วิกฤตการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2568
![]() | บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ การแก้ไขล่าสุดบนหน้านี้อาจไม่ได้แสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด |
วิกฤตการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2568 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การปะทะกันตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา | |||||||
![]() แผนที่ประเทศกัมพูชาโดยมีชายแดนติดกับประเทศไทยบนแนวเส้นสีแดง | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
![]() |
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
![]() | |||||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ทหารบกกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย[3] | ไม่มี |
วิกฤตการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2568 เป็นวิกฤตการณ์บริเวณชายแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านดินแดน ได้ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ภายหลังจากเหตุการณ์ปะทะกันในระยะสั้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนบริเวณสามเหลี่ยมมรกต (ช่องบก) ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของชายแดนไทย กัมพูชา และลาว เป็นเขตพิพาทระหว่างกัมพูชาและไทยมาเป็นเวลานาน และเคยเป็นจุดกำเนิดของความตึงเครียดรวมถึงการเผชิญหน้าทางทหารมาแล้วหลายครั้งในอดีต
ภูมิหลัง
[แก้]
ข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทยมีรากฐานมาจากความคลุมเครือของเส้นแบ่งเขตแดนซึ่งสืบเนื่องจากสนธิสัญญาที่ลงนามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2446 ภายหลังการได้รับเอกราชของกัมพูชา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้มีคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา แต่พื้นที่โดยรอบยังคงเป็นข้อพิพาท ซึ่งได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2551–2554 ที่มีเหตุปะทะทางทหารและมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย กระแสชาตินิยมในประเทศทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2551–2554 การปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะยืนยันคำตัดสินใน พ.ศ. 2505 อีกครั้ง[4]
ความตึงเครียดบริเวณชายแดนเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2568 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ทหารไทยห้ามนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาไม่ให้ร้องเพลงชาติกัมพูชา ณ บริเวณปราสาทตาเมือนธมที่เป็นข้อพิพาท ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น[5][6] ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ได้เกิดเหตุปะทะด้วยอาวุธปืนระหว่างทหารกัมพูชาและทหารไทยในบริเวณสามเหลี่ยมมรกต (ช่องบก) ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนร่วมระหว่างไทย กัมพูชา และลาว เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิตหนึ่งนาย ทั้งสองประเทศต่างออกแถลงการณ์กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อเหตุความรุนแรงก่อน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีเผชิญกับภาวะตึงเครียดในระดับสูงอีกครั้ง[4]
ภายหลังเหตุปะทะบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ฮุน มาแณต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้แสดงท่าทีตอบสนองต่อสถานการณ์โดยประกาศเริ่มกระบวนการเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พร้อมย้ำว่าเขาไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศไทย[7] ด้านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ระบุว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ประสงค์ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย และยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ได้มีการหารือระหว่างพลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบกไทย และพลเอก เมา โซะพัน ผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา เพื่อประสานความร่วมมือในการลดความตึงเครียดและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในอนาคต[8]
ลำดับเหตุการณ์
