วิกิพีเดีย:กฎพื้นฐานสิบข้อในการแก้ไขวิกิพีเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียงความนี้ในรูปแบบพิมพ์

วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก มีบทความในภาษาไทย 163,328 บทความ และอาจเป็นประมวลความรู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยรวบรวมมา และเป็นที่แน่นอนว่าเข้าถึงได้ในวงกว้างที่สุด ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถแก้ไขวิกิพีเดียได้ แต่ข้อมูลที่พวกแก้ไขนั้นเชื่อถือได้หรือไม่? จากการศึกษาในปี 2548 ของวารสารเนเจอร์พบว่าบทความวิทยาศาสตร์ในวิกิพีเดียสามารถเทียบเคียงได้กับสารานุกรมที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ[1] แสดงให้เห็นว่ากลุ่มอาสาสมัครสามารถสร้างและคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่มีความแม่นยำสูงได้

ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้คนยังคงถูกแนะนำให้มายังวิกิพีเดียเวลาค้นเว็บเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ[2] จึงมีความต้องการให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมในวิกิพีเดีย เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว การเข้ามีส่วนร่วมในวิกิพีเดียเป็นวิธีที่ดีในการบรรลุความรับผิดชอบที่มีต่อสาธารณะ (public engagement responsibilities) และแบ่งปันความรู้ความชำนาญ ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนวิกิพีเดียที่เป็นนักวิทยาศาสตร์สามารถบูรณาการข้อมูลทางชีววิทยากับวิกิพีเดียเพื่อส่งเสริมการให้ความเห็นภายในชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ[3][4] ซึ่งนอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ในวงกว้างขึ้นผ่านวิกิพีเดีย ผู้เขียนบางคนใช้แบบจำลองทางโค้ดวิกิพีเดียพัฒนาฐานข้อมูลที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญ[5][6][7][8] คุณอาจรู้สึกประหม่าในช่วงแรก ๆ ที่ใช้วิกิพีเดีย เราจึงได้จัดเตรียมเกร็ดความรู้ที่จะช่วยให้การแก้ไขเป็นไปอย่างราบรื่น

ข้อที่ 1 สร้างบัญชีผู้ใช้[แก้]

ถึงแม้ทุกคนจะสามารถแก้ไขวิกิพีเดียได้ แต่การสร้างบัญชีผู้ใช้จะช่วยอำนวยความสะดวกหลายประการ ประการแรกคือช่วยในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย แม้จะฟังดูขัดกับความรู้สึก ผู้เขียนที่ลงทะเบียนโดยใช้นามแฝงสามารถปกปิดข้อมูลได้ดีกว่าผู้เขียนที่ไม่ได้ลงทะเบียน ผู้เขียนบางคนเลือกที่จะเชื่อมโยงตัวตนในชีวิตจริงกับบัญชีในวิกิพีเดีย ขอให้ทราบว่าผู้ใดก็ตามสามารถดูประวัติการแก้ไขทั้งหมดผู้ใช้ หากคุณเลือกเปิดเผยตัวตนในชีวิตจริง อาจมีนักท่องเว็บช่างสงสัย ซึ่งอาจเป็นเพื่อร่วมงาน นักเรียน หรือนายจ้างในอนาคตของคุณเข้ามาสอดส่อง ประการที่สอง กิตติศัพท์ในทางที่ดีเป็นประโยชน์ในการแก้ไขวิกิ ซึ่งเป็นหลักเดียวกับในวงวิชาการ เมื่อคุณเข้าสู่ระบบ คุณสามารถบันทึกประวัติการแก้ไขไว้ได้และช่วยให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้ใช้อื่นง่ายขึ้นเมื่อมีบัญชีเป็นหลักแหล่งและมีประวัติการแก้ไขที่เป็นที่รับรู้ ประการสุดท้าย การสร้างบัญชีผู้ใช้ช่วยให้เข้าถึงตัวเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น "รายการเฝ้าดู" สำหรับเฝ้าดูบทความที่คุณเคยแก้ไข

ข้อที่ 2 ศึกษาห้าเสาหลัก[แก้]

