วัดแสนเมืองมาหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแสนเมืองมาหลวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดแสนเมืองมาหลวง, วัดหัวข่วง
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแสนเมืองมาหลวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีพระครูสุวัตถิ์ปัญญาโสภิต (ทรงสวัสดิ์ ปญญาวชิโร) เป็นเจ้าอาวาส ที่ตั้งวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ 93 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเนื้อที่เพียง 4 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา

วัดแสนเมืองมาหลวง หรือ วัดหัวข่วง แต่เดิมมีชื่อว่า วัดลักขปุราคมาราม (วัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้าง) ต่อมาพระเจ้าเมืองแก้ว พ.ศ. 2063 ได้บูรณะเจดีย์วัดหัวข่วงขึ้นใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม พระเมืองแก้วกับพระราชมารดาพร้อมพระสงฆ์ 3 คณะ มีพระราชครู เป็นประธาน บรรจุพระบรมธาตุในมหาเจดีย์วัดลักขปุราคมาราม จากนั้นได้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก ไว้ในหอมณเฑียรธรรม ทรงโปรดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ พ.ศ. 2549 พระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปญฺญาวชิโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร ได้รื้อถอนหอมณเฑียรธรรมและทำการสร้างขึ้นใหม่

เจดีย์สิบสองเหลี่ยมองค์ระฆังเป็นศิลปกรรมผสมระหว่างศิลปะเชียงแสนกับสุโขทัย ในสมัยพม่าตีเมืองเชียงใหม่จึงทำให้เจดีย์ได้รับความเสียหายบางส่วน ภายหลังมีการซ่อมแซม ทำให้ส่วนฐานนับตั้งแต่ฐานหน้ากระดานสามชั้นขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูกแก้ว เป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นในเจดีย์ทรงกลม เจดีย์องค์นี้ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 167 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2522[1]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนประธานในวิหารและพระพุทธรูปสำริด หน้าตักกว้าง 1.88 เมตร สูง 2.63 เมตร ชาวบ้านบางกลุ่มเรียกว่า พระแสนเมืองมาหลวง[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดแสนเมืองมา". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดแสนเมืองมาหลวงผลงานแห่งการพัฒนาของ'ครูบาแอ'". คมชัดลึก.