[แก้]เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568 ทางการไทยได้รับรายงานจากกองกำลังสุรนารีว่า ศาลาตรีมุข (ศาลารวมใจ ไทย ลาว กัมพูชา) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมมรกต ได้เกิดเพลิงไหม้จนได้รับความเสียหายทั้งหมด[9] โดยกองทัพบกไทยออกแถลงการณ์ระบุว่าเหตุเพลิงไหม้มีสาเหตุมาจากไฟที่ลุกลามมาจากบ้านเรือนของประชาชนฝั่งกัมพูชา[10] อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากบางแหล่งข่าวว่า ศาลาตรีมุขอาจไม่ได้เสียหายจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ แต่ถูกทหารกัมพูชาใช้กำลังทุบทำลายและจุดไฟเผาในช่วงกลางดึกของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เนื่องจากความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ซึ่งฝ่ายไทยได้ห้าม พลเอก เนี๊ยะ วงษ์ พร้อมกลุ่มแม่บ้านทหารกัมพูชา ร้องเพลงปลุกใจที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังมีการจัดกิจกรรมบริเวณศาลาตรีมุขในวันพระอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกัมพูชามองว่าเป็นการกระทำที่รุกล้ำพื้นที่ซึ่งตนถือว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศ[11]
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 ได้มีภาพถ่ายที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าทหารกัมพูชาได้ดำเนินการดัดแปลงภูมิประเทศและสร้างฐานที่มั่นด้วยการขุดสนามเพลาะ พร้อมเสริมกำลังพลเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 นาย บริเวณเนิน 745 ในพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ต่อมา พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้เปิดเผยว่ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าการขุดสนามเพลาะดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง กองทัพไทยจึงได้ส่งกำลังพลเข้าไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้หยุดการดำเนินการในพื้นที่พิพาท และสามารถตกลงร่วมกันในการถอนกำลังออกจากพื้นที่ของทั้งสองฝ่าย พร้อมกำหนดให้มีการพบปะพูดคุยโดยปราศจากอาวุธ ตลอดจนจัดตั้งชุดลาดตระเวนร่วมกันเพื่อป้องกันเหตุปะทะซ้ำในอนาคต[12] โดยภายหลังการเจรจาได้มีการเผยแพร่ภาพของทหารทั้งสองฝ่ายร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยความเป็นมิตร เพื่อแสดงเจตจำนงในการคลี่คลายสถานการณ์อย่างสันติ[13]
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เวลา 05.45 น. ได้เกิดเหตุปะทะด้วยอาวุธปืนระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาบริเวณสามเหลี่ยมมรกต โดยฝ่ายไทยตรวจพบการเคลื่อนกำลังพลและการปรับเตรียมพื้นที่ของฝ่ายกัมพูชาภายในเขตแดนของไทย จึงจัดกำลังจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี เข้าดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี กองกำลังรักษาความปลอดภัยของกัมพูชาเข้าใจผิดว่าเป็นการรุกล้ำ จึงได้เปิดฉากยิงใส่กำลังพลของไทย ส่งผลให้เกิดการปะทะตอบโต้ระหว่างทั้งสองฝ่าย เหตุการณ์ยุติลงเมื่อเวลา 05.55 น. หลังจาก พลตรี ทล โซะวัน รองผู้บัญชาการกองพลสนับสนุนที่ 3 ของกัมพูชา ได้โทรศัพท์ประสานงานกับพลเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีของไทยเพื่อยุติการปะทะ โดยฝ่ายไทยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาออกแถลงการณ์ว่าทหารของตนเสียชีวิต 1 นาย และกล่าวหาว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน[14][15][16]
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2568 กองทัพบกไทยได้ออกคำสั่งตามมติที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งได้จัดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยมอบหมายให้กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการปิดเปิดจุดผ่านแดนทุกประเภทตามแนวชายแดนกับกัมพูชาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกองทัพบกได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา และกองทัพภาคที่ 2 ภายใต้ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี มีอำนาจเต็มในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจุดผ่านแดนทุกประเภทตามแนวชายแดนกัมพูชา เพื่อให้สามารถตอบโต้และควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[17] โดยแบ่งเป็นแผนในการรองรับสถานการณ์ออกเป็น 4 ระดับ[18] ได้แก่
- จำกัดการข้ามผ่านแดน อนุญาตเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น แรงงาน การค้าขาย การขนส่งสินค้าที่จำเป็น
- ปรับระยะเวลาการผ่านแดน ด้วยการลดระยะเวลาเปิดทำการลง เพื่อจำกัดความเคลื่อนไหว
- ปิดจุดผ่านแดนในบางจุด ในจุดที่อยู่ในพื้นที่ความมั่นคงหรือความเสี่ยงสูง
- ปิดจุดผ่านแดนทุกจุดตลอดแนวชายแดน
จากนั้นได้มีการประกาศคำสั่งในการควบคุมการเข้าออกบริเวณจุดผ่านแดนต่าง ๆ ตลอดแนวชายแดนไทยและกัมพูชาตามมา ประกอบไปด้วย
- ด้านจังหวัดจันทบุรีและตราด ควบคุมโดยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด[18]
- ลดเวลาเปิดทำการทุกจุดผ่านแดน จากเดิมเวลา 06.00-22.00 น. เป็นระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.[19]