วิกิพีเดียมีหลักการกว้าง ๆ ที่เรียกว่า "ห้าเสาหลัก" ที่ผู้ใช้ทุกคนถูกคาดหวังว่าจะยึดถือเมื่อมีส่วนร่วมในวิกิพีเดีย บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์คือการได้เห็นว่าวิกิพีเดียไม่ใช่ผู้เผยแพร่แนวคิดหรืองานค้นคว้าต้นฉบับ ฉะนั้นวิกิพีเดียจึงไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมทฤษฎีที่คุณสนใจเป็นการส่วนตัวหรือแบ่งปันผลการศึกษาที่ยังไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ นอกจากนี้วิกิพีเดียไม่ใช่แท่นปราศรัยสำหรับอธิบายทฤษฎีส่วนบุคคลหรือสนามอภิปรายปัญหาที่มีข้อโต้แย้ง ในประเด็นนี้ วิกิพีเดียแตกต่างจากสื่อสมัยใหม่อื่น ๆ เช่นบล็อก ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ใช้แทรกความคิดเห็นของตนเองลงไป การเข้ามีส่วนร่วมในวิกิพีเดียเป็นเรื่องที่สนุกไปด้วยได้ เป็นส่วนหนึ่งของความกระตือรือร้นที่มีต่อวิทยาศาสตร์ของคุณ กระนั้นก็ยังเกิดความไม่ลงรอยทางความเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะบนหน้าที่มีไว้เพื่ออภิปรายว่าจะปรับปรุงบทความอย่างไร ขอให้คุณปฏิบัติกับผู้เขียนอื่นในฐานะผู้ที่ทำงานงานร่วมกันและรักษาความเคารพและความเป็นอารยชนแม้ในเวลาที่ความเห็นไม่ตรงกัน หากคุณเริ่มรู้สึกตึงเครียดกับการปฏิสัมพันธ์เรื่องหนึ่ง ขอให้ออกจากระบบและกลับมาใหม่ในภายหลัง วิกิพีเดียไม่มีเส้นตาย ต่างจากกิจการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่

ข้อที 3 ขอให้กล้า แต่อย่าสะเพร่า[แก้]

วิกิแต่ละที่อยู่รอดและเติบโตได้ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ วิกิพีเดียมีเนื้อหามากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ความก้าวหน้าของวิกิพีเดียขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอของอาสาสมัครแต่ละคน ดังนั้นวิกิพีเดียจึงส่งเสริมให้ผู้ใช้ทุกคนกล้าที่จะแก้ไข เช่น ถ้าคุณพบข้อผิดพลาดในบทความ ก็ขอให้คุณแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น, ถ้าคุณสามารถปรับปรุงบทความได้ ก็จงทำ อย่างไรก็ดี ความกล้าที่มากเกินไปอาจมาพร้อมกับความสะเพร่า คุณจึงควรเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน เช่นแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบทความที่มีอยู่แล้วในวิกิพีเดีย เมื่อคุณมีประสบการณ์มากขึ้น คุณอาจขยับไปชำระบทความให้มีเนื้อหาที่แม่นยำและทันสมัย ผู้เขียนหน้าใหม่หลายคนรู้สึกประหม่าเมื่อเริ่มเขียนวิกิพีเดีย โดยกลัวว่าตนเองจะทำผิดพลาด ซึ่งถือว่าเข้าใจได้ ในกรณีที่ร้ายที่สุด การแก้ไขในช่วงแรก ๆ ของคุณอาจถูกมองว่าไม่เป็นการพัฒนาสารานุกรมและถูกย้อนกลับ หากเกิดกรณีนี้ขึ้นก็ขอให้ถือเป็นบทเรียน และขอคำแนะนำหรือสอบถามผู้ใช้ที่ย้อนการแก้ไขของคุณ

ข้อที่ 4 คำนึงถึงผู้อ่าน[แก้]

วิกิพีเดียไม่ได้มุ่งเป้าให้ผู้เชี่ยวชาญอ่าน ดังนั้นระดับความลึกของเนื้อหาจะต้องสมดุลเพียงพอให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอ่านเข้าใจ เมื่อเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ขอให้คุณจินตนาการว่าคุณได้รับมอบหมายให้เขียนบทความที่มีเนื้อหาครอบคลุมให้นักเรียนมัธยมอ่าน การเขียนแนวคิดที่สลับซับซ้อนออกมาให้เข้าใจง่ายและปราศจากศัพท์เฉพาะอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็คุ้มค่าที่จะทำ คุณอาจได้ใช้ประโยชน์จากมันเวลาเขียนรายงานหรือสอนนิสิตนักศึกษา

