วิกฤตรัฐบาลสหราชอาณาจักร ตุลาคม พ.ศ. 2565

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิกฤตรัฐบาลสหราชอาณาจักร ตุลาคม 2022
ลิซ ทรัสส์ ประกาศเจตจำนงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในวันที่ 20 ตุลาคม 2022
วันที่14-20 ตุลาคม 2022
สาเหตุงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ เดือนกันยายน 2022
ความสับสนกรณีการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาให้ห้ามการขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิคการขยายรอยแตกด้วยน้ำ
เหตุจูงใจแรงกดดันให้ลิซ ทรัสส์ ลาออก
ผู้เข้าร่วมพรรคอนุรักษนิยม
ผล

ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2022 ในสมัยนายกรัฐมนตรีของลิซ ทรัสส์ รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของพรรคอนุรักษนิยม ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์รัฐบาล วิกฤตได้เริ่มขึ้นหลังการประกาศงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อแห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 23 กันยายน 2022 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในทางลบอย่างหนักจากตลาดการเงินโลก และนำไปสู่การปลดควาซี ควาร์เทง ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ 14 ตุลาคม ในวันถัดจากนั้นมา นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักให้ถอนองค์ประกอบเพิ่มเติมออกจากงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ต่อมา เจริมี ฮันต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนเพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินและการเมือง[1] เมื่อถึงวันที่ 17 ตุลาคม ก็มีสมาชิกรัฐสภาห้าคนแล้วที่ได้เรียกร้องให้ทรัสส์ลงจากตำแหน่ง[2]

ในวันที่ 19 ตุลาคม ซูเอลลา แบรเวอร์มัน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเนื่องจากได้ละเมิดจรรยาบรรณรัฐมนตรีในทางเทคนิค[3] หลังความไม่ลงรอยกันกับทรัสส์ในประเด็นการปฏิรูประบบการรับผู้ย้ายถิ่นเข้า[4] การลาออกของแบรเวอร์มันต่อมาได้นำมาสู่การวิจารณ์ทรัสส์อย่างหนัก[5] ในเย็นวันนั้น สมาชิกรัฐสภามีกำหนดการลงคะแนนเสียงในญัตติที่พรรคแรงงานเสนอเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการห้ามการขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิคการขยายรอยแตกด้วยน้ำ (hydrofracking) ในสหราชอาณาจักร[6] รัฐบาลคัดค้านญัตติดังกล่าว การลงคะแนนเสียงก่อให้เกิดความสับสนในหมู่สมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษนิยมซึ่งไม่แน่ใจว่าการลงคะแนนดังกล่าวถือเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่[7] หรือไม่แน่ใจว่าหัวหน้าวิปและรองหัวหน้าวิปได้ลาออกไปแล้วหรือยัง นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมบางคนใช้กำลังข่มเหงเพื่อนร่วมพรรคระหว่างการวิ่งเต้นเพื่อลงคะแนนเสียง[8]

ในวันที่ 20 ตุลาคม ทรัสส์ประกาศว่าเธอจะลาออกจากตำแหน่ง แต่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าพรรคอนุรักษนิยมจะสามารถเลือกผู้นำคนใหม่มาสืบทอดเธอได้ การเลือกตั้งผู้นำพรรคจะมีขึ้นและคาดว่าจะทราบผลในวันที่ 28 ตุลาคม ทรัสส์ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 45 วัน และเชื่อกันว่าเมื่อเธอลงจากตำแหน่ง เธอจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งรวมแล้วสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร[9] โดย ดยุกที่หนึ่งแห่งเวลิงตัน อาร์เธอร์ เวลเลสลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่สองเพียง 23 วัน แต่ในวาระแรก เขาดำรงตำแหน่งถึง 2 ปี 233 วัน นอกจากนี้การลงจากตำแหน่งนี้จะเป็นการลาออกของนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3

อ้างอิง[แก้]

  1. Gutteridge, Nick (2022-10-17). "Jeremy Hunt warns public spending will be slashed to restore stability". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2022-10-21.
  2. "Liz Truss Announced Her Resignation After 45 Days And The Pandora Box Is Now Open In The UK Parliament". Washington Independent (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 20 October 2022.
  3. "PM letter to Suella Braverman: 19 October 2022". GOV.UK (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-10-21.
  4. Swinford, Steven; Dathan, Matt; Wright, Oliver (20 October 2022). "Suella Braverman's fate sealed by row over plan to raise immigration". The Times. สืบค้นเมื่อ 21 October 2022.
  5. "Suella Braverman: Home Secretary's resignation letter in full". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2022-10-19. สืบค้นเมื่อ 2022-10-21.
  6. "Wednesday 19 October 2022: Votes and Proceedings". House of Commons. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-21. สืบค้นเมื่อ 2022-10-21.
  7. "Government Still Won't Settle On Whether Chaotic Fracking Vote Was "Confidence" Matter As Liz Truss Clings On". Politics Home.
  8. "Chief Whip Wendy Morton quits - then returns - amid reports MPs 'manhandled'". The Telegraph.
  9. "Liz Truss resigns as prime minister". Sky News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 20 October 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2022. สืบค้นเมื่อ 20 October 2022.