วิกิพีเดีย:ศาลาชุมชน/อภิปราย/ปัญหาบทความสถานศึกษาอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ตนเอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนื่องด้วยในปัจจุบันบทความสถานศึกษาแทบทุกบทความได้อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานศึกษานั้นๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎในการอ้างอิงแหล่งที่มา (อ้างอิงจากผู้มิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย)และกฎว่าด้วยการอ้างอิงจากโครงการวิกิโรงเรียน (ให้อ้างอิงจากภายนอก) และทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น การขาดความสำคัญ,ผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาบทความสถานที่ท้องถิ่น เป็นต้น

ที่ผ่านมาผู้ใช้หลายท่านๆรวมทั้งตัวผมเอง ได้ใช้แหล่งอ้างอิงจากเว็บไซต์สถานศึกษาเองมาเป็นเวลานาน จะเนื่องด้วยข้อมูลที่สมบูรณ์ก็ดี ความไม่เพรียบพร้อมของเนื้อหาสถานศึกษาในภาษาไทยเมื่อเทียบกับสถานศึกษาในต่างประเทศก็ดี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาบทความสถานศึกษา เพราะจะส่งผลกระทบต่อบทความสถานศึกษาทั้งหมดที่มีในวิกิพีเดียไทยรวมถึงบทความคัดสรรและบทความคุณภาพ ตลอดจนรูปแบบการเขียนบทความของโครงการวิกิสถานศึกษาครับ

อนึ่ง นอกเหนือจากเว็บไซต์แล้ว ยังมีในส่วนของหนังสือจากสถานศึกษา (หนังสือประวัติ,หนังสือรุ่น) เอกสารที่ได้รับการเผยแพร่จากทางสถานศึกษา ที่ต้องขอความเห็นเช่นกันครับ

--N.M. | พูดคุย 20:32, 15 มกราคม 2555 (ICT)


ผมอยากให้ดูโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ เป็นตัวอย่างครับ ข้อมูลหลักมาจากโรงเรียนเอง ถูกแจ้งว่าขาดความสำคัญ และผมได้พบว่ามีแหล่งอ้างอิงภายนอกที่กล่าวถึงโรงเรียน เช่น ทรูปลูกปัญญา สำนักวัฒนธรรม กล่าวถึงโรงเรียนไว้ และผมนำใส่ ผู้แจ้งขาดความสำคัญจึงนำป้ายนั้นออก ผมเห็นว่าบทความนี้น่าจะมาเป็นแนวทางได้ครับ ส่วนกิจกรรมภายในโรงเรียนผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าหากไม่โดดเด่นเพียงพอก็ไม่ควรใส่ กิจกรรมที่โรงเรียนไหนก็มีคงไม่จำเป็นที่จะต้องมี แต่หากทุกคนเห็นว่าควรใส่ก็ใส่ ผมกล่าวในฐานะสมาชิกโครงการนี้ Sasakubo1717 (พูดคุย · เรื่องที่เขียน)

