วัดเวฬุราชิณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเวฬุราชิณ
วัดเวฬุราชิณ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 152 ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธสีหไสยาสน์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเวฬุราชิณ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในแขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ช่วงเวลาในการสร้างวัดคาบเกี่ยวกัน 2 แผ่นดิน คือ รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4[1]

ประวัติ[แก้]

ผู้สร้างวัดคือ เจ้าพระยาพลเทพ (เอี่ยม ชูโต) โดยได้นำเงิน ค่าภาษีไม้ไผ่สีสุกที่ท่านเป็นเจ้าภาษีรับสัมปทานผูกขาดการเก็บอยู่มาใช้เป็นค่าสร้างวัด แต่เดิมใช้ชื่อวัดว่า วัดท้องคุ้ง ตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งวัดที่เป็นคุ้งใหญ่ในคลองบางกอกใหญ่ สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเวฬุราชิณ ซึ่งแปลว่า วัดซึ่งเกิดจากหนี้ภาษีไม้ไผ่ของพระราชา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และขุนตาลวโนชากร (นิ่ม เสนะวัต) ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งหมด เป็นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เท่ากับเป็นการสร้างวัดใหม่ ต่อมาพระไพโรจน์ธรรมาภรณ์เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะวัด[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นงดงาม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องชาดก เหนือหน้าต่างเป็นภาพเทพพนม พัดแฉกคนธรรพ์ และเทพบันเทิงฝาผนังหลังพระประธาน เป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระวิหารทิศ 4 หลังมีมุขลดหน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาแก่เหล่าเทวดา มีพระพุทธสีหไสยาสน์ประดิษฐานประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนพระเจดีย์ทรงลังกาอยู่หลังพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเวฬุราชิน (๔ มิถุนายน ๒๕๕๓)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 4 มิถุนายน 2553.
  2. "วัดเวฬุราชิณ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-20.
  3. กรมการศาสนา. (2551). พระอารามหลวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา. หน้าที่ 195–196