วัดโกรกกราก

พิกัด: 13°31′52″N 100°16′30″E / 13.5311513°N 100.2751283°E / 13.5311513; 100.2751283
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโกรกกราก
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อปู่) สวมแว่นดำในวัดโกรกกราก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโกรกกราก
ที่ตั้งเลขที่ 188 ถนนธรรมคุณากร ตำบลโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
นิกายเถรวาท
พระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อปู่)
กิจกรรมนมัสการพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อปู่) และหลวงปู่กรับ ชมทัศนียภาพของริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโกรกกราก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มมีปรากฏชื่อวัดครั้งแรกเมื่อเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จอดเทียบท่าวัดโกรกกรากเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นจากบางปะอินไปเพชรบุรี สิ่งที่น่าสนใจของวัดโกรกกรากคือพระประธานในอุโบสถนอกจากจะมีพุทธลักษณะงดงามแล้ว ยังแปลกไปจากพระพุทธรูปที่พบเห็นทั่วไปคือสวมแว่นดำ

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่ามีมาแต่โบราณไม่ปรากฏชื่อ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2375 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2423 ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 2 ในสมัยพระอธิการโตอดีตเจ้าอาวาสได้เกิดเพลิงไหม้เสนาสนะต่าง ๆ จนหมดสิ้น เหลือแต่อุโบสถเท่านั้น หลักฐานต่าง ๆ ของวัดจึงถูกเพลิงเผามอดไหม้ไปด้วย

เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน สิ่งปลูกสร้างของวัดที่น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้คืออุโบสถไม้สักหลังคาแอ่นคล้ายเก๋งจีน เสาระเบียงเฉียงออกทั้งสี่ด้าน บริเวณด้านหน้ามีเจดีย์สององค์ มีเรือสำเภาจีนสร้างด้วยคอนกรีต องค์ละ 1 ลำ ลักษณะคล้ายกับเรือสำเภาจีนของวัดยานนาวาในกรุงเทพมหานคร แต่เล็กกว่า กาลต่อมาได้สูญหายไปหมดเหลือแต่องค์เจดีย์

ในจดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ปรากฏชื่อวัดโกรกกราก โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 เรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จอดเทียบท่าวัดโกรกกราก เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นล่องเรือมาจากบ้านแหลม จ.เพชรบุรี แวะซื้ออาหารที่บ้านท่าฉลอมและนำมาทำอาหารที่ศาลาท่าน้ำวัดโกรกกราก โดยท่านสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ขึ้นมาบนวัดเพื่อให้พระรดน้ำมนต์ เนื่องจากเมาเรือ

พระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อปู่) ในอุโบสถนั้นเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องสะเดา เป็นวัดร้างเก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนซึ่งสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ หักพังหมดแล้ว ดังนั้นชาวรามัญบ้านกำพร้าจึงได้อัญเชิญมาทางเรือสององค์ องค์หนึ่งเนื้อสำริด ส่วนอีกองค์หนึ่งเนื้อศิลาแลง ล่องเรือมาตามแม่น้ำท่าจีน พอเรือใกล้ถึงหน้าวัดโกรกกรากได้เกิดลมพายุฝนตกหนักล่องเรือต่อไปไม่ได้ จึงนำเรือมาจอดหลบลมฝนริมคลองข้างวัด พอจอดเรือเรียบร้อยก็ช่วยกันยกพระศิลาแลงขึ้นมาบนฝั่งเพื่อไม่ให้ถูกน้ำฝนเซาะ เมื่อลมฝนสงบแล้วจึงยกพระศิลาแลงลงเรือเพื่อจะล่องต่อไป แต่ปรากฏว่ายกไม่ขึ้นทำอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น หนึ่งในจำนวนชาวรามัญบ้านกำพร้าที่อยู่ในเหตุการณ์ได้อธิฐานว่าถ้าพระศิลาแลงจะอยู่วัดโกรกกราก ก็จะขออัญเชิญพระศิลาแลงไปประดิษฐานยังอุโบสถ ปรากฏว่าสามารถยกขึ้นได้ นับแต่นั้นมาทางวัดจึงมีพระศิลาแลงเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่บัดนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน

การสวมแว่นตาดำให้พระพุทธรูปนั้น มีประวัติเล่าว่าเนื่องจากครั้งหนึ่งได้เกิดโรคตาแดงระบาดไปทั่วบ้านโกรกกราก การแพทย์ยังไม่เจริญ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาองค์พระศิลาแลงกันมานาน ชาวบ้านจึงได้พากันมาบนบานศาลกล่าว ถ้าตาหายเจ็บหายแดงจะนำแผ่นทองมาปิดที่ดวงตาขององค์พระศิลาแลง ผลปรากฏว่าตาหายแดงกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้นำแผ่นทองมาปิดที่ตาขององค์พระศิลาแลงเต็มไปหมดจนเกิดความไม่สวยงาม ต่อมาพระครูธรรมสาคร (หลวงปู่กรับ ญาณวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงหาอุบายโดยนำแว่นตามาใส่ให้พระศิลาแลง หลังจากนั้นเป็นต้นมาชาวบ้านจึงมีการถวายแว่นตาแทนการปิดทองไปโดยปริยาย

ครั้งหนึ่งได้มีคนร้ายได้เข้าไปลักลอบเจาะช่องท้องพระพุทธรูป พระครูธรรมสาคร (หลวงปู่กรับ ญาณวฑฺฒโน) ลงไปทำวัตรในอุโบสถได้พบเข้าจึงนำทองคลุกยางรักอุดรอยเจาะนั้นไว้ และทำพิธีบวงสรวงสักการะซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1) และในวันนี้ของทุกปีจึงเป็นที่มาของวันไหว้หลวงพ่อปู่ ในอดีตเรียกวันนี้ว่า วันแซยิดหลวงพ่อปู่

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์โดยทางเรือมานมัสการ “หลวงพ่อปู่” และพักเยี่ยมข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่วัดแห่งนี้

บรรดาเรือประมงเมื่อจะออกทะเลหาปลา มักจุดประทัดไหว้หลวงพ่อปู่ตามแบบอย่างชาวจีน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าก็มักยึดถือตาม ๆ กันมา แม้แต่สาธุชนที่มาไหว้หลวงพ่อปู่ในปัจจุบัน ก็มักจุดประทัดถวายหลวงพ่อปู่เป็นประจำทุก ๆ วันเช่นเดียวกัน ส่วนคนในพื้นที่ถ้าขับยวดยานพาหนะผ่านโบสถ์หลวงพ่อปู่ก็จะบีบแตรถวายสักการะองค์หลวงพ่อปู่ทุกครั้ง

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระอธิการแดง ? ?
2 พระอธิการสิน ? ?
3 พระอธิการเปรม ? ?
4 พระอธิการโต จนฺทสโร ? ?
5 พระครูธรรมสาคร (กรับ ญาณวฑฺฒโน) พ.ศ. 2463 พ.ศ. 2517
6 พระครูสาครกิตติคุณ (กมล คุณธมฺโม) พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2539
7 พระครูสังฆกิจจาภิรักษ์ ? ?
8 พระอธิการเหล็ง เขมจิตฺโต ? ?
9 พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°31′52″N 100°16′30″E / 13.5311513°N 100.2751283°E / 13.5311513; 100.2751283