เรื่องนี้ต้องแตกเป็นหลายประเด็นคือ

  • ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ - ถ้าผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บหน้าดังกล่าว (เช่นเว็บมาสเตอร์ ผู้ดูแลระบบ อาจารย์ผู้รับผิดชอบ) สามารถเผยแพร่ในวิกิพีเดียได้ ก็ต่อเมื่อ ระบุไว้ในเว็บของเขาเองว่าให้เผยแพร่โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ หรือ ชี้แจงในหน้าอภิปรายว่าให้เผยแพร่โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์
  • มีความโดดเด่นหรือไม่ - ต้องมีแหล่งอ้างอิงอื่น ๆ ที่กล่าวถึงโรงเรียน มีเหตุการณ์ภายนอกอะไรบ้างที่เอ่ยถึงโรงเรียน
  • อ้างอิงได้หรือไม่ - การพิสูจน์ข้อมูลด้วยเว็บไซต์ทางการ หนังสือของโรงเรียน เป็นต้น สามารถทำได้ในทุกกรณี แต่แหล่งข้อมูลเหล่านี้เป็นแหล่งปฐมภูมิ จะอ้างอิงได้ก็ต่อเมื่อ ข้อมูลนี้ไม่สามารถพบได้ในที่ใด ๆ นอกจากแหล่งปฐมภูมิเท่านั้น (และสามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณชน) นอกจากนี้การอ้างอิงแหล่งปฐมภูมิจะไม่ถูกใช้พิจารณาความโดดเด่นของบทความ
  • โฆษณาหรือไม่ - ให้ดูลักษณะการเขียน การเรียบเรียงถ้อยคำ ถ้าปรากฏความฟุ้งเฟ้อในเนื้อหาให้เอาออกหรือปรับใหม่ นอกจากนี้ ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ อัตลักษณ์ (ไม่รวมถึงคติพจน์และคำขวัญ) ถือว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (เพื่อให้คนสนใจส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน)

--octahedron80 21:02, 15 มกราคม 2555 (ICT)

จริงๆแล้ว หากยึดตามกฎเสาหลักวิกิพีเดีย คงมีบทความเกี่ยวกับโรงเรียนฯ จำนวนมากไม่ผ่านความโดดเด่น เกือบทุกโรงเรียนล้วนใช้อ้างอิงจากเว็บไซต์ ของโรงเรียนเป็นหลัก แม้แต่บทความที่ผมเขียนขึ้นมา ก็ใช้ข้อมูลหลักจากโรงเรียนเอง จึงควรหาข้อสรุปบทความสถานศึกษา และเขียนไว้ในโครงการฯด้วย อะไรควรเขียน ไม่ควรเขียน แหล่งอ้างอิงภายนอกแค่ไหนต้องระบุชัดเจนมากกว่าปัจจุบัน ด้วยโรงเรียนต่างๆ หาแหล่งอ้างอิงภายนอกยากเต็มที ส่วนหนังสือศิษย์เก่าอะไรนั่น ผมถือว่าเป็นของโรงเรียนเช่นกัน หนังสือราชการหากออกโดยโรงเรียนก็ย่อมถือได้ว่าเป็นของโรงเรียนแม้ตามกฎหมายถือว่าเป็นเอกสารราชการ ไหนๆก็เริ่มแล้ว เราควรปฏิรูปบทความเกี่ยวสถานศึกษาให้มีแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด--Sasakubo1717 21:32, 15 มกราคม 2555 (ICT)
เห็นด้วย เห็นด้วยกับคุณ Sasakubo1717 ครับ--Panyatham 21:35, 15 มกราคม 2555 (ICT)
เกี่ยวกับความโดดเด่น ถ้าไปแข่งระดับประเทศอะไรมาในนามโรงเรียนแล้วได้รางวัล หรือโรงเรียนได้รับมอบรางวัลอะไรบางอย่าง ก็ถือว่ามีความโดดเด่นได้ (แต่ต้องมีข่าว) เราอาจจะใช้ความโดดเด่นของบทความองค์กรได้ในกรณีนี้ เพราะโรงเรียนก็เป็นองค์กรชนิดหนึ่ง --octahedron80 21:39, 15 มกราคม 2555 (ICT)
เกี่ยวกับการอ้างอิงแหล่งปฐมภูมิ ตัวอย่างสิ่งที่ผมพิจารณา หนังสือศิษย์เก่าก็สามารถใช้อ้างอิงรายชื่อศิษย์เก่าได้ เพราะน่าเชื่อถือกว่าภายนอก (ภายนอกก็คงมาเช็กที่โรงเรียนอีกที ซึ่งก็ไม่แตกต่างกัน) บทความหลายบทความที่ไม่เกี่ยวกับโรงเรียน ก็อ้างอิงจากแหล่งปฐมภูมิ อาทิ รุ่นซอฟต์แวร์ของไฟร์ฟอกซ์ก็อ้างอิง change log ของมันเอง ข้อมูลเชิงเทคนิคของวินโดวส์ก็อ้างอิงไปยังไมโครซอฟต์ ประวัติองค์กรสามารถเปิดดูที่เว็บองค์กร ซึ่งน่าเชื่อถือกว่าภายนอก (ภายนอกก็คงมาเช็กที่แหล่งอีกที เช่นกัน) ถ้าเข้าลักษณะดังนี้แล้ว ใช้อ้างอิงได้ --octahedron80 22:00, 15 มกราคม 2555 (ICT)
กรณีเช่นนี้มีการอธิบายไว้แล้วใน วิกิพีเดีย:การพิสูจน์ยืนยันได้#การใช้แหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เองและที่น่าสงสัยเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง "แหล่งข้อมูลตีพิมพ์เองและที่น่าสงสัยอาจใช้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้ ตราบเท่าที่..." เรื่องที่กล่าวถึงการอ้างอิงแหล่งที่มา (ความจริงแล้วไม่ใช่กฎ แต่เป็นนโยบาย) ข้อแรกระบุว่า "ควรเป็น" มิใช่ "ต้องเป็น" น้ำหนักไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีข้อยกเว้นอยู่ครับ ส่วนอีกสองข้อนั้นก็ผ่านหมด --octahedron80 22:15, 15 มกราคม 2555 (ICT)

