วัดแจ้งวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแจ้งวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแจ้งวรวิหาร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 23 ถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เป็นวัดโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติ[แก้]

พ.ศ. 1835 วัดแจ้งได้สร้างมาพร้อมกับวัดประดู่พัฒนารามโดยพระมหาเถรอนุรุทธ และคณะ ซึ่งย้ายมาจากเมืองยศโสทร(จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) และได้เจิญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนถึงพ.ศ. 2330

พ.ศ. 2335 ปรากฏว่าได้รกร้างอยู่ คุณชีพี่สาวของเจ้าพระยานคร(พัฒน์) ได้ศรัทธา สร้างวัดแจ้งขึ้นใหม่คู่กับคุณหญิงมารดาของเจ้าพระยานครพัฒน์ได้สร้างวัดประดู่ ฯ ขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน จึงกล่าวกันว่า สองวัดนี้เป็นวัดแม่วัดลูกกัน ดังกล่าวมาแล้ว และถือว่าเป็นวัดสาหรับวงศ์ตระกูล ณ นคร ได้รับบารุงเป็นอย่างดีตลอดมา จัดเป็นวัดสาคัญรองจากวัดพระบรมธาตุ(พระมหาธาตุ)ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยนั้นวัดพระบรมธาตุ เป็นเพียงพุทธาวาส และวัดท่าโพธิ์(เก่า)ที่ยังไม่มีความสาคัญอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้(วัดท่าโพธิ์ใหม่)ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวัดสาคัญที่สุดในสังคมเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ คือประมาณ 200 ปี มาแล้วได้แก่วัดแจ้งนี้เอง

  • พ.ศ. 2529 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ 7 พฤษภาคม 2529[1]” ได้ระบุว่า “คุณชี” ซึ่งเป็นพี่สาวของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นผู้สร้าง “วัดแจ้ง” คู่กับ “คุณหญิง” ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยานคร (พัฒน์)

ที่สร้าง “วัดประดู่” มูลเหตุที่สร้างเนื่องจากได้แรงใจที่เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ก่อนนี้บริเวณที่ตั้งวัดแจ้งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า คุณชีเห็นทำเลสวยงาม จึงได้สร้างวัดขึ้น โดยเหตุที่ตรงนี้ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ มืดครึ้มตลอดเวลาแสงแดดส่องไม่ถึง เมื่อได้สร้างวัดขึ้นแล้ว

ความมืดครึ้มก็หายไป ความสว่างแจ้งเข้ามาแทนที่ จึงตั้งชื่อวัดอย่างง่าย ๆ ว่า “วัดแจ้ง” ประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๕ เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ถือว่าวัดแจ้งเป็นวัดประจำวงศ์ตระกูลโดยแท้ จึงได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยานคร (พัฒน์) อย่างเต็มที่ ทำให้วัดแจ้งมีความเจริญคู่กับวัดประดู่ พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ (เจ้านครหนู) ซึ่งเป็นพ่อตาของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้วายชนม์ที่กรุงเทพ ฯ และในเวลาอันไม่นาน “หม่อมทองเหนี่ยว” ชายาก็วายชนม์ตามไป เจ้าพระยานคร (พัฒน์) กับคุณหญิงชุ่มได้ทำการปลงศพแล้วนำอัฐิมาบรรจุไว้ในเจดีย์ประดิษฐานไว้ในตึก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ตึกกษัตริย์” อยู่ในบริเวณวัดแจ้ง เจดีย์องค์ตะวันตกมีลักษณะเป็นยอดเรียวแหลม ฝีมือช่างนครโดยแท้ ประณีตสวยงามมาก เป็นที่บรรจุอัฐิของ “กษัตริย์นคร” คือพระเจ้าขัตติราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ (เจ้านครหนู) ส่วนเจดีย์อีกองค์หนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเคียงคู่กัน เป็นที่บรรจุอัฐิของ “หม่อมทองเหนี่ยว” บุตรีของจีนปาด เศรษฐีของเมืองนครศรีธรรมราช ภริยาของเจ้านครหนู ยอดเจดีย์เป็นรูปดอกบัวมีสีสันและความประณีตตระการตา เจดีย์คู่นี้สร้างไว้โดยเจ้าพระยานคร (พัฒน์) และคุณหญิงชุ่ม เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ นอกจาก “ตึกกษัตริย์” แล้ว ก็ยังมี “ตึกมหาอุด” ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ขณะนี้ยังเหลือแต่ฐานกว้าง ๓ วา ยาว ๖ วา บั้นไดด้านข้างได้หายไป ยังมีแต่บันไดด้านหน้า ๒ ข้าง (ทำขึ้นใหม่) อุโบสถมหาอุดนี้สร้างโดยเจ้าพระยานคร (น้อย) ใช้เป็นสถานที่สร้างและปลุกเสกเครื่องรางของขลังให้ทหารนำไปใช้ในราชการทัพ ซึ่งจำกันได้ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นขุนศึกคนสำคัญคนหนึ่งต้องออกไปปราบกบฏในดินแดนแหลมมลายูที่เป็นขอบขัณฑสีมาของไทย โดยเฉพาะใน พ.ศ. ๒๓๖๔ ในรัชกาลที่ ๒ นั้น เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ไปตีเมืองไทรบุรีได้ การทำตึกมหาอุดเพื่อสร้างและปลุกเสกเครื่องรางของขลังจึงเป็นการจำเป็นทางด้านจิตใจในสมัยนั้นมาก

