ชื่อวันของสัปดาห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วันในสัปดาห์)

วันในสัปดาห์ ถูกตั้งชื่อตามวัตถุบนท้องฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และ ดาวเสาร์ ซึ่งเป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ในสมัยโบราณ ตั้งแต่มนุษย์เริ่มสนใจในเรื่องของฟากฟ้าแล้ว

วันเสาร์และวันอาทิตย์ถูกเรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ วันแห่งการพักผ่อนหรือนันทนาการในประเทศตะวันตก ส่วนวันศุกร์และวันเสาร์ เป็นวันแห่งการพักผ่อนในประเทศมุสลิมบางประเทศ ในอิสราเอล ถือว่าวันเสาร์และวันศุกร์หรือวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนของสัปดาห์ตามโอกาส แต่ในบางประเทศ เช่น อิหร่าน มีวันหยุดของสัปดาห์เพียงแค่หนึ่งวัน คือ วันศุกร์เท่านั้น และสัปดาห์ใหม่จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ ประเทศมุสลิมอื่น ๆ มักจะมีวันหยุดเป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์

วันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์ตามวิชาโหราศาสตร์ ในศาสนายูดาย และใน Ecclesiastical Latin รวมไปถึงในสหรัฐอเมริกา และในบางประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ รวมไปถึง ประเทศไทย ด้วย ส่วนประเทศจำนวนมากในยุโรป อเมริกาใต้ และบางส่วนของเอเชีย ถือว่าวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างนานาชาติมาตรฐานสำหรับการใช้วันและเวลา ISO 8601 ซึ่งกำหนดให้วันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ และวันอาทิตย์เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์

ชื่อของวันทั้งเจ็ด[แก้]

ชื่อภาษาอังกฤษของวันทั้งเจ็ดได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากภาษาเยอรมัน และบางส่วนก็มาจากภาษาโรมัน

  • วันอาทิตย์ คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Sunnandæg (ออกเสียงว่า Sun-nan-dag หรือ Sun-nan-dye "dye" เหมือนในคำภาษาอังกฤษใหม่) หมายถึง "วันแห่งดวงอาทิตย์" ซึ่งเป็นการแปลมาจากภาษาลาตินว่า Dies Solis ภาษายุโรปอีกจำนวนมาก รวมไปถึงภาษาซึ่งดัดแปลงมาจากภาษาโรมัน ได้เรียกชื่อวันอาทิตย์ว่า "วันแห่งพระเจ้า" (Dies Dominica ในภาษา Ecclesiastical Latin และ Domingo ในภาษาสเปน) ทุกวันอาทิตย์ชาวคริสต์ต้องไปที่โบสถ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา
  • วันจันทร์ คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Mōnandæg (ออกเสียงว่า Moh-nan-dag หรือ Moh-nan-dye) หมายถึง "วันแห่งดวงจันทร์" นี่เหมือนกับว่าแปลมาจากชื่อภาษาลาตินว่า Dies Lunae
  • วันอังคาร คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Tiwesdæg (ออกเสียงว่า Tee-wes-dag หรือ Tee-wes-dye) หมายถึง "วันแห่ง Tyr (ชื่อของสัตว์ในเทพนิยายโรมันแบบหนึ่ง)" ชื่อของวันดังกล่าวมาจากคำภาษาลาตินว่า Dies Martis (วันแห่งมาร์ส) ภาษาฝรั่งเศสว่า Mardi ภาษาสเปนว่า Martes
  • วันพุธ คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Wōdnesdæg (ออกเสียงว่า wohd-nes-dag หรือ wohd-nes-dye) หมายถึง "วันของ Woden" (Wodan) ชื่อขจองเทพเจ้าเยอรมันองค์หนึ่ง ซึ่งถูกรู้จักกันโดยสามัญว่า โอดิน เทพบิดรแห่งเทพนิยายนอร์ส และเทพชั้นรองของ ชาวแองโกล-แซกซอน (และอื่นๆ) ในดินแดนอังกฤษจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 มันมาจากภาษาลาตินว่า Dies Mercurii "วันแห่งเมอร์คิวรี่" ภาษาฝรั่งเศสว่า Mercredi ภาษาสเปนว่า Miércoles การเชื่อมโยงกันระหว่างเมอร์คิวรี่และโอดินมีมาก ดังตัวอย่างทั่วไปว่าเทพทั้งสององค์เป็นผู้นำวิญญาณ และทั้งสององค์ยังมีความสามารถที่คล้ายกันอีกหลายประการ และในภาษาเยอรมัน คำมีหมายถึง mittwoch
  • วันพฤหัสบดี คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Þūnresdæg (ออกเสียงว่า thoon-res-dag หรือ thoon-res-dye) หมายถึง "วันแห่ง Þunor" ซึ่งถูกรู้จักกันโดยสามัญว่าธอร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งสายฟ้าตามความเชื่อของนอร์ส มาจากคำภาษาลาตินว่า Dies Iovis "วันแห่งจูปิเตอร์" ภาษาฝรั่งเศสว่า Jeudi ภาษาสเปนว่า Jueves ตามความเชื่อของชาวโรมัน จูปิเตอร์ถือได้ว่าเป็นเทพสูงสุด ผู้มีพลังอำนาจแห่งฟ้าผ่า
  • วันศุกร์ คำภาษาอังกฤษเดิมว่า Frigedæg (ออกเสียงว่า free-ye-dag หรือ free-ye-dye) หมายถึง "วันแห่ง Frige" ชื่อของเทพีแห่งความงามของชาวเยอรมัน ซึ่งภายหลัง Frigg มาจากภาษาลาตินว่า Dies Veneris "วันแห่งเทพีวีนัส" ภาษาฝรั้งเศสว่า Vendredi ภาษาสเปนว่า Viernes (เทพีโรมันแห่งความงาม ความรักและเพศ)
  • วันเสาร์ คำภาษาอังกฤษได้ชื่อมากจากเทพโรมัน แซทเทิร์น พระบิดาของ ซุส และเหล่าเทพแห่งโอลิมปัสเป็นจำนวนมาก ส่วนภาษาแองโกล-แซกซอนเดิมว่า Sæturnesdæg (ออกเสียงว่า Sat-urn-es-dag หรือ Sat-urn-es-dye) ภาษาลาตินว่า Dies Saturni "วันแห่งแซทเทิร์น" ภาษาฝรั่งเศสว่า Samedi ภาษาสเปนว่า Sábado ซึ่งมาจาก Sambata Dies "วันแห่งแซบเบท"