รับเอา en:Wikipedia:Notability (academics) เข้ามาใช้ใน thwp เพื่อพิจารณาความโดดเด่น เห็นด้วยหรือเปล่า ผมยังไม่ได้ดูรายละเอียด --octahedron80 21:39, 15 มกราคม 2555 (ICT)

ขออภัย นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่อง ครู อาจารย์ นักวิชาการ เท่านั้น --octahedron80 21:46, 15 มกราคม 2555 (ICT)
  • ขอเสนอว่า
  1. ประวัติ ข้อมูลพื้นฐานใช้ข้อมูลจากโรงเรียนเจ้าของหัวเรื่องได้
  2. ความโดดเด่นจะต้องมี อันหมายถึงถูกกล่าวถึงโดยบุคคลที่สามซึ่งมิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  3. กิจกรรมภายโรงเรียน ใส่ได้แต่จะต้องมีความโดดเด่น ถูกกล่าวถึงโดยบุคคลที่สามและให้ใช้เป็นอ้างอิงในบรรทัด
  4. ลักษณะห้องเรียน แต่ละห้องใช้ทำอะไรบ้าง ไม่ควรนำใส่ หากจะใส่ใช้กฎความโดดเด่น และอ้างอิงในบรรทัด
  5. สร้างกฎเฉพาะให้เหมาะสมกับวิกิพีเดียไทย

ส่วนที่คุณออกตาฯ80 กล่าวมาโดยพฤตินัยเป็นเช่นนั้น เช่นหนังสือศิษย์เก่า เป็นต้น หากถูกบุคคลที่สามกล่าวถึง และเอาข้อมูลจากส่วนนั้นมาเผยแพร่ต่อ น่าจะถือได้ว่าเรื่องนั้นมีความโดดเด่น ผมเคยเข้าไปดูวิกิพีเดียอังกฤษมีหลายบทความที่ไม่ผ่านกฎของวิกิพีเดีย แต่ก็ยังคงอยู่ได้โดยติดป้าย ต้องการอ้างอิงบ้าง สั้นบ้าง ซึ่งถ้าหากเป็นของไทยคงถูกลบไแล้ว อันนี้จึงเชื่อโดยส่วนตัวว่าวิกิพีเดียไทยก็มีมาตรฐานสูง เราน่าจะนโยบายเป็นอิสระบ้าง --Sasakubo1717 (พูดคุย · เรื่องที่เขียน)

