วิกิพีเดีย:คำแนะนำสำหรับเด็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิกิพีเดีย เป็น "สารานุกรมที่ทุกคนสามารถแก้ไขได้" แต่มีกฎบางอย่าง ไม่มีการจำกัดอายุในการแก้ไขวิกิพีเดียหรือเขียนบทความใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของสิ่งที่คุณเขียน การเปลี่ยนแปลงที่คุณทำกับสิ่งที่คนอื่นเขียน และวิธีที่คุณทำงานร่วมกับผู้เขียนคนอื่น ๆ เป็นไปได้มากว่าคุณจะต้องการคำแนะนำพื้นฐาน และนั่นคือสิ่งที่เราหวังว่าจะให้คุณที่นี้ อ่านต่อไปเพื่อดูลิงก์ไปยังข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจวิกิพีเดีย

ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ครู หรือผู้ใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการอ่านข้อมูลนี้เช่นเดียวกับอ่าน วิกิพีเดีย:คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง

ความปลอดภัยของตัวคุณเอง และสัพเพเหระ[แก้]

พื้นฐาน[แก้]

  • จงรอบคอบกับสิ่งที่คุณเขียน: อย่าโพสต์ที่อยู่ของคุณเด็ดขาด และอย่าใช้ชื่อจริงมาเป็นวิกิพีเดีย:ชื่อผู้ใช้ เวลาเลือกชื่อผู้ใช้ ให้เลือกนามแฝงหรือชื่ออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อจริง อายุ หรือที่อยู่ อาจมีผู้ไม่หวังดีใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อดูว่าจริง ๆ แล้วคุณเป็นใคร โดยเฉพาะเมื่อคุณใช้ข้อมูลและชื่อผู้ใช้เดียวกันกับเว็บไซต์อื่น อย่าแก้ไขบทความโรงเรียนของคุณ เพราะนั่นจะเป็นการบอกคนร้ายว่าจะเจอคุณได้ที่ไหน!
  • อย่าเขียนบทความเกี่ยวกับตัวเอง – ถ้าคุณเป็นบุคคลที่สำคัญจริง ๆ คนอื่นสักคนจะมาเขียนบทความเกี่ยวกับคุณให้เอง
  • ถ้าคุณลงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ตั้งใจ ให้ขอให้ผู้แลระบบมาช่วยลบออกให้ ที่จริงถึงแม้ว่าคุณไม่ได้ร้องขอ ก็จะมีผู้ดูแลระบบหรือผู้ใช้อื่นมาลบออกให้ ถ้าพวกเขารู้ว่าคุณยังเป็นเด็กอยู่ โปรดอย่าอารมณ์เสีย ที่ทำไปก็เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

รูปถ่ายของตัวคุณเอง ของเพื่อน หรือของครอบครัวคุณ[แก้]

  • อย่าลงรูปถ่ายของตัวคุณเอง ของเพื่อน หรือของครอบครัวคุณไม่ว่าที่ใดก็ตามในวิกิพีเดีย ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้รูปเหล่านั้นเพื่อสืบหาว่าคุณเป็นใครในชีวิตจริง โดยเฉพาะเมื่อคุณลงรูปเดียวกันไว้ในเว็บอื่นด้วย
  • อย่าเอ่ยว่าคุณ เพื่อน หรือครอบครัวของคุณอยู่ในรูป เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวของคุณและพวกเขา บางครั้ง (ซึ่งอาจพบได้ยากมาก) คุณอาจพบว่าตัวคุณเอง เพื่อนฝูง หรือครอบครัวคุณบังเอิญติดอยู่ในรูปบนวิกิพีเดีย กรณีนี้อย่าแก้ไขวิกิพีเดียหรือหน้าผู้ใช้เพียงเพื่อบอกว่ามีคุณหรือพวกเขาอยู่ในรูป
  • บอก ผู้ปกครอง เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ที่คุณรู้จักเป็นการส่วนตัว เมื่อคุณเห็นพวกเขาอยู่ในรูป (ผ่านทางการพูดคุยกัน, ทางจดหมาย, ทางอีเมล์ หรืออื่น ๆ ที่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถได้ยินหรืออ่านเกี่ยวกับสื่งที่คุณบอกกับพวกเขาได้)

การใช้บัญชี[แก้]