สิ่งก่อสร้างอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้สร้างขึ้นไว้ที่วัดแจ้งคือ เจดีย์องค์แรก สร้างไว้ทางทิศใต้ของโบสถ์มหาอุดอยู่ในที่ดอน เป็นที่บรรจุอัฐิของบุตรีสุดท้องของเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งเกิดแต่ท่านผู้หญิงอิน เป็นเชื้อเจ้ามาจากกรุงเทพ ฯ โดยพระบาทสมเด็จสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกกว่า “พี่อิน” บุตรีสุดที่รักนี้ ชื่อ “คุณหญิงน้อย” อยู่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประจำไม่ได้ไปทำราชการที่กรุงเทพ ฯ เหมือนธิดาที่เกิดจากภริยาอื่น ๆ จึงเป็นธิดารับใช้ใกล้ชิดบิดา เมื่อถึงแก่กรรมลงเจ้าพระยานคร (น้อย) บิดา จึงก่อสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ส่วนเจดีย์อีกองค์หนึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของ “พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง)” ซึ่งเกิดแต่ภริยาอื่น เป็นบุตรหัวปีเป็นที่โปรดปรานของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาก เพราะเคยร่วมรบทัพจับศึกกันมาแต่เด็ก ๆ จนได้เป็นพระยาไทรบุรีและมาเป็นพระยาพังงา เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับอุโบสถมหาอุดทางทิศใต้ แต่อยู่ใกล้ชิดกว่าองค์เจดีย์แรกที่กล่าวแล้ว ขณะนี้เจดีย์ทั้งสององค์ชำรุดเกือบเหลือแต่ฐาน

ปัจจุบันในวัดแจ้ง ได้มีกุฏิและเสนาสนะเกิดขึ้นใหม่อีกหลายหลัง ได้พัฒนาสระน้ำ ได้ขยายรั้วเดิมซึ่งสร้างไว้แต่สมัยเจ้านคร (พัฒน์) ให้ออกไปจนจดกับเขตถนนราชดำเนินทางทิศตะวันตก เป็นรั้วแนวเดียวกับวัดประดู่ นอกจากนั้นได้สร้าง “วิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ” ขึ้นที่วัดนี้ นับว่าเป็นสถาบันชั้นสูงของคณะสงฆ์ที่อยู่ในระดับวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้

วัดแจ้งนอกจากจะเป็นวัดที่เจ้าเมืองนคร คือต้นตระกูล “ณ นคร” ปฏิสังขรณ์และทำนุบำรุงตลอดมาแล้ว เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสินมหาราช) เสด็จมาปราบชุมนุมเจ้านคร ได้ทรงประกอบพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ใช้ในกิจการทหารที่อุโบสถวัดแจ้งนี้ (โบสถ์มหาอุด) มีเก๋งเก็บบรมอัฐิพระเจ้าตากสิน และเก๋งเก็บอัฐิของเจ้าพระยานคร (หนู) กับหม่อมทองเหนี่ยว ผู้เป็นมเหสี ซึ่งมีเจดีย์ ๒ องค์อยู่ในตึกนี้อยู่ด้วย (ตึกกษัตริย์) จึงนับว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ

อาณาบริเวณวัดแจ้งวรวิหาร[แก้]

  • มีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๕ ๑/๑๐ วา
  • มีกำแพงคอนกรีตถาวรล้อมรอบ และมีประตูใหญ่ทิศละประตู
  • ทิศตะวันออกจรดถนนหลังวัดแจ้ง เป็นด้านหลังวัด ต่อออกไปเป็นหมู่บ้านคนอยู่แน่นหนา
  • ทิศใต้จรดวัดประดู่พัฒนาราม (เป็นวัดสร้างมาสมัยเดียวกันแบบวัดแม่วัดลูกซึ่งจะกล่าวต่อไป)
  • ทิศตะวันตกจรดถนนราชดำเนิน (นคร – ท่าแพ) เป็นด้านหน้าวัด ถัดเป็นโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา (คริสต์)
  • ทิศเหนือจรดถนนวัดแจ้ง (พัฒนาการ) ถัดเป็นวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
  • เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
  • เป็นที่ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมตัวอย่าง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (นักธรรม – บาลี)
  • เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • เป็นที่ตั้งโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ สำหรับฆราวาส
  • เป็นที่ตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ
  • เป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ
  • เป็นที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรมเคลื่อนที่ภาคใต้ วิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ
  • เป็นสถานที่บวชและฝึกอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน
  • เป็นสำนักเรียนตัวอย่างดีเด่น