- ด้านจังหวัดสระแก้ว ควบคุมโดยกองกำลังบูรพา[18]
- ลดเวลาเปิดทำการจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน จากเดิมเวลา 06.00-22.00 น เป็นระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.[20]
- ลดเวลาเปิดทำการจุดผ่อนปรนการค้าบ้านตาพระยาและบ้านหนองปรือ เปิดเวลา 08:00-12:00 น.[20]
- รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปสามารถผ่านแดนได้ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) เท่านั้น[20]
- ห้ามชาวไทยข้ามไปท่องเที่ยวและเล่นการพนันที่ฝั่งประเทศกัมพูชา[20]
- อนุญาตให้ชาวกัมพูชาที่เข้ามาค้าขายและถือหนังสือเดินทาง หรือบัตรผ่านแดน (Border Pass) ผ่านแดนได้ โดยลดระยะเวลาอยู่ในประเทศไทยลงจาก 14 วันเหลือ 7 วัน[20]
- การผ่านแดนด้านมนุษยธรรม ต้องให้สำนักงานประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ศูนย์ปฏิบัติการทัพภาค 1 เป็นผู้อนุมัติเท่านั้น[20]
- ด้านจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ควบคุมโดยกองกำลังสุรนารี[18]
- การผ่านแดนด้านมนุษยธรรม ต้องให้สำนักงานประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำพื้นที่ 1-3
- จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำและจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม[21]
- ปรับวันเปิดจากทุกวัน เหลือแค่ 3 วันในสัปดาห์ คือ วันจันทร์, วันพุธ และวันศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
- ประชาชนผ่านเข้าออกได้ตามปกติ
- จำกัดสินค้าประเภทยุทธภัณฑ์ตามกฎหมาย
- ระงับการส่งสินค้าสำหรับงานก่อสร้าง ตามดุลยพินิจ์ของเจ้าหน้าที่
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า[21]
- ปรับวันเปิดจากเดิม 2 วัน เหลือเพียงวันพฤหัส เวลา 09.00-12.00 น. ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
- เข้าออกได้ไม่เกินพื้นที่ตลาดของฝั่งตรงข้ามโดยแลกเอกสารประจำตัวของแต่ละประเทศ ซื้อได้เพียงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
- ห้ามยานพาหนะทุกชนิดผ่านแดน
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู[21]
- ปรับวันเปิดจากทุกวัน เหลือแค่ 3 วันในสัปดาห์ คือ วันอังคาร, วันพุธ และวันพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น. ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
- เข้าออกได้ไม่เกินพื้นที่ตลาดของฝั่งตรงข้ามโดยแลกเอกสารประจำตัวของแต่ละประเทศ ซื้อได้เพียงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
- ห้ามยานพาหนะทุกชนิดผ่านแดน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2568 หลังจากการบังคับใช้มาตรการ ได้มีการตอบโต้จากฝั่งกัมพูชาโดยในพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด กัมพูชาได้ปรับเวลาเปิดด่านเป็น 09.00 น. โดยไม่แจ้งล่วงหน้าช้ากว่าฝ่ายไทย 1 ชั่วโมง ทำให้ผู้ที่ต้องการผ่านแดนเกิดความสับสน และต้องตากฝนรอคอยฝั่งกัมพูชาเปิดด่าน[19]
ขณะเดียวกันในช่วงเย็น วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทหารไทย รายงานว่า การเจรจายุติลงด้วยดี ทหารกัมพูชายอมถอยออกจากบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชาแล้ว[22] และได้รับการยืนยันเมื่อเวลา 18.20 น. โดย พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ว่ามีการถอนกำลังออกจากพื้นที่ปะทะไปยังพื้นที่เดิมที่แนวต้นพระยาสัตบรรณภายในเขตแดนกัมพูชา ซึ่งถือเป็นแนวเดิมที่ประจำการใน พ.ศ. 2567 และยินยอมที่จะกลบแนวคูเลตที่ได้ขุดเอาไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งจัดกำลังเข้ามาพบปะกันสัปดาห์ละครั้งบริเวณพื้นที่ปะทะ เพื่อลดความตรึงเครียดภายในพื้นที่[23] โดยโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่าได้รับการติดต่อจากฝ่ายกัมพูชาเมื่อเวลา 10.00 น. มาที่กองกำลังสุรนารีเพื่อขอเจรจา ซึ่งกองกำลังสุรนารีได้รายงานแม่ทัพภาคที่ 2 และรายงานไปยังผู้บัญชาการทหารบกตามลำดับ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปพูดคุยจนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ซึ่งกำลังฝ่ายกัมพูชานำโดย พลโท สรัย ดึก รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการกองพลสนับสนุนที่ 3 และฝ่ายไทยนำโดย พลตรี สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี[24]
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2568 กองทัพบกไทยได้เชิญทูตทหารในประเทศไทยเข้าร่วมประชุมบรรยายสรุปรอบไตรมาส ประจำไตรมาสที่ 3 ในประเด็นของความไม่สงบในชายแดนภาคใต้และปัญหาในพื้นที่ไทยและกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยและกองทัพไทยต้องการแก้ปัญหาอย่างสันติและใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหากับกัมพูชา[25]