  • เมื่อคุณมีบัญชีแล้ว: ควรลงชื่อเข้าใช้เมื่อจะแก้ไข
  • รหัสผ่าน: อย่าบอกรหัสผ่านกับใครทั้งสิ้น
  • การยืมใช้บัญชี: อย่าให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงใช้บัญชีของคุณ ถ้าพวกเขาทำอะไรผิดพลาดไป คุณเองที่จะเป็นผู้รับความผิดนั้น
  • ลงชื่อออกจากระบบ: ทุกครั้งที่คุณไม่ใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่ใช้ร่วมกันหลายคน
  • การใช้หลายบัญชี: อย่าใช้มากกว่าหนึ่งบัญชี เว้นแต่ว่าคุณมีเหตุผลที่ดี

การขอความช่วยเหลือ[แก้]

เอ่ยคำถามออกมา!

วิกิพีเดียเป็นความร่วมมือกันของชุมชน มีผู้ใช้หลายรายยินดีที่จะช่วยเหลือคุณ

  • ความช่วยเหลือทั่วไป หากคุณต้องการทราบว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร แวะชม วิกิพีเดีย:สภากาแฟ เพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ใช้ที่มีประสบการณ์มากกว่า
  • ความช่วยเหลือเร่งด่วน หากคุณต้องการพูดคุยกับผู้ใช้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ดูแลระบบที่ออนไลน์อยู่ อาจใช้ดิสคอร์ดก็ได้
  • ความช่วยเหลือเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ถ้าคุณได้ลงข้อมูลส่วนตัวไปแล้วและต้องการที่จะลบออกจากประวัติของหน้า ให้ไปที่ วิกิพีเดีย:แจ้งผู้ดูแลระบบ

คุณจะมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียอย่างไร?[แก้]

จริง ๆ คุณก็มีส่วนร่วมบนวิกิพีเดียได้เหมือนกับทุก ๆ คนนั่นแหละ – ส่วนใหญ่ก็โดยการปรับปรุงพัฒนาบทความที่มีอยู่แล้ว หรือเขียนบทความใหม่ ๆ เพิ่ม หลังจากการแก้ไขในครั้งแรก ๆ คุณอาจจะได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้คนอื่นบนวิกิพีเดียผ่านการพูดคุยบนหน้าพูดคุยของคุณ อธิบายถึง "ห้าเสาหลักของวิกิพีเดีย" – นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้เลยล่ะ