สถานะในอดีต[แก้]

วัดแจ้ง ได้ชื่อว่า วัดแจ้งมาตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งชาวบ้าน และทางราชการเรียกตรงกัน เหมือนกับเป็นอนุสรณ์พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ ทางทิศเหนือมีวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เท่ากับวัดแจ้งเมืองนครศรีธรรมราชนี้ และมีวัดโมลีโลกยารามอยู่ทางทิศใต้ เท่ากับวัดชะเมา (วัดเมาลีหรือโมลี) โดยวัดประดู่ (พัฒนาราม) อยู่ตรงกลางเท่ากับพระราชวัง ฯ และดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือในปัจจุบัน

ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ภายในวัด[แก้]

'ตึกกษัตริย์'หรือเก็งจีนเจ้าพระยานคร อยู่ท่ามกลางวัดแจ้ง เป็นที่บรรจุอัฐิเจ้าพระยานคร และหม่อมทองเหนี่ยว ซึ่งมีเจดีย์ ๒ องค์ อยู่ในตึกนี้ มีลักษณะประณีต สวยงามมาก เป็นฝีมือช่างเมืองนครแท้ ซึ่งเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้สร้างขึ้นไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ และตึกชนิดเดียวกันนี้ อยู่ในเขตวัดประดู่ ฯ เป็นที่บรรจุอัฐิพระเจ้าตากสิน และเจ้าพระยานคร (น้อย) (ราชโอรสของพระเจ้าตากสิน) สร้างโดยเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) (บุตรเจ้าพระยานครน้อย) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕

  • ปัจจุบัน ทางหน่วยศิลปากร นครศรีธรรมราช ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวควรไปทัศนศึกษาแห่งหนึ่งด้วย และยังมีสถานที่เก็บอัฐิบริวารและเครือญาติของเจ้าพระยานคร ฯ อีกเป็นจำนวนมากอยู่รอบนอกตึกกษัตริย์
  • โบสถ์มหาอุด ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช้เป็นสถานที่สร้าง และปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ที่ทหารนิยมใช้ในราชการทัพ ซึ่งเป็นที่จำกันได้ดีว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้น เป็นขุนศึกคนสำคัญของประเทศไทยทางภาคใต้ และนอกจากที่วัดแจ้งนี้แล้ว โบสถ์มหาอุดยังมีที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี และที่วัดกำแพงถม อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังรูปร่างเป็นโบสถ์สมบูรณ์กว่าที่วัดแจ้ง
  • พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ ขนาด ๒๐ นิ้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งเมื่อพอกปูนซีเมนต์หุ้มไว้ ค้นพบและกระเทาะออกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ตอนตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ ทางหน่วยศิลปากรนครศรีธรรมราชได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
  • พระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาด ๕๒ นิ้ว (ทองเหลือง)
  • พระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา ขนาด ๓๖ นิ้ว (ทองเหลือง) และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นั่งบ้าง ยืนบ้าง หลายรูป

การเดินทาง[แก้]

วัดแจ้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษาแล้วอยู่ติดกับวัดประดู่พัฒนาราม เดินทางโดยใช้เส้นทางถนนราชดาเนิน มุ่งหน้าไปทางฝั่งสนามกีฬานครศรีธรรมราช ขับเลยวัดชะเมาไปก็จะเจอวัดประดู่พัฒนารามอยู่ทางด้านขวามือ และวัดแจ้งจะอยู่ถัดไปจากวัดประดู่พัฒนาราม

เจ้าอาวาส[แก้]

แต่เดิมไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้ว จึงได้นิมนต์พระเทพปัญญาสุธี (พร้อม โกวิโท) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก ปัจจุบันมีพระสิริรัตนาภรณ์ (พิษณุ รตนโอภาโส) เป็นเจ้าอาวาส

อ้างอิง[แก้]

  1. ตามหนังสือ “พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช
  • ที่มา หนังสือพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง พุทธศักราช ๒๕๔๐ ทอด ณ วัดแจ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐
  • ที่มา เฉลียว เรืองเดช สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙ เล่ม ๒ สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, ๒๕๒๙ หน้า ๘๖๓
  • หนังสือ "พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช"