วัดโพธาราม (จังหวัดพะเยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโพธาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโพธาราม, วัดแม่ใจ, วัดนางเหลียว, วัดแม่ใจศรีถ้อย
ที่ตั้งตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระโสภณพัฒโนดม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโพธาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระโสภณพัฒโนดม

วัดโพธารามเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2348 ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านและลำน้ำแม่ใจ ใช้ชื่อว่า วัดแม่ใจ ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้น วัดจึงต้องมีการก่อสร้างให้ใหญ่ และกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2380 ได้ไปหาช่างปั้นจากจังหวัดเชียงใหม่ และช่างที่อำเภอดอยสะเก็ดมาปั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะสวยงามจนอดใจที่จะเหลียวและหยุดดูไม่ได้ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า วัดนางเหลียว ต่อมา พ.ศ. 2453 เกิดไฟไหม้วิหาร พ.ศ. 2470 พ่อหนานใจ วรรณจักร ได้ไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาโปรดศรัทธาชาวศรีถ้อย และรวบรวมจิตใจให้ช่วยกันสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้น โดยมีพ่อหนานใจเป็นสล่า (ช่าง) ในการก่อสร้าง และมีพระอธการอินต๊ะปัญโญ ปญฺญาวโร (พ่อหนานปัญญา คำบุญเรือง) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อสร้างวิหารเสร็จเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น วัดแม่ใจศรีถ้อย ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดโพธาราม" สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2482[1]

วัดโพธารามเป็นวัดที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ และแผนกธรรมบาลี เป็นที่ตั้งของศูนย์พระพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ เป็นที่ตั้งห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่ใจ เป็นที่ตั้งชมรมผู้สูงอายุอำเภอแม่ใจ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธาราม เป็นที่ตั้งของศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดโพธาราม เป็นอุทยานการศึกษา และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีที่ดินของวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา[2]

อุโบสถซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2430 และได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะแบบพม่า[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดโพธาราม". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดโพธาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. อรรถพล เพียรประเสริฐกุล. "การจัดการพิพิธภัณฑ์วัดโพธาราม ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.