  • หากคุณอยากเขียนบทความใหม่ที่ควรค่าแก่วิกิพีเดีย ถือว่าคุณทำให้สารานุกรมนี้พัฒนาขึ้น และนั่นคือเหตุผลที่เรามาอยู่ที่นี่ บทความใหม่หลายบทความถูกลบไปเพราะผู้คนไม่รู้อะไรที่ควรมี และอะไรที่ไม่ควรมีในบทความ คำตอบนั้นอยู่ที่ วิกิพีเดีย:อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย หากบทความของคุณถูกลบ อย่าได้ผิดหวังหรือโกรธแค้นเป็นการส่วนตัว ผู้ใช้ชั้นยอดหลายคนเคยมีประสบการณ์ถูกลบความมาแล้ว
  • ช่วยเก็บกวาด เพราะว่าวิกิพีเดียแก้ไขได้ง่าย หลายคนคิดว่าทำอะไรไร้สาระแล้วสนุกดี แต่เราไม่คิดเช่นนั้น เราเรียกมันว่า การก่อกวน ซึ่งจะถูกจัดการอย่างเป็นจริงเป็นจัง ผู้ก่อกวนอาจไม่ได้รับความเชื่อถือให้แก้ไขสารานุกรมอีกต่อไป หากคุณพบเห็นสิ่งที่ไร้สาระหรือหยาบคายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บไว้ คุณสามารถลบสิ่งเหล่านั้นออกได้ เมื่อคุณคุ้นชินกับการแก้ไขแล้ว คุณอาจจะเข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับบทความและวิธีการดำเนินงานของวิกิพีเดียได้
  • ถ่ายภาพ หลายบทความจะดูดีขึ้นเมื่อมีรูปประกอบ คุณสามารถอัปโหลดรูปถ่ายสร้างภาพเพื่อประกอบบทความได้ แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกรูปที่คุณพบเจอจะใช้ได้ ส่วนมากมีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ซึ่งมีไว้เพื่อไม่ให้รูปถูกใช้อย่างไม่จำกัดสถานที่ คุณสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิกิพีเดีย:นโยบายการใช้ภาพ ถึงแม้ว่าคุณจะอัปโหลดรูปถ่ายที่คุณเป็นเจ้าของ รูปก็ยังอาจถูกลบได้ถ้าคุณเลือกสิทธิในการใช้รูปไม่ถูกต้องในหน้าอัปโหลด รูปในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ได้
  • วิกิพีเดียไม่ใช่อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ หน้าผู้ใช้ของคุณไม่ใช่ที่สำหรับเรียกร้องความสนใจจากโลกนอกวิกิพีเดียมายังตัวคุณ หน้าผู้ใช้เป็นที่ที่เราให้ชาววิกิพีเดียรู้จักตัวคุณขึ้นมานิดหน่อย และบอกว่าคุณทำอะไรในวิกิพีเดีย งานเพียงอย่างเดียวของที่นี่คือการปรับปรุงสารานุกรม ไม่ใช่การจับกลุ่มเล่นเกมกับเพื่อนหรือชวนให้คนเข้าติดตามเพจ ลองใช้หน้ากระบะทรายวิกิ เพื่อเรียนรู้ว่าโค้ดวิกิทำงานอย่างไร โดยไม่กระทบกับบทความ
  • แก้ไขให้สนุก ทำสิ่งที่คุณถนัดและรู้สึกสนุก พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม ร่วมเขียนวิกิพีเดียเพราะว่าชอบที่ได้ใช้เวลาว่างกับวิกิพีเดีย ประมาณงานอดิเรกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ถ้าคุณสนุกกับการแก้ไขคำผิด ก็จงทำ ถ้าคุณชอบลบลิงก์ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ก็จงทำ ถ้าคุณสนุกกับการลบและรายงานการก่อกวน ก็จงทำ ถ้าสนุกที่ได้ใช้เวลาค้นหาแหล่งข้อมูลในห้องสมุดเพื่อนำมาเขียนบทความ ก็จงทำ

การเขียนบทความ[แก้]

ที่วิกิพีเดียมีหลายนโยบายที่เกี่ยวกับเนื้อหาบทความ

วิกิพีเดียมีนโยบายหลายข้อเกี่ยวกับบทความ ด้านล่างนี้คือนโยบายที่สำคัญเป็นพิเศษ:

