ข้ามไปเนื้อหา

วิกฤติราคาอาหารโลก (พ.ศ. 2550–2551)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กราฟแสดงปริมาณค้าขายทั่วโลกของข้าวสาลี ธัญพืช และถั่วเหลือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ถึง 2551 และปริมาณคาดการณ์ถึง พ.ศ. 2559 โดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา 2551
กราฟแสดงอัตราสินค้าคงคลังต่อความต้องการของถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ถึง 2550 และปริมาณคาดการณ์ถึง พ.ศ. 2559 โดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา 2550

วิกฤติราคาอาหารโลก ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2550 - 2551 เป็นภาวะที่ราคาอาหารเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมไปถึงความวุ่นวายในสังคมทั้งในประเทศที่ยากจนและประเทศพัฒนาแล้ว

สาเหตุหลักของราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกนั้นยังเป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ สาเหตุแรกเริ่มที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นในปลาย พ.ศ. 2549 คือความแห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตธัญพืชและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลไปถึงราคาปุ๋ย ค่าขนส่งอาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตร สาเหตุอื่น ๆ นั้นรวมถึงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว [1] และความต้องการอาหารที่หลากหลายขึ้น (โดยเฉพาะเนื้อสัตว์) ของกลุ่มชนชั้นกลางในเอเชียที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น[2][3] ปัจจัยเหล่านี้ เมื่อประกอบกับการลดลงของสินค้าอาหารคงคลัง ล้วนมีส่วนทำให้ราคาอาหารทั่วโลกถีบตัวสูงขึ้น[4] ส่วนสาเหตุระยะยาวนั้นยังคงสรุปไม่ได้แน่ชัด อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตร การให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรในประเทศพัฒนาแล้ว การใช้อาหารไปผลิตอาหารเช่นเนื้อสัตว์และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง การเก็งกำไรในตลาดสินค้า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี พ.ศ. 2552 ราคาอาหารเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาสูงสุดก่อนหน้า แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการลดลงนี้เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของราคา

[แก้]

ระหว่างต้นปี พ.ศ. 2549 และ 2551 ราคาเฉลี่ยทั่วโลกของข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 217 ข้าวสาลีร้อยละ 136 ข้าวโพดร้อยละ 125 และถั่วเหลืองร้อยละ 107[5] ปลายเดือนเมษายน 2551 ราคาข้าวขึ้นไปถึงปอนด์ละ 24 เซนต์ ซึ่งเป็นสองเท่าของราคาก่อนหน้านั้นเจ็ดเดือน[6]

ปัจจัยเกี่ยวข้อง

[แก้]

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าราคาเพิ่มขึ้นเป็นเพราะสาเหตุร่วมกันระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลงในหลาย ๆ พื้นที่ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น การสำรองอาหารที่ลดน้อยลง การที่ธนาคารสหรัฐอเมริกาลดดอกเบี้ย (ทำให้ผู้คนไม่นิยมสะสมสินทรัพย์ระยะยาวด้วยเงิน และหันมาลงทุนในสินค้าอาหารแทน ทำให้อุปสงค์เพิ่ม และราคาก็เพิ่มตามไปด้วย) อุปสงค์ของผู้บริโภคในเอเชียที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก[7] การช่วยเหลืออุดหนุนทางการเกษตรในประเทศพัฒนาแล้วก็นับเป็นสาเหตุระยะยาวอีกประการหนึ่ง [8]

ผลกระทบจากการใช้อาหารผลิตเชื้อเพลิง

[แก้]

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการใช้ผลผลิตทางการเกษตร (โดยเฉพาะข้าวโพด) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ[9] ธัญพืชถูกนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงประมาณ 100 ล้านตันต่อปี[10] (ปริมาณการผลิตธัญพืชในปี 2550 ทั่วโลกมีเพียงประมาณ 2,000 ล้านตัน[11]) เมื่อชาวไร่ชาวนายิ่งใช้กำลังการผลิตเพื่อผลิตพืชเชื้อเพลิงมากกว่าปีก่อน ๆ ที่ดินและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารก็ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้มีอาหารสำหรับบริโภคน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่มีเงินเพียงจำกัดสำหรับอาหารในแต่ละวัน วิกฤตินี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ตัวอย่างเช่น การเติมน้ำมันรถยนต์หนึ่งคันด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้ข้าวโพด (ซึ่งเป็นอาหารหลักของแอฟริกา) เท่ากับปริมาณที่ชาวแอฟริกาบริโภคในหนึ่งปี[4] ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2550 มีการใช้ข้าวโพดเพื่อทำเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น และเมื่อมีการผูกราคาข้าวโพดไว้กับราคาน้ำมันโดยนักค้า จึงทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้น และยังส่งผลไปทำให้สินค้าทดแทนอื่น ๆ ราคาเพิ่มขึ้นด้วย เริ่มต้นจากข้าวสาลีและถั่วเหลือง และตามด้วยข้าว น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันทำอาหารชนิดอื่น ๆ

ประชากรโลกเพิ่มขึ้น

[แก้]
การเติบโตของการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของประชากร ปริมาณอาหารต่อหัวเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2504-

แม้ว่านักวิจารณ์บางคนจะกล่าวว่าวิกฤติอาหารครั้งนี้มาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน[12][13] แต่อีกหลายคนกล่าวว่าอัตราการเติบโตของประชากรโลกลดลงอย่างมากตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2520[14][15] และธัญพืชที่มีอยู่ก็มีมากกว่าจำนวนประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณการผลิตอาหารทั้งหมดเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากทศวรรษที่ 2500 ถึง 2520 แต่ลดลงเล็กน้อยหลังจากนั้น[16] ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านคนใน 2443 เป็นประมาณ 6.6 พันล้านคนในปัจจุบัน

อัตราการเติบโตที่แท้จริงของประชากรลดลงจากจุดสูงสุดที่ 87 ล้านคนต่อปีประมาณต้นทศวรรษที่ 2530 ลงมาถึงจุดต่ำสุดที่ 75 ล้านคนต่อปีใน พ.ศ. 2545 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจนถึง 77 ล้านคนต่อปีในพ.ศ. 2550[17] หากประชากรยังคงเติบโตในอัตราปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะมีประชากรเกือบ 9 พันล้านในภายในปี 2585[18]

ความต้องการอาหารที่ต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมาก

[แก้]
อัตราเปรียบเทียบการบริโภคต่อหัว พ.ศ. 2548/2533[19]
อินเดีย จีน บราซิล ไนจีเรีย
ธัญพืช 1.0 0.8 1.2 1.0
เนื้อสัตว์ 1.2 2.4 1.7 1.0
นม 1.2 3.0 1.2 1.3
ปลา 1.2 2.3 0.9 0.8
ผลไม้ 1.3 3.5 0.8 1.1
ผัก 1.3 2.9 1.3 1.3

แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียยังคงอยู่ในชนบทและยากจน แต่การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางนั้นกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถูกคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะคงอยู่ต่อไป ใน พ.ศ. 2533 ชนชั้นกลางในอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และในจีนร้อยละ 8.6 แต่ในปี 2550 อัตราการเติบโตนั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 และ 70 ตามลำดับ[4] ฐานะที่ดีขึ้นทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนวิถีชีวิตและนิสัยการกิน โดยเฉพาะความต้องการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้นและการกินเนื้อสัตว์มากขึ้น ซึ่งทำให้อุปสงค์ในทรัพยากรทางการเกษตรเพิ่มตามไปด้วย[20][21] อุปสงค์นี้ทำให้ราคาสินค้า เช่นน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้น

หัวหน้าของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติได้กล่าวไว้ในปี 2551 ว่าการเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารในกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งเสริมให้ราคาอาหารสูงขึ้นทั่วโลก[22]

ผลกระทบจากราคาปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น

[แก้]

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ราคาปุ๋ยสูงตามไปด้วย (ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนเดือนเมษายน 2551[23]), เพราะส่วนใหญ่ต้องใช้ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในการผลิต[4] แม้ว่าวัตถุดิบเชื้อเพลิงฟอสซิลหลักที่ใช้สำหรับผลิตไฮโดรเจนในกระบวนการฮาแบร์-บอชจะมาจากก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติก็ประสบปัญหาอุปทานเช่นเดียวกับน้ำมัน เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าทดแทนสำหรับปิโตรเลียมในบางกรณี (เช่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า) การที่ราคาปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นก็ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นไปด้วย

น้ำมันยังถูกใช้เพื่อการผลิตพลังงานส่วนใหญ่สำหรับการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและการขนส่ง[24] ราคาพลังงานเหลวจากปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการนำผลผลิตทางการเกษตรไปผลิตพลังงานแทนการใช้เป็นอาหาร

