วัดเขานางทอง

พิกัด: 16°35′35″N 99°35′55″E / 16.5931869°N 99.5985482°E / 16.5931869; 99.5985482
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเขานางทอง(ถ้ำนางทอง)

โบราณสถานวัดเขานางทอง เป็นส่วนหนึ่งของ เมืองโบราณบางพาน[1] สันนิษฐานว่าส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท การวางผังของโบราณสถานวางตามแนวยาวเขา มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านบนสูงสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ฐานเจดีย์ กว้าง 12 เมตร ก่อด้วยอิฐปนแลง ส่วนบนเป็นศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์รายเล็ก 3 องค์ กว้าง 2 เมตร เท่ากันทุกองค์ และยังมีวิหาร 4 ตอน ตอนแรก ยาว 13 เมตร กว้าง 5 เมตร ตอนที่สองกว้าง 10 เมตร ยาว 21 เมตร ส่วนด้านท้ายสุดคล้ายที่ตั้งบุษบก เป็นที่ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ได้ทรงกล่าวถึงไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2450 จากจารึกฐานพระอิศวรสำริดเมืองกำแพงเพชรระบุว่าเคยมี ท่อปู่พระยาร่วง ซึ่งเคยส่งน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปเมืองบางพานแห่งนี้เพื่อการเกษตรกรรมต่อมาได้ตื้นเขิน เมืองบางพานจึงร้างไปในราว พ.ศ. 2100

ลักษณะโบราณสถานบนเขานางทองลาดเอียงจากด้านทิศใต้ไปทางทิศเหนือเล็กน้อย แผนผังของโบราณสถานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศเหนือประกอบด้วยเจดีย์ ประธานก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของยอดเขาในบริเวณ พื้นที่สูงที่สุดถัดไปทางด้านหน้า หรือทิศเหนือมี เจดีย์ราย และร่องรอยของโบราณสถานขนาดเล็ก ถัดไปเป็นวิหารโถง และบ่อน้ำเล็ก ๆ บนยอดเขา ไม่ปรากฏร่องรอยกำแพงวัด ปัจจุบันวัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

โบราณสถานวัดเขานางทองขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478[2] มีพื้นที่ทั้งสิ้นรวม 175ไร่ 1งาน 25ตารางวา[3]

พิกัดแผนที่[แก้]

16°35′35″N 99°35′55″E / 16.5931869°N 99.5985482°E / 16.5931869; 99.5985482

อ้างอิง[แก้]

  1. จารึกนครชุม พ.ศ. 1900
  2. ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75
  3. ประกาศกรมศิลปากร วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดเขานางทอง (ถ้ำนางทอง)