ไหน จะไปคุยกับใคร (คนที่ใช้ไอทีไม่เป็นยังมีมาก) ไม่รู้จะทำอะไรดีก็เลยทำอย่างเดิมซ้ำ พอผู้ตักเตือนไม่ได้รับการตอบสนองจากมือใหม่ กลายเป็นว่าผู้ตักเตือนเห็นคนนั้นดื้อด้าน แล้วมาเตือนซ้ำอีก มือใหม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บางทีก็เผลอลบหน้าพูดคุยเพราะอาจได้รับทราบแล้ว (นึกว่าเหมือนกล่องจดหมายที่เคลียร์ทิ้งได้) แต่แล้วผู้ตักเตือนก็เอาข้อความกลับมาอีก กลายเป็นว่าผู้ใช้นั้นรำคาญการตักเตือนที่มากเกินไป สิ่งนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิกิพีเดียโดยรวม ผู้ใช้นั้นหมดกำลังใจ ว่าทำไมเรื่องมากอย่างนี้นะ ไม่ขงไม่เขียนมันแล้ว และอาจทำให้เกิดความแค้น เกิดวัฏจักรการก่อกวนขึ้น เกรียนก็รังควานตามมา
ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งสองฝั่ง ปัญหาฝั่งแรกคือมือใหม่ยังไม่รู้ประสีประสา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือให้มือใหม่ไปเรียนรู้วิธีใช้ที่เราเขียน สอนให้เขาใช้งานให้เป็น ไม่ใช่ไปตักเตือนเขียนเสือให้วัวกลัว ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือการส่งเสริมการใช้งานวิกิในสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดการทดลองเขียนและการมอบหมายให้เขียนมาก (แต่ก็มีการคัดค้านว่าห้ามส่งการบ้านบนวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลนี้) ปัญหาอีกฝั่งคือผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญ (ผู้ตักเตือน) ก็เก่งแต่เตือน ข้อความเตือนยาวเป็นกิโล (บางทีก็ก่นด่าด้วย) แต่ไม่แนะนำสิ่งที่เหมาะสมให้ว่าควรทำยังไงหรือช่วยหาทางออกให้ และยังจะหามาตรการมาควบคุมให้รัดกุมยิ่งขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากออกไปอีก นอกจากนี้อัตตาของผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญก็สำคัญ บางคนจะเห็นได้ว่าทำตัวเป็นเจ้าของโซน หรือมองคนอื่นในแง่ร้ายตลอดเวลา หรือค้านหัวชนฝาต่อผู้ที่เป็นปฏิปักษ์แก่ตน (เช่นในบทความการเมือง) การแก้ปัญหาคือ ผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญควรพิจารณาตัวเองว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน เมื่อเกิดการเตือนควรใช้ภาษาที่เป็นการส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ ไม่กีดกัน ทำตัวให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือลองไม่ไปวุ่นวายดูสักพัก เพราะเดี๋ยวเขาเบื่อก็หยุดเขียนเอง
ส่วนคนที่กลายเป็นเกรียนไปแล้วจะแก้ยังไง ตอบว่าไม่น่าจะเยียวยาได้ เพราะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ไปแล้ว เมื่อทำแล้วก็ต้องทำอีก ก็ต้องตามลบตามบล็อกไปตามระเบียบ โดยไม่ต้องสนทนาโต้ตอบ ตอนนี้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งเพิ่มมาคือ ความไม่ไว้วางใจผู้เขียน การเชื่อว่าคนอื่นมีเจตนาดีจืดจางไป ในเมื่อเราส่งเสริมให้คนอื่นกล้าเขียน (Be bold) เราต้องเชื่อมั่นว่าคนอื่นมีเจตนาดีด้วย องค์ประกอบของการทำงานร่วมกันมันถึงจะครบ บ่นจบแล้ว ไปละ --浓宝努 23:45, 5 กุมภาพันธ์ 2556 (ICT)

