วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ, วัดใต้, วัดใต้เทิง
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
เจ้าอาวาสพระราชธรรมโกศล (สวัสดิ์ ทัสสนีโย)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 9 ไร่ อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางด้านทิศตะวันออก สถานที่ใกล้เคียง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาค 2 อุบลราชธานี และโรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล

ประวัติ[แก้]

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้เทิง หรือ วัดใต้ แต่เดิมวัดใต้มี 2 วัด คือ วัดใต้เทิงกับวัดใต้ท่า วัดใต้ท่า (วัดร้าง) ตั้งอยู่ริมน้ำมูล ทางทิศใต้ท่าน้ำ ส่วนวัดใต้เทิง (คำว่าเทิง ความหมายว่า ที่สูง ข้างบนหรืออยู่สูง อยู่เหนือขึ้นไป) ตั้งอยู่ถัดขึ้นไปจากวัดใต้ท่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล ต่อมาเพื่อให้สื่อความหมายถึงพระประธานในอุโบสถพระนามว่าพระเจ้าองค์ตื้อ จึงได้นำพระนามของพระพุทธรูปมาต่อกับชื่อวัด กลายเป็น "วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ"

วัดใต้เทิงตั้งวัดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2322 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 มีเขตวิสุงคามสีมายาว 12 วา 1 ศอก กว้าง 7 วา 1 ศอก[1]

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ[แก้]

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระประธานประจำพระอุโบสถวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (วัดใต้เทิง)

ปูชนียวัตถุทีสำคัญ คือ พระพุทธประธานในพระอุโบสถนามว่า พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ตามประวัติในประเทศไทย มีพระเจ้าใหญ่องค์ตื้ออยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เดิมทีประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ภายหลังอุโบสถทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา จึงได้พอกพระพุทธรูปด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิทธิเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี แต่เนื่องจากกลัวข้าศึกขนเอาพระพุทธรูปไปจึงได้พอกปิดไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี[2]

ต่อมาราว พ.ศ. 2507–2508 สมัยพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นศิลปะขอมผสมเวียดนาม ส่วนฐานเป็นศิลปะไทยภาคอีสาน ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร หน้าต่าง 5 ช่อง ประตู 2 ประตู เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2509 จัดงานฉลองพิธีผูกพัทธสีมา วันที่ 1–5 มีนาคม พ.ศ. 2523 ผนังทุกด้านของอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและทศชาติชาดก

วิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คือ พระพุทธมงคลรัตนสิริธัญสถิต เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ภายในเจดีย์เป็นที่สถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระแก้วจักรพรรดิโกเมน พระแก้วจักรพรรดิมรกต พระแก้วจักรพรรดิบุษราคัม และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.
  2. "ไปกราบไหว้ขอพรพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดใต้เมืองอุบลฯ". บ้านเมือง.
  3. "วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ". สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-31.