ข้อที่ 5 ห้ามละเมิดลิขสิทธิ์[แก้]

ใครก็ตามสามารถใช้ซ้ำ ดัดแปลง แจกจ่ายเนื้อหาเกือบทั้งหมดของวิกิพีเดียได้อย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขบางประการ ด้วยเหตุนี้วิกิพีเดียจึงไม่สามารถรับเนื้อหาไม่เสรีซึ่งอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางลิขสิทธิ์ วารสารบางราย เช่นที่มาจาก Public Library of Science เผยแพร่เนื้อหาที่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์การเข้าถึงแบบเปิด (open-access license) ซึ่งเข้ากันได้กับการใช้ในวิกิพีเดียหากว่ามีการแสดงที่มาอย่างเหมาะสม แต่วารสารบางรายไม่เป็นเช่นนี้ ดังนั้นขอให้งดการคัดลอกข้อความหรือรูปภาพประกอบจากบทความวิชาการของคุณ (หรือของผู้อื่น) มายังวิกิพีเดีย มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และจะถูกลบ คุณสามารถอนุญาตให้วิกิพีเดียใช้งานเนื้อหาที่คุณเป็นเจ้าของได้ แต่กระบวนการอนุญาตนี้ไม่สามารถเพิกถอนได้และอาจใช้เวลานาน จึงเป็นการดีกว่าถ้าคุณนำเนื้อหามาเรียบเรียงใหม่ด้วยภาษาที่เรียบง่ายหรือดัดแปลงรูปภาพประกอบใหม่ให้เข้าใจง่าย ซึ่งดีต่อผู้อ่านวิกิพีเดียที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ (ตามข้อ 4)

ข้อที่ 6 อ้างอิง[แก้]

เพื่อรักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับสูงสุด วิกิพีเดียจึงมีนโยบายเกี่ยวกับการรับเนื้อหาที่เคร่งครัด ซึ่งระบุว่าเนื้อหาที่ใส่เข้ามาจะต้องพิสูจน์ยืนยันได้ วิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์ยืนยันคือการอ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีการเผยแพร่สู่สาธารณะกำกับไว้ท้ายประโยคแต่ละประโยคในบทความ (ดูข้อ 7 และ 8 เกี่ยวกับการอ้างอิงจากตนเอง) นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะที่สามารถเข้าถึงแหล่งงานเขียนได้หลายแหล่งและมีประสบการณ์การใช้อ้างอิงในบรรทัด (inline citation) เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงในงานเขียน โปรดกำกับแหล่งที่มาไว้ท้ายประโยคที่มีโอกาสถูกผู้เขียนอื่นคัดค้านในอนาคต เพราะเนื้อหาที่ขาดการพิสูจน์ยืนยันอาจถูกลบออกได้ทุกเมื่อ และเลือกใช้แหล่งอ้างอิงทุติยภูมิ เช่น บทวิจารณ์ ตำราวิชาการที่เป็นการตรวจสอบแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากกว่าบทความวิจัย การที่วิกิพีเดียเข้าถึงได้ง่ายทำให้บทความที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับให้ผู้ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกต่อไป ถ้าหากคุณใส่ไฮเปอร์ลิงก์ที่พาไปยังแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เข้าถึงได้อย่างเสรีไว้ในส่วนอ้างอิง (เช่น ฐานข้อมูลทางชีววิทยา หรือวารสารที่เข้าถึงได้แบบเปิด เป็นอาทิ) ผู้เขียนอื่นจะสามารถตรวจสอบเนื้อหาได้อย่างรวดเร็วและผู้อ่านสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (authoritative source) ที่กล่าวถึงหัวข้อนั้นในรายละเอียดที่ลึกกว่าได้

ข้อที่ 7 หลีกเลี่ยงการส่งเสริมตัวเอง[แก้]