  • ชีวประวัติ สารานุกรมมีหลายบทความที่เกี่ยวกับบุคคล บางบทเกี่ยวกับบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว และบางบทก็เกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เราต้องระมัดระวังสิ่งที่เราเขียนเกี่ยวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นพิเศษ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่หน้า วิกิพีเดีย:ชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ สิ่งที่คุณเขียนเกี่ยวกับบุคคล จะต้องมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมายืนยัน เราต้องการหลักฐานมาพิสูจน์ และเราไม่สามารถใส่ทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับคน ๆ หนึ่งลงไปในบทความ ถ้าหากข้อมูลนั่นเป็นจริง ก็เป็นเพราะว่าข้อมูลนั้นมีอยู่ในหนังสือพิมพ์เจ้าสำคัญ ๆ หรือหนังสือที่มีชื่อเสียง หรือไม่ก็มีการกล่าวถึงอย่างสำคัญในโทรทัศน์ คุณสามารถยืนยันว่าบุคคลที่คุณจะเขียนถึงมีความโดดเด่นเพียงพอด้วยการใส่แหล่งอ้างอิง หากคุณใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงก็อาจมีผู้อ่านจำนวนมากรับข้อมูลผิด ๆ นี้จนทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง และอาจเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างก็ไม่น่าสนใจแม้จะว่าจะเป็นเรื่องจริง อันที่จริงแล้วไม่มีข้อจำกัดถ้าคุณจะใส่ชื่อของลูก ๆ หรือหมาที่เขาเลี้ยง กระทั่งมื้อเช้าที่เขากิน หากคุณไม่แน่ใจว่าจะใส่ลงไปไหม ให้อภิปรายกับผู้ใช้อื่นก่อน วิกิพีเดีย:แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และ วิกิพีเดีย:การอ้างอิงแหล่งที่มา จะช่วยอธิบายวิธีการอ้างอิงเนื้อหาที่ถูกต้อง แม้คุณจะคิดว่าครอบครัวตัวเองมีความโดดเด่น ก็อย่าเขียนบทความเกี่ยวกับตัวคุณเอง
  • ความโดดเด่น ทุกบทความจะต้องมีหัวข้อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพียงพอ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ความโดดเด่น ถ้าหากหัวข้อไม่โดดเด่น บทความนั้นก็จะถูกผู้ดูแลระบบลบไป และบางครั้งก็เร็วมากเสียด้วย! วงเดอะบีเทิลส์ถือเป็นวงที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียง เพราะบทเพลงของวงเป็นที่จดจำของสังคมไปตลอดกาล แต่ถ้าเป็นวงดนตรีที่ฝึกซ้อมกันในโรงเรียน (หรือช่องยูทูบที่คุณรวมกลุ่มกับเพื่อนในห้อง) ก็คงจะไม่พร้อมสำหรับการมีบทความบนวิกิพีเดีย ถึงแม้จะได้เล่นในงานประจำปีของโรงเรียนก็ตาม
  • บางส่วนของสารานุกรมไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ที่วิกิพีเดียไม่มีการเซนเซอร์ เรามีบางอย่างที่ผู้ปกครองของคุณอาจจะไม่อยากให้คุณเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น โปรดปรึกษาเรื่องการแก้ไขวิกิพีเดียของคุณกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
  • การลอกเนื้อหามาจากที่อื่น เราเรียกสิ่งนี้ว่าการลอกเลียนวรรณกรรม (ขโมยงานผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง) เช่นการใช้รูปของผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง ซึ่งจะถูกลบอย่างรวดเร็วถ้าหากไม่มีการอนุญาตเป็นพิเศษ ทำนองเดียวกันกับการลอกการบ้านเพื่อน
  • ระดับภาษา มีผู้คนหลายล้านคนใช้งานวิกิพีเดีย ในจำนวนนั้นอาจจะมีนักธุรกิจรายใหญ่ นักการเมือง หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยรวมอยู่ด้วยก็เป็นได้ ฉะนั้นข้อความที่คุณเขียนลงไปในบทความจะต้องอยู่ในรูปแบบภาษาที่สุภาพและเป็นทางการ ไม่ใช้ภาษาระดับเดียวกับที่พบตามนิตยสารหรือบล็อกที่คุณชื่นชอบ ให้คิดเสียว่าระดับภาษาที่ควรใช้ในวิกิพีเดียก็เหมือนกับสำนวนการเขียนที่ใช้ในหนังสือเรียนของคุณ ตามปกติ คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์หรืออักษรย่อ เช่น ใช้ "กรกฎาคม" แทน "ก.ค." แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็ไม่ต้องกังวล เพราะบางครั้งก็จะมีผู้ใช้อื่นมาช่วยขัดเกลาภาษาในบทความให้คุณ

ทำงานร่วมกับผู้อื่น[แก้]

การทำงานร่วมกับผู้อื่นถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จของวิกิพีเดีย

บทความส่วนใหญ่ แม้แต่บทความที่คุณเป็นคนเริ่มสร้าง จะมีผู้อื่นเข้าอื่นเข้ามาต่อเติมและพัฒนาต่อยอดอยู่เสมอ การทำงานร่วมกันถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสารานุกรมนี้ ผู้ใช้อื่นก็กำลังพยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน เป็นการดีที่คุณจะเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น จงอย่าตะคอกใส่ผู้อื่นว่าคุณไม่ชอบสิ่งที่เขาลบออกไปหรือใส่เข้ามา ขอให้คุณพูดคุยอย่างเป็นมิตรที่หน้าอภิปรายของบทความ