มาตรฐานการอ้างอิง 3 ข้อ เดิมจำได้ว่าแปลมาจากภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้หาไม่เจอแล้ว และพบรายละเอียดที่มากกว่าโผล่ใน WP:V แทน (คงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างว่า) อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายความเข้มงวดของการอ้างอิง เป็นเรื่องนอกประเด็นโรงเรียน ถ้าจะคุยเรื่องนี้ต้องตั้งหัวเรื่องใหม่ --octahedron80 22:45, 15 มกราคม 2555 (ICT)
ผมเห็นด้วยที่ว่าแหล่งอ้างอิงของเจ้าของโรงเรียนควรใช้กับประวัติ และข้อมูลพื้นฐาน รวมทั้งเรื่องของศิษย์เก่า แต่เรื่องอื่นๆนั้นควรใช้แหล่งอ้างอิงทุติยภูมิครับ และต้องไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อในบทความ--Saeng Petchchai 22:53, 15 มกราคม 2555 (ICT)
  • เรื่องผ่อนคลายกฎ ขอขยายต่อว่า เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนครับ ผมอาจยกตัวอย่างเตลิดไปนอกประเด็นโรงเรียน (เพียงแต่เปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ได้ให้หมายถึงจะต้องคลายกฎทั้งหมด) ผมขอให้คลายกฎเฉพาะเกี่ยวกับสถานศึกษาเท่านั้น บรรดา อบต. เทศบาล ยังบังคับกฎเดิม เพราะส่วนตัวสนับสนุนบทความเกี่ยวกับสถานศึกษามาก สรุปว่าขอให้อนุโลมแก่สถานศึกษาเท่านั้นครับ เรื่องอื่นยังต้องเข้มเหมือนเดิม -- และขอสนับสนุนความเห็นของคุณแสงเพชรชัย --Sasakubo1717 23:37, 15 มกราคม 2555 (ICT)

เรื่องของสถานที่,หลักสูตรและกิจกรรมอันนี้ผมสนับสนุนให้ใช้แหล่งอ้างอิงของทางโรงเรียน เหตุผลเพราะทั้งสามเป็นการดำเนินงานของทางโรงเรียนเองที่จะกำหนดหลักสูตรและกิจกรรมของโรงเรียนเองเช่นเดียวกับกรณีของประวัติโรงเรียน แต่ถ้ามีแหล่งอ้างอิงของทางภายนอกด้วยก็สมควรที่จะใช้ควบคู่หรือทดแทนกันไปเลย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำร่วมระหว่างสถานศึกษาตั้งแต่ 2 สถานศึกษา

เรื่องของปัญหาความโดดเด่นอันนี้ผมต้องขอบคุณคุณออกตาที่ได้บอกถึงความโดดเด่นของบทความองค์กรและบริษัท ที่เหมาะสมกับบทความสถานศึกษาน่าจะเป็นในส่วนขององค์กรที่ไม่ใช่เชิงธุรกิจ (รวมสถานศึกษาเอกชนด้วยเลย) ดังนี้

  • มีกิจกรรมที่ครอบคลุมในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
  • ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรและกิจกรรมสามารถยืนยันได้จากแหล่งข้อมูลอื่นที่มิใช่องค์กรเอง
  • ปัจจัยอื่น อายุขององค์กร, จำนวนสมาชิก, ความประสบความสำเร็จใหญ่ ๆ, เรื่องอื้อฉาวที่โด่งดัง, หรือปัจจัยเฉพาะขององค์กรที่อาจนำมาพิจารณา

พูดถึงวิกิพีเดียอังกฤษอาจเพราะบทความสถานศึกษาในวิกิพีเดียไทยยังน้อยอยู่ และมีกลุ่มคนที่สนใจอยู่ เช่นคุณซะซะคุโบะและสมาชิกวิกิสถานศึกษาอื่นๆ ส่วนเรื่องผ่อนคลายกฎคงจะตรงกับหัวข้อนี้

--N.M. | พูดคุย 19:49, 16 มกราคม 2555 (ICT)

ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยวางกฎทั้งหมด กฎของเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไขครับ (วันนี้แค่ 2 วันเอง) --N.M. | พูดคุย 20:12, 16 มกราคม 2555 (ICT)

อยากเน้นว่า บทความที่ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวควรไปรวมกับบทความอื่นครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ฯลฯ --Horus | พูดคุย 20:56, 20 มกราคม 2555 (ICT)

ผมเห็นด้วยนะครับ ถ้าการอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของโรงเรียน จะอ้างอิงจากเว็บไซต์ของโรงเรียนนั้นๆ แต่ในส่วนของความสำคัญของบทความ ควรจะใช้แหล่งข้อมูลอื่นเข้ามาอ้างอิงเพิ่มเติม หากเราใช้กฏเกณฑ์ความโดดเด่น เข้ามาพิจารณาแล้ว บทความโรงเรียนจำนวนมาก ก็ไม่เข้าข่ายที่มีความโดดเด่น เช่น เป็นโรงเรียนประจำอำเภอ เป็นต้น แต่ผมกลับคิดว่าในเบื้องต้นควรจะให้ความสำคัญในเรื่องของ การโฆษณา เป็นหลัก เพราะวิกิพีเดีย คงไม่ใช่สถานที่ที่จะโฆษณาเชิญชวนให้คนมาเรียนที่โรงเรียนนี้ รวมไปถึงการกล่าวในทางเสียหายแก่โรงเรียนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเห็นว่าการอ้างอิงในทุกบทความ ต้องอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลภายนอกเป็นสำคัญ หมายรวมถึงบทความประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น โรงพยาบาล พรรคการเมือง บริษัท หน่วยงานของรัฐ เป็นต้น หากบทความเหล่านี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การอ้างอิงจากภายนอกนี้ ผมเห็นว่าก็ควรจะพิจารณา ติดป้าย หรืแจ้งลบ หรือดำเนินการตามลักษณะที่น่าจะเป็น --Pongsak ksm 11:31, 21 มกราคม 2555 (ICT)

งั้นขอแยกเป็นดังนี้นะครับ

  • ส่วนข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ประวัติ สัญลักษณ์ สถานที่ วิชาการ กิจกรรม ให้ใช้แหล่งอ้างอิงจากภายใน (หรือภายนอกถ้าทำได้)
  • ส่วนข้อมูลความโดดเด่น ได้แก่ เกียรติประวัติ บุคคลสำคัญ ข่าว ให้ใช้แหล่งอ้างอิงจากภายนอก

โดยเนื้อหาที่อ้างอิงในบทความจะต้องมีมุมมองที่เป็นกลางเพื่อป้องกันการหาประโยชน์โดยตรงจากวิกิพีเดีย หากทุกท่านยอมรับข้อนี้ผมจะเพิ่มเติมในรูปแบบการเขียนของโครงการวิกิสถานศึกษาหลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องสำหรับบทความสถานศึกษา บทความหน่วยงานอื่นๆที่คุณพงษ์ศักดิ์ยกมาก็ได้ครับ และผมเห็นด้วยกับคุณฮอรัสที่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ให้รวมกับบทความอื่น เว้นแต่ถ้ามีความโดดเด่นพอจึงสามารถให้เป็นบทความแยกออกมาได้ครับ

อีกอย่างคืออยากจะขอให้ช่วยชี้แจงไปยังผู้เขียนบทความให้ทราบด้วยครับ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหน่วยงานสถานศึกษาที่ได้รับมอบหมายมา บางทีเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมบทความที่เขาเขียนจึงถูกแจ้งลบออกหรือติดป้ายไปซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเลิกเขียนไปเลย (อาจมีด่าบ้างในบางครั้ง) จะทำให้ปัญหาถูกทิ้งไว้จนเป็นภาระครับ

--N.M. | พูดคุย 20:11, 23 มกราคม 2555 (ICT)


สรุป

ขอบคุณทุกคนที่ร่วมอภิปรายเพื่อพัฒนาบทความครับ --N.M. | พูดคุย 19:41, 30 มกราคม 2555 (ICT)