ภาษาเขมร[แก้]

วัน ภาษาเขมร ปริวรรตตัวเขียน
ด้วยอักษรไทย
ออกเสียง
วันอาทิตย์ ថ្ងៃអាទិត្រ ไถฺงอาทิตฺร ทะไงอาเติต
วันจันทร์ ថ្ងៃច័ន្ទ ไถฺงจันฺท ทะไงจัน
วันอังคาร ថ្ងៃអង្គារ៍ ไถฺงองฺคาร์ ทะไงอองเกีย
วันพุธ ថ្ងៃពុធ ไถฺงพุธ ทะไงปุต
วันพฤหัสบดี ថ្ងៃព្រហស្បត៍ ไถฺงพฺหสฺบต์ ทะไงโปรหัวะ
วันศุกร์ ថ្ងៃសុក្រ ไถฺงสุกฺร ทะไงสก
วันเสาร์ ថៃ្ងសៅរ៍ ไถฺงเสาร์ ทะไงเสา

วันแรกของสัปดาห์[แก้]

วันในสัปดาห์ได้แก่วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ หน่วยงานทางธุรกิจและสังคมจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ถือเอาว่าวันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์ ส่วนในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ถือว่าวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ และวันอาทิตย์เป็นวันที่เจ็ด วันอาทิตย์ถือว่าเป็นวันแรกของสัปดาห์ในทางโหราศาสตร์ ทางความเชื่อของภาษาฮีบรูและภาษาลาตินของคาทอลิกในช่วงสหัสวรรษแรก

ในศาสนายูดาห์และวัฒนธรรมคริสต์ วันแรกของวันทั้งเจ็ดได้แก่ วันอาทิตย์ ตามพระคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าได้สร้างโลกในเวลาหกวัน และพักผ่อนในวันที่เจ็ด วันแซบเบท วันเสาร์ นี่ทำให้วันอาทิตย์กลายเป็นวันแรกของสัปดาห์ ในขณะที่วันเสาร์เป็นวันสำหรับเฉลิมฉลองและพักผ่อน วันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์ แต่ว่าถูกแทนที่โดยวันแห่งการเฉลิมฉลองและการพักผ่อน เรียกว่า "วันแห่งพระเจ้า" ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้วันอาทิตย์ถูกมองว่าเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์

นอกจากนั้น ยังมีความแตกต่างกันของหลักฐานเกี่ยวกับการบันทึกเรื่องของวันในภาษาต่างๆ - เช่น ในภาษาฮีบรู อารบิก กรีก ละตินคาทอลิก และโปรตุเกส บางภาษาได้เรียกวันเป็นตัวเลขเรียงตามลำดับของวัน และเรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่หนึ่ง ส่วนในภาษาอื่นๆ เช่น กลุ่มภาษาสลาฟ ก็เรียกว่าวันเป็นตัวเลขเช่นกัน แต่ว่าใช้วันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ และการเรียกวันในกลุ่มภาษาสลาฟไม่ได้เรียงตามลำดับวันในสัปดาห์ แต่เรียงตามระยะห่างจากวันอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้ วันพุธ จึงถูกเรียกว่าเป็น "วันกลางสัปดาห์"

