วาดีอัลฮัมมามาต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิฟฏ์หรือเมืองโบราณคอปโตส เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่นำไปสู่อัลกุศ็อยร์บนชายฝั่งทะเลแดง

วาดีอัลฮัมมามาต (อาหรับ: وادي الحمامات; คอปติก: ⲣⲱϩⲉⲛⲧⲟⲩ ทางไปอินเดีย; ประตูสู่อินเดีย[1]) เป็นแม่น้ำที่เหือดแห้งไปแล้วในทะเลทรายตะวันออกของอียิปต์ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองอัลกุศ็อยร์กับเมืองกินา และเป็นพื้นที่ทำเหมืองที่สำคัญและเส้นทางการค้าทางตะวันออกจากแม่น้ำไนล์ในสมัยโบราณ พบงานแกะสลักหินและภาพวาดที่มีอายุสามพันปี ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ทางวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยวที่สำคัญในปัจจุบัน

เส้นการค้าขาย[แก้]

วาดีอัลฮัมมามาตกลายเป็นเส้นทางหลักจากธีบส์ไปยังทะเลแดง และจากนั้นไปยังเส้นทางสายไหมที่นำไปสู่เอเชีย หรือไปยังอาระเบียและจะงอยแอฟริกา การเดินทางประมาณ 200 กม. นี้เป็นเส้นทางที่ตรงที่สุดจากแม่น้ำไนล์ไปยังทะเลแดง เนื่องจากแม่น้ำไนล์โค้งไปทางชายฝั่งที่ปลายด้านตะวันตกของวาดี

เส้นทางไปวาดีอัลฮัมมามาตที่วิ่งจากกิฟฏ์ (หรือคอปโตส) ซึ่งอยู่ทางเหนือของลักซอร์ ไปยังอัลกุศ็อยร์บนชายฝั่งทะเลแดง โดยกิฟฏ์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการบริหาร ศาสนา และการค้า เมืองต่าง ๆ ที่ปลายทั้งสองข้างของเส้นทางที่ได้ก่อตั้งในช่วงราชวงศ์ที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการพบหลักฐานของการยึดครองของพวกกบฎตามเส้นทางก็ตาม[2]

เหมืองหิน[แก้]

ในสมัยอียิปต์โบราณ วาดีอัลฮัมมามาตเป็นพื้นที่เหมืองหินที่สำคัญในแถบแม่น้ำไนล์ การสำรวจเหมืองหินไปยังทะเลทรายตะวันออกมีการบันทึกตั้งแต่สองพันปีก่อนคริสตกาล โดยที่วาดีแห่งนี้มีหินจากสมัยพรีแคมเบรียนของแผ่นอาหรับ-นิวเบียน นอกจานี้ยังรวมถึง หินบะซอลต์, หินชีสต์, หินเบเคน (เป็นหินทรายชนิดหนึ่งที่มีสีเขียว ซึ่งใช้สำหรับทำชาม จานสี รูปสลัก และโลงศพ)[3] และควอตซ์ที่มีทองคำ[4] โดยมีจานแห่งนาร์เมอร์ ซึ่งมอายุย้อนไปถึง 3100 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ในยุคแรกๆ และยุคก่อนราชวงศ์ ซึ่งแกะสลักจากหินที่โดดเด่นของวาดีอัลฮัมมามาต

ในรัชสมัยของฟาโรห์เซติที่ 1 ได้มีการบันทึกว่า มีบ่อน้ำแห่งแรกที่ขุดเพื่อจัดหาน้ำในวาดี และฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ได้ส่งการสำรวจการขุดที่นั่น

เหมืองแห่งนี้ได้ถูกอธิบายไว้ในแผนที่ทางธรณีวิทยาโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักคือ แผนที่ปาปิรุสแห่งตูริน[5]

งานแกะสลัก[แก้]

ในปัจจุบัน เมืองฮัมมามัตมีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพวาดจากสมัยอียิปต์โบราณเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับในสมัยโบราณ เหมืองหินแห่งนี้เป็นเหมืองหินที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมสู่เอเชีย และเป็นจุดหมายปลายทางทั่วไปสำหรับนักท่องเที่ยวสมัยปัจจุบัน ที่วาดีแห่งนี้ มีงานแกะสลักและจารึกมากมายตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์แห่งอียิปต์จนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงภาพวาดสกัดหินเพียงชิ้นเดียวที่รู้จักจากทะเลทรายตะวันออกและภาพวาดเรือกกอียิปต์ที่มีอายุถึง 4000 ปีก่อนคริสตกาล[6]

สมัยคริสตกาล[แก้]

กลุ่มที่ครอบครองบริเวณแห่งนี้ตั้งแต่สมัยโรมัน-ไบแซนไทน์จนถึงยุคปโตเลมีตอนปลายได้ดำเนินการเหมืองทองคำใกล้กับบ่อน้ำบิร์ อัมม์ เอล-ฟาวาคิร์ แต่ทว่าเหมืองทองคำในสมัยราชอาณาจักรใหม่ที่วาดี เอล-ซิด มีขนาดใหญ่กว่า[5]: 129, 136–141

ในปัจจุบัน ถนนที่มีความยาว 194 กม. โดยตัดผ่านวาดีอัลฮัมมามาต ได้กลายมาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ และทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางระหว่างสถานที่ใกล้เคียงของลักซอร์และธีบส์ได้อย่างง่ายดาย[7]

การกล่าวถึงในช่วงยุโรปสมัยใหม่[แก้]

การกล่าวถึงแรก ๆ ของยุโรปที่เกี่ยวข้องกับวาดีอัลฮัมมามาตมาจาก เจมส์ บรูซ นักเดินทางชาวสกอตในปี ค.ศ. 1769 และ วลาดิเมียร์ โกเลนิชเชฟ นักไอยคุปต์วิทยาชาวรัสเซียเป็นผู้นำการศึกษาจารึกสมัยใหม่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1884–1885

วัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ในปี ค.ศ. 1993 วงดนตรี The Pogues ได้แต่งเพลงเกี่ยวกับวาดีอัลฮัมมามาต โดยมีชื่อเพลงว่า Girl From The Wadi Hammamat ในอัลบั้ม Waiting for Herb

อ้างอิง[แก้]

  1. Meeks, Cf. D. Coptos et le chemin de Pount. p. 303.
  2. The Archaeology of the Eastern Desert, Appendix F: Desert Rock Areas and Sites เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Andie Byrnes, University College London, June 2007. Retrieved September 2007.
  3. Survey of ancient Egyptian stone quarries (rock varieties and images, locations, and ages). James A. Harrell, Professor of Geology, Department of Environmental Sciences, University of Toledo. Retrieved September 2007.
  4. Dollinger, André, Mining, An introduction to the history and culture of Pharaonic Egypt. 2000. Retrieved September 2007.
  5. 5.0 5.1 Klemm, Rosemarie; Klemm, Dietrich (2013). Gold and Gold Mining in Ancient Egypt and Nubia. Heidelberg: Springer. pp. 132–136. ISBN 9783642225079.
  6. Desert Boats Home Page Wadi Hammamat: Gallery and description of several dynastic and predynastic sites in the Wadi, by Francis Lankester. Retrieved June 2013.
  7. planetware, detailed modern travel description.