  • พูดคุยกับผู้อื่นด้วยความสุภาพ ผู้เขียนต้องมีความสุภาพและไม่เรียกขานชื่อของคนอื่น ๆ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหา โปรดพูดคุยซึ่งปัญหานั้นและพยายามแก้ปัญหาอย่างใจเย็น อย่ามัวแต่แก้ไขเนื้อหาบทความไป ๆ มา ๆ (เราเรียกมันว่าเป็นสงครามการแก้ไข) หรือใส่ข้อความที่ประชดประชันลงในสรุปการแก้ไข นอกจากนี้เรายังมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถใช้ขอความช่วยเหลือได้หากปัญหานั้นลุกลามเกินกว่าคุณจะรับมือได้ไหว ดังนั้น จงมีความระมัดระวังมาก ๆ ในการพูดคุยกับผู้อื่นลนหน้าพูดคุย คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคู่สนทนาของคุณจริง ๆ แล้วเป็นใคร บางทีคนนั้นอาจจะเป็นคนที่ชอบอะไรตลก ๆ แนวเดียวกันกับคุณก็ได้ หรืออาจจะเป็นคนที่มองว่าคุณไร้มารยาทหากคุณพูดคุยด้วยภาษาที่ไม่เป็นทางการหรือเป็นภาษาปากเกินไป คนนั้นอาจจะเป็นคนร่วมวัยเดียวกับคุณ เด็กกว่า หรือแก่กว่าก็ได้
  • รับฟังคำแนะนำ หากมีใครบางคนชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดที่คุณทำ ขอบคุณพวกเขาที่ช่วยบอกให้คุณทราบ และอย่าคิดไปในทางลบ ถ้าหากใครบางคนแสดงความกังวลถึงการแก้ไขของคุณ จงอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมคุณถึงทำแบบนั้น เราทุกคนต่างได้เรียนรู้จากความคิดเห็นและคำติชมของกันและกันอยู่เสมอ ๆ
  • คำเตือน ถ้าคุณได้รับข้อความเตือน ให้อ่านอย่างละเอียดว่าข้อความนั้นบอกถึงอะไร บางทีคุณอาจทำบางอย่างพลาดไป ถ้าสิ่งที่เตือนมานั้นเป็นเรื่องจริง จงหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองทำพลาดซ้ำอีกหน หากคุณคิดว่าสิ่งที่เตือนมานั้นไม่เป็นความจริง ให้พูดคุยอย่างสุภาพกับผู้ที่ส่งข้อความเตือนให้คุณ หรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้อื่น
  • ปัญหา ถ้าเกิดมีใครทำเสียมารยาทกับคุณ และถ้าเขาไม่ยอมหยุดทั้งที่คุณขอให้เขาหยุดแล้ว ก็อย่าทำเสียมารยาทกลับ เพราะจะไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คุณควรแจ้งผู้ดูแลระบบแทน
  • เคารพประสบการณ์ของผู้ใช้คนอื่น บางครั้งผู้ใช้บางรายอาจจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่คุณกำลังแก้ไขอยู่มากกว่าตัวคุณเองก็เป็นได้ การมีส่วนร่วมของคุณก็สำคัญเช่นเดียวการมีส่วนร่วมของผู้ใช้คนอื่น ๆ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้บางคนอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญหัวข้อนั้น ๆ ในระดับแนวหน้าของโลก หากว่าคุณต้องการให้ผู้ใช้อื่นเคารพตัวคุณและสิ่งที่คุณทำ ก็จงเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่นเสียก่อน
  • กิตติศัพท์ ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่ตัดสินคุณจากอายุ แต่พวกเขาจะตัดสินคุณจากความเป็นผู้ใหญ่ที่คุณแสดงออกมา เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะเป็นที่กล่าวขานเพราะคุณภาพของงานที่คุณทำและวิธีที่คุณเข้าหาผู้ใช้อื่น
  • ลายเซ็นของคุณ คุณสามารถสร้างลายเซ็นในแบบของคุณได้ แต่โปรดจำไว้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในหน้า วิกิพีเดีย:ลายเซ็น ลายเซ็นควรอ่านได้ง่ายและมีลิงก์ไปยังหน้าพูดคุยของคุณ

โครงการวิกิพีเดีย[แก้]

หัวข้อบางอย่างมีหน้าโครงการวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีความสนใจร่วมกันในหัวข้อหนึ่ง ๆ พวกเขาร่วมกันดูแลและปรับปรุงบทความที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเขียนบทความเกี่ยวกับโรงเรียนของคุณ คุณก็อาจแวะชมโครงการวิกิสถานศึกษา ที่ซึ่งมีคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างบทความโรงเรียน อย่ารังเกียจที่จะเข้าร่วมโครงการวิกิที่คุณสนใจ เพราะนั่นคือที่แรกที่คุณจะได้รับคำแนะนำว่าเนื้อหาควรเป็นเช่นใด

การเป็นที่จดจำ[แก้]