ปัญหามีหลายอย่างและนโยบายก็มีจำนวนมาก แต่ขอพูดเพียงประเด็นแรกที่จะทำให้คุยกันได้รู้เรื่องคือ หน้าพูดคุย

  1. ต้องมีหน้าอธิบายอย่างง่ายที่สุดให้ผู้ใช้ทราบว่าหน้าพูดคุยใช้งานทางเทคนิคได้อย่างไร
  2. เมื่อทราบแล้วว่าในทางเทคนิคจะบันทึก จะตอบ จะลงชื่ออย่างไร ก็ควรรับทราบต่อมาถึงกติกามารยาททางสังคมในวิกิพีเดียภาษาไทยในการใช้หน้าพูดคุย

ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่าย อาจเริ่มจาก

  1. การแก้ไขหน้าต้อนรับให้เน้นจุดนี้มากขึ้น
  2. มีแม่แบบสำหรับอธิบายการใช้หน้าพูดคุยสำหรับผู้ใช้ใหม่โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง
  3. หลายครั้งเมื่อมีการตักเตือน แม้จะเขียนด้วยถ้อยคำสุภาพ แต่ถ้าผู้อ่านเห็นว่าเป็นไปในทางลบว่าตนเองบกพร่อง พลั้งเผลอ หรือหลงลืม บางทีก็ไม่อยากเห็นข้อความนั้นอีกต่อไปและลบมันออก จุดนี้น่าจะมีวิธีอลุ่มอล่วยให้ผู้ใช้ใหม่ได้บ้าง เช่น 3 เดือนแรกในวิกิพีเดียภาษาไทย ให้ลบการอภิปรายในหน้าพูดคุยของตนได้เสรี ตราบเท่าที่เตือนแล้วฟัง (เขียนในคำอธิบายอย่างย่อว่าทราบแล้วและไม่ทำผิดซ้ำอีก) ฯลฯ - ตรงนี้เป็นข้อเสนอนโยบาย ต้องได้รับการรับรองจากชุมชนจึงมีผลบังคับใช้ - ถ้าไม่ใช้ระดับนโยบายก็ได้ ในระดับแนวปฏิบัติส่วนบุคคล ก็แล้วแต่ว่าใครจะผ่อนปรนหรือเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน

--taweethaも (พูดคุย) 09:47, 6 กุมภาพันธ์ 2556 (ICT)


ขอบคุณครับ ผมขอสรุปดังนี้

ปัญหา
  1. ผู้ใช้ใหม่ใช้ไอทีไม่เป็น
  2. ผู้ใช้รำคาญการตักเตือนที่มากเกินไป
  3. ผู้ใช้ประจำไม่ทำตัวเป็นตัวอย่าง กลับทำผิดบรรทัดฐานเสียเอง
  4. การ "สันนิษฐานว่าคนอื่นสุจริตใจ" หมดไป
ทางแก้ที่เสนอ
  1. ควรให้เรียนรู้วิธีใช้ สอนการใช้งาน (ไม่รู้ว่าแค่ชี้จุดให้จะพอหรือเปล่า -เสริมเอง), ส่งเสริมการใช้ในสถานศึกษา
  2. ผู้ใช้ขาประจำควรเตือนในระดับที่เหมาะสม ต้องไม่ยาว ไม่ด่า แต่ให้แนะนำหรือช่วยเหลือ
  3. ผู้ใช้ต้องเตือนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่ก็ปล่อยไว้เฉย ๆ
  4. ...

--Horus non nobis, sed omnibus | พูดคุย 23:58, 5 กุมภาพันธ์ 2556 (ICT)

แม้ผู้เขียนจะตั้งใจดี แต่ถ้าผู้ถูกเตือนไม่สนใจรับรู้ก็คงทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น อาจลองความคิด "นิ่งเสีย" ไปใช้ครับ --Horus non nobis, sed omnibus | พูดคุย 20:44, 6 กุมภาพันธ์ 2556 (ICT)