อาหารสำรองลดลง

[แก้]

ในอดีต ประเทศต่าง ๆ มีการสำรองอาหารในจำนวนมากพอสมควร แต่ในปัจจุบัน ระยะเวลาการผลิตพืชที่สั้นลงและการนำเข้าสินค้าอาหารที่สะดวกมากขึ้นทำให้ความจำเป็นในการสำรองอาหารลดลง ตัวอย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ข้าวสาลีสำรองลดลงมาถึงจุดต่ำสุดในระยะเวลา 60 ปีในสหรัฐอเมริกา[4] การที่ปริมาณอาหารสำรองลดลงอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนและการปรับตัวขึ้นของราคาได้ง่ายขึ้น[25]

การเก็งกำไร

[แก้]

การเก็บกำไรในตลาดอนุพันธ์ของสินค้าโภคภัณฑ์หลังจากที่ตลาดทางการเงินล่มส่งผลต่อวิกฤติในครั้งนี้ด้วย นักเก็งกำไรที่ต้องการผลกำไรระยะสั้นย้ายเงินลงทุนออกจากตราสารหนี้และพันธบัตรและนำเอาบางส่วนมาลงทุนในอาหารและวัตถุดิบอื่น ๆ[26] และส่งผลกระทบทำให้ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Biofuels major cause of global food riots" เก็บถาวร 2009-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Kazinform (Kazakhstan National Information Agency), April 11, 2008
  2. The cost of food: facts and figures
  3. "Fear of rice riots as surge in demand hits nations across the Far East". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-12. สืบค้นเมื่อ 2009-02-01.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "How the cupboard went bare", Globe & Mail, April 12, 2008
  5. "Financial speculators reap profits from global hunger". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-10. สืบค้นเมื่อ 2009-02-01.
  6. "Cyclone fuels rice price increase", BBC News, May 7, 2008
  7. Corcoran, Katherine (2008-03-24). "Food Prices Soaring Worldwide". Associated Press.
  8. "Leader: The rocketing price of food | Comment is free | The Guardian". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  9. Paying the price for ignoring the real economy G. CHANDRASHEKHAR, The Hindu, 2008-04-18.
  10. "Planet Ark : Biofuels to Keep Global Grain Prices High - Toepfer". Planetark.com. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  11. "Grain Harvest Sets Record, But Supplies Still Tight | Worldwatch Institute". Worldwatch.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  12. World in grip of food crisis. IANS, Thaindian News. 2008-04-07.
  13. Burgonio, TJ. Runaway population growth factor in rice crisis—solon. Philippine Daily Inquirer, 2008-03-30.
  14. World Population Information. United States Census Bureau. Data updated 2008-03-27.
  15. Population annual growth rate, 229 countries 1955-2050 (UN Population Division's quinquennial estimates and projections). United Nations. Last updated on 2007-07-17.
  16. UN-USDA figures quoted bu Earth-poicy http://www.earth-policy.org/Indicators/Grain/2006_data.htm#fig1 เก็บถาวร 2009-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. Ron Nielsen, The little green handbook, Picador, New York (2006) ISBN 0-312-42581-3
  18. World Population Clock - Worldometers
  19. "High and Rising Food Prices: Why Are They Rising, Who Is Affected, How Are They Affected, and What Should Be Done?"PDF, presentation by Joachim von Braun to the U.S. Agency for International Development conference Addressing the Challenges of a Changing World Food Situation: Preventing Crisis and Leveraging Opportunity, Washington, DC, April 11, 2008, p. 3, slide 7
  20. "The cost of food: facts and figures", BBC News Online, April 8, 2008
  21. http://research.cibcwm.com/economic_public/download/smay08.pdf เก็บถาวร 2009-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (hamburgers replacing rice bowls)
  22. von Braun, "High and Rising Food Prices", 2008, p 5, slide 14
  23. "Fertilizer cost rising sharply: Result will be higher food prices" เก็บถาวร 2008-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Associated Press, April 16, 2008
  24. "Food vs. fuel a global myth -- -- chicagotribune.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
  25. "Food riots fear after rice price hits a high". The Observer. 2008-04-06. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
  26. "The trading frenzy that sent prices soaring". New Statesman (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-21. สืบค้นเมื่อ 2008-04-28.