ในวันที่ 13 มิถุนยายน พ.ศ. 2568 ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศนโยบายการพึ่งพาตนเองและต่อต้านประเทศไทยเพื่อตอบโต้มาตรการควบคุมจุดผ่านแดนของไทยผ่านทางเฟซบุ๊กของตน[26] ประกอบไปด้วย

- ระงับการนำเข้าและใช้สินค้าจากประเทศไทย ให้ใช้สินค้าภายในประเทศหรือจากประเทศอื่น
- ปรับการบริโภคสินค้าภาคการเกษตรที่จากเดิมส่งมายังประเทศไทยให้นำมาใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่น
- ไม่ให้ส่งผู้ป่วยไปรับบริการในประเทศไทย ให้นำมารับบริการภายในประเทศกัมพูชาหรือประเทศอื่น
- เตรียมความพร้อมตำแหน่งงานภายในประเทศเพื่อรองรับการผลักดันแรงงานในประเทศไทยกลับประเทศกัมพูชา ซึ่งในกัมพูชามีตำแหน่งงานจำนวนมาก
- คงสถานะเตรียมความพร้อมกองกำลังติดอาวุธให้มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อตอบโต้และป้องกันการรุกราน
- จังหวัดในพื้นที่ชายแดนไทยให้เตรียมการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย และเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐานให้พร้อมในพื้นที่อพยพ
จากนั้นกัมพูชาได้ดำเนินการปิดด่านพรมแดนฝั่งตนเองบริเวณตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้มีแรงงาน สินค้า และรถบรรทุกสินค้าจากฝั่งไทยติดค้างอยู่ในพื้นที่จุดผ่านแดนเป็นจำนวนมาก[26]
เวลา 09.00 น. ในวันเดียวกัน บริเวณด่านพรมแดนตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก เจ้าหน้าที่จากกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมกัมพูชาได้ดำเนินการตัดสายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มาจากฝั่งไทยบริเวณข้างสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (อรัญประเทศ–ปอยเปต) และเชื่อมต่อสัญญาณจากสายอินเทอร์เน็ตของฝั่งตนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้งาน โดยชาวกัมพูชาหลายรายระบุว่าคุณภาพและสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีความเร็วที่ต่ำลง ส่งผลต่อการใช้งานทั้งด้านการสื่อสารและการทำธุรกิจจึงจำเป็นต้องข้ามมาใช้งานในฝั่งไทย รวมถึงต้องซื้อซิมอินเทอร์เน็ตกัมพูชาใช้งานเนื่องจากไม่สามารถใช้งานซิมการ์ดของไทยในกัมพูชาได้แล้ว[27]
โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ได้ออกมาเปิดเผยว่าจากการตรวจสอบในช่วงเช้าของวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ฝั่งกัมพูชาได้ดำเนินการตัดสายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์จำนวน 2 จุด คือบริเวณอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และบริเวณจุดเชื่อมต่อจากเกาะกูด จังหวัดตราด ส่งผลให้คุณภาพอินเทอร์เน็ตลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในกัมพูชาที่ใช้บริการ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายอยู่[28]
ดูเพิ่ม
[แก้]- กรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา
- คดีปราสาทพระวิหาร
- ศาลาตรีมุข
- อนุสาวรีย์พิทักษ์ไทย
- อนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย
- กองกำลังสุรนารี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เปิดประวัติ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ปกป้องอธิปไตยชายแดนไทย-กัมพูชา
- ↑ เปิดโฉมหน้า ส.อ.ชัยบุญ นวนจันทร์ "ทหารไทย" ใจกล้าสั่งสอน "ทหารเขมร" ยกพวกป่วนบนปราสาทตาเมือนธม
- ↑ "Thai and Cambodian soldiers clash briefly in a disputed border area, killing 1". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2025-05-28. สืบค้นเมื่อ 2025-06-03.
- ↑ 4.0 4.1 "U.S. Ally and China's Strategic Partner Exchange Fire in Southeast Asia: Cambodia-Thailand Border Skirmish Raises Fears of Renewed Regional Instability". The Asia Live (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2025-06-02. สืบค้นเมื่อ 2025-06-03.
- ↑ "PM warns of 'nationalist rhetoric' fuelling Thai border tensions" (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2025-02-19. สืบค้นเมื่อ 2025-02-22.
- ↑ Bangprapa, Mongkol (2025-02-18). "Thai PM downplays Cambodian anthem fuss". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-02-22.
- ↑ "Cambodia PM urges calm after border clash with Thailand leaves soldier dead". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-06-03.
- ↑ "Thai and Cambodian soldiers clash briefly in a disputed border area, killing 1". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2025-05-28. สืบค้นเมื่อ 2025-06-03.