หลายคนต้องการสร้างหรือแก้ไขบทความวิกิพีเดียที่เกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง วิกิพีเดียไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น หากว่าคุณมีความโดดเด่นมากเพียงพอจะมีบทความในสารานุกรม สักวันจะมีผู้อื่นมาเขียนบทความเกี่ยวกับตัวคุณเอง โปรดระลึกว่าชีวประวัติบุคคลในวิกิพีเดียไม่ได้อยู่ใต้การกำกับดูแลของคุณ ซึ่งต่างจากเว็บเพจส่วนตัว เนื้อหาที่กล่าวสรรเสริญคุณงามความดีของคุณจำนวนมากอาจเป็นแหล่งสะสมข้อมูลที่คุณไม่ต้องการให้เปิดเผย คุณอาจมีบทความที่เกี่ยวกับตัวคุณเองอยู่แล้วในวิกิพีเดีย แต่บทความนั้นมีข้อมูลที่ผิดเพี้ยนและคุณต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง วิธีที่คุณสามารถแก้ไขโดยไม่ผิดกฎคือ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของวิกิพีเดียที่ให้คุณแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณไว้ที่หน้าอภิปรายของบทความ แต่คุณต้องให้ผู้ใช้อื่นเป็นผู้เพิ่มเนื้อหาดังกล่าวเข้าสู่บทความ นอกจากนี้ขอให้ไตร่ตรองก่อนที่จะเขียนเกี่ยวกับอาจารย์ เพื่อนร่วมงาน คู่แข่ง สิ่งประดิษฐ์ หรือโครงการของคุณ หากทำเช่นนั้นคุณจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนและมีแนวโน้มที่จะเกิดความลำเอียงอย่างไม่ตั้งใจ หากคุณมีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือทางการเงินกับหัวเรื่องของบทความที่คุณแก้ไข ขอให้คุณประกาศความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ที่หน้าอภิปรายของบทความและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เขียนอื่นที่สามารถให้มุมมองที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงได้

ข้อที่ 8 แบ่งปันความรู้ความชำนาญ แต่อย่านำวุฒิมาโต้แย้ง[แก้]

การเขียนเกี่ยวกับหัวข้อที่คุณมีความเชี่ยวชาญไม่ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งยังเป็นวิธีมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียที่มีประสิทธิภาพมาก จิมมี เวลส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งของวิกิพีเดียกล่าวกับวารสารเนเจอร์ว่าผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมีความสามารถที่จะ "เขียนข้อมูลจำเพาะในลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย" ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพบทความอย่างมีนัยยะสำคัญ[1] เมื่อเขียนบทความที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของคุณ การอ้างอิงถึงเนื้อหาที่คุณเผยแพร่ในวารสารที่มีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน (peer review) ถือว่ากระทำได้หากเนื้อหานั้นมีความโดดเด่นเพียงพอ แต่ขอให้ใช้สามัญสำนึก (และย้อนกลับไปดูข้อ 7) ตัวอย่างเช่น คุณมีบทความที่คลุมเครือและยังไม่เคยถูกอ้างถึงอยู่ในวารสาร Journal of New Zealand Dairy Research ที่กล่าวถึงปริมาณอาร์เอ็นเอที่อยู่ในนมวัว และอ้างถึงบทความนี้ในส่วนนำของบทความ "อาร์เอ็นเอ" "น้ำนม" "วัวนม" และ "วิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม" ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี บางทีคุณอาจได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียนอื่นที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาเดียวกับคุณ ซึ่งอาจเป็นเรื่องน่าคับข้องใจสำหรับผู้เชี่ยวชาญบางคนและเป็นพื้นสาเหตุของความวิตกทางวิชาการในวิกิพีเดีย[1] ในกรณีนี้ขอให้ระลึกว่าคุณถูกประเมินจากเพียงการเข้ามีส่วนร่วมในวิกิพีเดีย ไม่ใช่จากการที่คุณเป็นใคร การรับรองคุณสมบัติ หรือความสำเร็จในสายงานของคุณ องค์ความรู้เฉพาะด้านของคุณควรจะทำให้คุณสามารถเขียนอย่างเป็นกลาง และสร้างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นอิสระจากหัวเรื่องเพื่อสนับสนุนการกล่าวอ้างของคุณได้ หากคุณไม่ได้ให้แหล่งข้อมูลเพื่อพิสูจน์เนื้อหาไว้ การมีส่วนร่วมของคุณสามารถถูกคัดค้านได้อย่างชอบธรรมโดยไม่คำนึงปริญญาใด ๆ ที่คุณมี

ข้อที่ 9 เขียนอย่างเป็นกลางและมีน้ำหนักเหมาะสม[แก้]