ไอคอนเหล่านี้อาจจะดูน่าภาคภูมิใจ แต่คุณไม่ควรยึดถือมันเป็นแรงจูงใจเพียงอย่างเดียวในการมีส่วนร่วมในบทความต่าง ๆ

มีหลายวิธีที่ชาววิกิพีเดียยอมรับผลงานของผู้ใช้อื่น

  • บทความจะถูกประเมิน โดยอาศัยความเชื่อมั่นว่าผู้ใช้ที่มีประสบการณ์จะให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในการประเมินงานของผู้ใช้อื่น หลายบทความถูกสร้างไว้เป็น 'โครง' บางบทความก็ถูกพิจารณาจนกลายเป็นบทความคุณภาพ หรือกระทั่งเป็นบทความคัดสรร ซึ่งแปลว่าบทความนั้นเป็นหนึ่งในบทความที่ดีที่สุดของวิกิพีเดีย บทความที่สร้างใหม่หรือปรับปรุงเพิ่มเติม โดยมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ด้วย จะถูกเพิ่มไปยังส่วน รู้ไหมว่า ที่อยู่บนหน้าหลัก
  • ชนะและได้รับรางวัล อย่ากลัวที่จะมีส่วนร่วมในผลงานชิ้นคัดสรรที่ดีที่สุดของวิกิพีเดีย และอย่ากลัวที่จะสร้างสรรค์ผลงานเช่นนั้นขึ้นมาสักชิ้น แต่โปรดจำไว้เสมอว่า วิกิพีเดียคือการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สารานุกรม ในขณะเดียวกันก็สนุกสนานไปกับมันด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันเพื่อให้ได้ซึ่งรางวัลอย่างเดียว ถ้าคุณสร้างบทความที่ต่อมาถูกนำไปแสดงในฐานะบทความ "รู้ไหมว่า" หรือ "บทความคุณภาพ" คุณควรที่จะภูมิใจกับสิ่งเหล่านั้นนะ แต่ก็ยังมีผู้ใช้บางคนที่เสียเวลาเยอะไปหน่อยกับการมัวแต่กังวลกับปริมาณของรางวัลที่ได้รับ
  • ดาวเกียรติยศ คุณอาจได้รับ "ดาวเกียรติยศ" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการมีส่วนร่วมในบทความอย่างโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง หรืออาจเป็นงานเก็บกวาดที่พิเศษ การ "แลกเปลี่ยน" ดาวเกียรติยศ เช่น "กันจะให้ดาวแกหนึ่งดวง หากแกให้ดาวกัน" ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก คุณไม่ควรมอบดาวเกียรติยศอย่างขอไปที

ผู้ดูแลระบบ[แก้]

ไม้ถูพื้นของภารโรงประจำวิกิพีเดีย

ผู้ดูแลระบบคือกลุ่มผู้ใช้ที่สามารถใช้เครื่องมือพิเศษได้ เครื่องมือนี้ช่วยให้วิกิพีเดียดำเนินงานต่อไปได้อย่างปกติ พวกเขาใช้เครื่องมือนี้ได้เพราะว่าเขาได้รับความเชื่อถือจากชุมชนผู้ใช้ แต่ถึงอย่างก็นั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาพิเศษมากกว่าผู้อื่น คล้ายกับการมอบหมายให้เป็นภารโรง ผู้ซึ่งมีกุญแจไขห้องหรือสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะกุญแจไขตู้เก็บไม้ถูพื้น จากนั้นพวกเขาจะเดินไปรอบ ๆ บริเวณเพื่อทำความสะอาดคราบสกปรกที่ผู้อื่นทำไว้ บางครั้งพวกเขาก็ล็อกประตูเพื่อหยุดไม่ให้ผู้คนทำเลอะเทอะกว่าเดิม และก็บางทีก็ห้ามผู้ใช้ไม่ให้แก้ไข

ส่งท้าย[แก้]

หลายคนคิดว่าเด็ก ๆ ที่เข้ามาเขียนวิกิพีเดียยังขาดวุฒิภาวะ ความรู้ ทักษะ หรือกระทั่งเจตคติที่จำเป็นต่อการแก้ไขวิกิพีเดีย บางครั้งเหล่าเยาวชนของเราทำให้พวกเขาคิดผิด

ดูเพิ่ม[แก้]