- ↑ "รู้จัก "ศาลาตรีมุข" สัญลักษณ์มิตรภาพ 3 ชาติ ที่เหลือเพียงเถ้าธุลี". เนชั่นทีวี. 2025-03-05. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ "เพลิงไหม้'ศาลาตรีมุข'ช่องบก สัญลักษณ์มิตรภาพ 3 ประเทศ 'เขมร'แจงสาเหตุแล้ว". www.naewna.com. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ "กห.รับทหารเขมร ทุบแล้วเผา "ศาลาตรีมุข" เหตุไม่พอใจทหารไทย ห้ามร้องเพลงปลุกใจที่ "ตาเมือนธม" ปรามไม่ให้เกิดซ้ำ". สยามรัฐ. 2025-03-05. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ "แม่ทัพภาค 2 รับเป็นภาพจริง ทหารกัมพูชารุกล้ำพื้นที่ขุดคู-สร้างฐานที่มั่น". pptvhd36.com. 2025-05-18. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ Nilnakorn, Phanit. "แม่ทัพภาค 2 ฮึ่มภาพทหารกัมพูชารุกล้ำขุดคูเลตเนินช่องบกของจริง แต่เจรจาจบถอนกำลังแล้ว". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ "ทหารไทยปะทะกัมพูชาที่ "ช่องบก" บริเวณพื้นที่อ้างสิทธิ์". Thai PBS. 2025-05-28. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ juntara_bun (2025-05-28). "ทบ. แจงแล้ว เหตุทหารไทย-กัมพูชา ปะทะเดือดบริเวณช่องบก". www.thainewsonline.co. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ matichon (2025-05-28). "สื่อกัมพูชา เผยมีทหารเสียชีวิต เหตุปะทะช่องบก". สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ "ด่วน! 'ผบ.ทบ.' งัดมาตรการ เปิด-ปิดด่าน ตอบโต้ 'กัมพูชา' รุกล้ำอธิปไตย". bangkokbiznews. 2025-06-07. สืบค้นเมื่อ 2025-06-07.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 "เช็กเวลาเปิด-ปิด ด่าน ชายแดนไทย-กัมพูชา THE STANDARD". THE STANDARD. 2025-06-10. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ 19.0 19.1 matichon (2025-06-08). "พ่อค้า-แม่ค้าสับสน! ด่านกัมพูชา เปิดช้ากว่าฝั่งไทย 1 ชม. ชาวบ้านชี้ กระทบขนส่งระยะยาว". สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 "คำสั่งออกแล้ว! กกล.บูรพาปรับลดเวลาเปิดปิดจุดผ่านแดนถาวร–จุดผ่อนการค้า 5 แห่งในสระแก้ว ห้ามคนไทยออกไปเที่ยว-เล่นพนัน". mgronline.com. 2025-06-07. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 "เปิดคำสั่ง! กกล.สุรนารีควบคุมเปิด-ปิด 4 ด่านชายแดนไทย-กัมพูชาด้านอีสาน ห้ามส่งออกสินค้ายุทธภัณฑ์-ก่อสร้าง". mgronline.com. 2025-06-08. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ "ด่วน! ทหารเขมรยอมถอยออกจากแดนไทยแล้ว". อมรินทร์ทีวี. 8 มิถุนายน 2025. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2025.
- ↑ ข่าวสด (2025-06-08). "เปิดข้อตกลง หลังทหารกัมพูชายอมถอนกำลัง กลบคูเลต จนสถานการณ์พิพาทช่องบกคลี่คลาย". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ "กัมพูชาถอนกำลัง-กลบคูเลต ทหารทั้ง 2 ฝ่าย เตรียมพูดคุยกันสัปดาห์ละครั้ง | ประชาไท". prachatai.com. 2025-06-10. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ "ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ ชี้แจงสถานการณ์ชายแดนใต้ และ ไทย-กัมพูชา". Thai PBS. 2025-06-09. สืบค้นเมื่อ 2025-06-10.
- ↑ 26.0 26.1 ข่าวสด (2025-06-13). "กัมพูชา ชิงปิดด่านฝั่งจันทบุรี วุ่นหนักปิดโดยไม่แจ้ง รถตกค้าง คนรอข้ามหยุดชะงัก". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 2025-06-13.
- ↑ "เขมรชิงตัดเน็ตไทย! คนกัมพูชาบ่นสัญญาณไม่ดี แห่ข้ามฝั่งมาใช้เน็ตที่โรงเกลือ". www.naewna.com. สืบค้นเมื่อ 2025-06-13.
- ↑ Online, P. U. M. (2025-06-13). "สายเนตไทยโดนตัด 2 เส้นทาง กระทบธุรกิจไทยในกัมพูชา". ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2025-06-13.