ในยุโรปส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้ และบางประเทศอื่นๆ วันจันทร์ได้กลายเป็นวันแรกของสัปดาห์ และถูกตั้งชื่อในภาษาต่างๆ เช่น 星期一 (แปลว่า ช่วงดาวหนึ่ง) ในภาษาจีนกลาง และ pirmadienis ในภาษาลิทัวเนีย ข้อตกลง ISO ได้กำหนดว่าวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ เช่นเดียวกับ ISO-8601 สำหรับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์

แหล่งที่มาของวันทั้งเจ็ด[แก้]

จากหลายๆ แหล่งที่มาพบว่าวันทั้งเจ็ดนั้นต่างก็มีที่มาจากอารยธรรมบาบิโลน หรือ สุเมเรียน แต่ก็มีผู้ที่กล่าวว่าพวกมันเกิดก่อนหน้านั้นอีกนัก ส่วนวันทั้งเจ็ดที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์นั้นมีที่มาจากอารยธรรมอียิปต์ (สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช)

การจดบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบมาจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ในหลักธรรมสิบประการของพระเจ้า อพยพ 20:11 ว่า "พระเจ้าใช้เวลาหกวันในการสร้างสวรรค์และแผ่นดิน มหาสมุทร และพักผ่อนในวันที่เจ็ด" ซึ่งมีความหมายย้อนกลับไปถึงสัปดาห์ของการสร้าง ปฐมกาล 1 และ 2 วันทั้งเจ็ดนั้นกะคร่าวๆ ว่าเป็นช่วงการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ (ขึ้น 15 ค่ำ, ขึ้น 8 ค่ำ, แรม 8 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ) แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม วันทั้งเจ็ดนั้นตั้งอยู่บนสวรรค์ที่ส่งไปทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ตั้งแต่อารยธรรมกรีกไปจนถึงอารยธรรมโรมัน ตั้งแต่อารยธรรมญี่ปุ่นจนถึงอรายธรรมแมนนิเชียน ตั้งแต่อารยธรรมจีนจนถึงอารยธรรมอินเดีย

ในอารยธรรมฮินดู ก็ได้มีการใช้วันทั้งเจ็ดจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเขียนเป็นภาษาสันสกฤตราว 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยใช้คำว่า Bhanu-vaar หมายถึง วันอาทิตย์ Soma-vaar หมายถึง วันจันทร์ และต่อๆ ไป

การอ้างอิงที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบอยู่ในงานเขียนของจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นของ ฟาน หนิง มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 ส่วนในประเทศอินเดียนั้นก็มีการบันทึกเกี่ยวกับงานเขียนของพระสงฆ์จีนชื่ออี ชิง และพระสงฆ์จากเกะลังกาชื่อบู คง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 การถ่ายตัวอักษรจีนเรื่องระบบดาวเคราะห์นั้นภายหลังได้ถูกนำไปสู่ดินแดนญึ่ปุ่นโดยพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่น โคโบ ไดชิ

วันทั้งเจ็ดนั้นได้ถูกใช้มาแล้วเป็นเวลากว่าสองสหัสวรรษ และมีทั้ง ปฏิทินอเล็กซานเดรียน ปฏิทินจูเลียนและปฏิทินเกรโกเรียน

ความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์[แก้]

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-3 ของจักรวรรดิโรมัน นั้นได้คอ่ยๆ เปลี่ยนปฏิทินโรมันแบบสัปดาห์ละแปดวันลดลงเหลือเพียงเจ็ดวัน โดยผู้ที่อธิบายถึงการเรียงลำดับของวันนี้ คือ เวตติอุส วาเลนส์กับไดโอ แคสซุส ตามที่ทั้งสองเขียนเอาไว้ มันคือหลักทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสวรรค์ (วัตถุบนฟากฟ้า) และแนวคิดนี้ก็ได้ส่งต่อสืบกันมา ระบบพโตเลมีได้ยืนยันถึงการเรียงลำดับวัตถุบนฟากฟ้า (ลำตัวของสวรรค์) จากไกลที่สุดมาหาใกล้ที่สุดไว้ดังนี้: ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ดวงอาทิตย์ ดาวพุธและดวงจันทร์ (เป็นแนวคิดของลัทธิสโตอิกของกรีกในสมัยโบราณ)

ตามทฤษฎีดาราศาสตร์ ไม่เพียงแค่วันในสัปดาห์เท่านั้น แต่ว่ายังมีอิทธิพลกับแต่ละชั่วโมงของวันอีกด้วย ถ้าหากในชั่วโมงแรกของวันนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของดาวเสาร์ (Saturn) ชั่วโมงที่สองของวันก็จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ชั่วโมงที่สาม ก็จะเป็นดาวอังคาร (Mars) และต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นทุกๆ เจ็ดชั่วโมง ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดดวงจะหมุนเวียนกันไป นอกเหนือจากนี้ ในชั่วโมงที่ยี่สิบห้า ซึ่งก็คือชั่วโมงแรกของวัดถัดไป จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของดวงอาทิตย์ และชั่วโมงที่สี่สิบเก้า คือ วันแรกของอีกสองวันข้างหน้า จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของดวงจันทร์

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]