ทุกบทความในวิกิพีเดียควรจะเขียนขึ้นด้วยลักษณะและเนื้อหาที่เป็นกลาง เมื่อเขียนบทความให้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงจากความเห็นที่เป็นที่ยอมรับ แต่อย่านำความเห็นของคุณมาเป็นข้อเท็จจริง ผู้เขียนใหม่หลายคนถูกดึงดูดไปยังบทความเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงว่าใครมีมุมมองคัดค้านที่หนักแน่น ขอให้หลีกเลี่ยงบทความประเภทนี้จนกว่าคุณจะคุ้นเคยกับนโยบายวิกิพีเดีย (ดูข้อ 3) และสนใจบทความที่คุณสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้แทน นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เขียนวิกิพีเดียลืมตระหนักว่ามุมมองที่เป็นกลางไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับมุมมองของวิทยาศาสตร์กระแสหลัก เมื่อเขียนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน ให้เขียนครอบคลุมทุกมุมมองที่มีนัยยะสำคัญอย่างมีน้ำหนักเหมาะสม แต่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเท่ากัน ตัวอย่างเช่นบทความเกี่ยวกับข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ควรจะอธิบายทั้งความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์และทฤษฎีชายขอบ (fringe theory) ที่มีนัยยะสำคัญ แต่ไม่ต้องให้รายระเอียดที่เท่ากันหรือในลักษณะที่ชี้ชวนว่ามุมมองเหล่านี้เป็นที่ยอมรับพอ ๆ กัน

ข้อที่ 10 ขอความช่วยเหลือ[แก้]

วิกิพีเดียอาจเป็นสถานที่ที่น่าสับสนสำหรับผู้เขียนที่ไม่มีประสบการณ์ การทำความเข้าใจวิกิมาร์กอัป (Wiki markup) ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่ให้ซอฟต์แวร์แสดงผลหน้าเว็บ อาจเป็นเรื่องที่ยากในช่วงแรก แต่ก็มีเครื่องมือสำหรับแก้ไขมาทำให้ง่ายขึ้น และก็มีแผนปรับปรุงที่ดำเนินการอยู่ นโยบายและแนวปฏิบัติที่ทับซ้อนกัน (หรือกระทั่งผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ติดนิสัยใช้อักษรย่อของนโยบาย) ก็อาจเป็นเรื่องที่ยากจะทำความเข้าใจ โชคดีที่ชุมชนวิกิพีเดียมีคู่มือสำหรับผู้ใช้ใหม่ และยังมีคำแนะนำที่มาในรูปของหน้าช่วยเหลือ ห้องแชต คุณยังสามารถขอความช่วยผ่านแม่แบบพิเศษ {{ช่วยหน่อย}}และจะมีชาววิกิพีเดียเข้ามาตอบรับแบบตัวต่อตัว

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Giles J (15 December 2005). "Internet encyclopaedias go head to head". Nature. 438 (7070): 900–1. doi:10.1038/438900a. PMID 16355180.
  2. Laurent, Michaël R.; Vickers, Tim J. (2009-07-01). "Seeking Health Information Online: Does Wikipedia Matter?". Journal of the American Medical Informatics Association. 16 (4): 471–479. doi:10.1197/jamia.M3059. ISSN 1067-5027.
  3. Daub J, Gardner PP, Tate J, Ramskold D, Manske M, et al. (2008) The RNA WikiProject: community annotation of RNA families. RNA 14: 2462–2464
  4. Huss JW 3rd, Orozco C, Goodale J, Wu C, Batalov S, et al. (2008) A gene wiki for community annotation of gene function. PLoS Biol 6: e175. doi:10.1371/journal.pbio.0060175
  5. Hoffmann R (2008) A wiki for the life sciences where authorship matters. Nat Genet 40: 1047–1051.
  6. Mons B, Ashburner M, Chichester C, van Mulligen E, Weeber M, et al. (2008) Calling on a million minds for community annotation in WikiProteins. Genome Biol 9: R89.
  7. Pico AR, Kelder T, van Iersel MP, Hanspers K, Conklin BR, et al. (2008) WikiPathways: pathway editing for the people. PLoS Biol 6: e184. doi:10.1371/journal.pbio.0060184.
  8. Hodis E, Prilusky J, Martz E, Silman I, Moult J, et al. (2008) Proteopedia - a scientific 'wiki' bridging the rift between three-dimensional structure and function of biomacromolecules. Genome Biol 9: R121.