วัดอัมพวัน (จังหวัดลพบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอัมพวัน
แผนที่
ที่ตั้งหมู่ที่ 1 ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000
ประเภทวัดราษฏร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ความพิเศษเป็นวัดเก่าที่ที่มีประวัติเกี่ยวกับชาวมอญ
จุดสนใจมีหอระฆังเก่าที่สร้างโดยชาวมอญ และพระอุโบสถหลังเก่า
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอัมพวัน เป็นวัดในตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดอัมพวัน ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 1 ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย สร้างขึ้นในราวพุทธศักราช 2415 ได้รับพระราชทานวิสุง คามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช 2420 ตามตำนานกล่าว กันว่ากรมช้างในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ได้ให้ควาญช้างนำช้าง ไปเลี้ยงยังป่าละเมาะใกล้คลองตาสา หรือวัดกลาง ในปัจจุบัน พื้นที่วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีทางด้านทิศเหนือ และแวดล้อมด้วยหมู่บ้านชาวมอญมาแต่อดีต สันนิษฐานว่าเป็นชาวมอญที่สืบเชื้อสายกันมา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องจากที่ชาวมอญจากเมืองมอญอพยพตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา หลังประกาศเอกราช ณ เมืองแครง โดยมีพระมหาเถรคันฉ่องเป็นผู้ช่วยเหลือ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ปูนบำเหน็จแก่ขุนนางและพระสงฆ์มอญขนานใหญ่ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมอญบางขันหมาก จังหวัดลพบุรีนั้น น่าจะเห็นเด่นชัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่สร้างพระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรี คงได้เกณฑ์ชาวมอญส่วนหนึ่งมาก่อเตาเผาอิฐสร้างพระราชวัง และอาราธนาพระสงฆ์มอญมาด้วย และยังสร้างวัด “ตองปุ” ให้พระสงฆ์มอญจำพรรษา นอกจากชื่อวัดอัมพวันแล้ว ยังมีชาวบ้านเรียกขานชื่อวัดไปต่าง ๆ กันอีกหลายชื่อ ได้แก่ “วัดค้างคาว” ด้วยเหตุที่สมัย ก่อนนั้นในเขตวัดอัมพวันมีค้างคาวแม่ไก่มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ชื่อที่เคยใช้เรียก[แก้]

วัดสุสาน เคยถูกใช้เรียกวัดอัมพวันอยู่ในสมัยหนึ่ง ด้วยเหตุที่ในยุคหนึ่งวัดอัมพวันปลูกสร้างกุฏิสงฆ์แยกออกเป็น 2 หลังอย่างชัดเจน เพราะอยู่ห่างไกลกันมีป่ารกทึบคั่นกลาง จึงดูเหมือนแยกกันเป็น 2 วัด คือ วัดนอก ริมแม่น้ำลพบุรี และ วัดใน อยู่ลึกเข้ามาจากริมแม่น้ำติดป่าช้า เนื่องจากสมัยนั้น วัดอัมพวันปกครองโดยหลวงปู่ทอกรัก เจ้าอาวาส และยังมี อาจารย์แจะ ซึ่งมีพรรษาใกล้เคียงกับหลวงปู่ทอกรัก วิสัยของอาจารย์แจะท่านชอบสันโดษ จึงปลีกวิเวกไปปลูกกุฏิอยู่ข้างป่าช้า ต่อมาภายหลังมีพระสงฆ์ย้ายไปอยู่กับท่านเพิ่มขึ้น

วัดสุด ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่หมายถึงวัดอัมพวัน ด้วยเหตุที่ชุมชนมอญบางขันหมากมีชาวมอญอาศัยกันอยู่อย่างหนา แน่น ประกอบกับชาวมอญเป็นผู้ที่มีจิตเป็นกุศลยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า นิยมสร้างวัดไว้ในบวรพุทธศาสนา และใช้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานชาวมอญบางขันหมากจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ในชุมชนถึง 4 แห่งด้วยกัน คือ วัดโพธิ์ระหัต วัดกลาง วัดอัพวัน และวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ซึ่งวัดอัมพวันอยู่ใต้สุดของตำบลบางขันหมากใต้ ติดกับตำบลพรหมมาสตร์ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกวัดอัมพวันตามสำเนียงมอญว่า “เภี่ยฮะโม” ส่วนในภาษา ไทยเรียกว่า “วัดสุด” ตามภูมิประเทศนั่นเอง

ถาวรวัตถุภายในวัด[แก้]

พระอุโบสถ[แก้]

อุโบสถวัดอัมพวันยังคงสภาพเดิมของอุโบสถที่สร้างขึ้นในรุ่นแรกๆ ของวัดมอญในชุมชนมอญบ้านบางขันหมากแห่งนี้ได้ดีที่สุด ลักษณะของอุโบสถวัดอัมพวันเป็นอุโบสถขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน ฐานยกพื้นสูงจากพื้นดินเล็กน้อยเป็นฐานบัว หน้าบันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว กรอบหน้าบันหยักเป็นรูปสามเหลี่ยมฟันปลา ไม่มีลวดลายแบบง่ายๆ ตัวอาคารก่อด้วยผนังทึบทั้ง 4 ช่อง มีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ประตู ไม่มีการประดับเช่นกัน แต่มีบันไดนาคปูนปั้นที่ประตูทางขึ้น หลังคาทรงจั่วมีชั้นลด 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ส่วนซุ้มประตูทางเข้ากำแพงแก้วด้านข้างคงเป็นซุ้มประตูแบบเดิม คือเป็นซุ้มประตูขนาดเล็กล้อมรอบและมีซุ้มประตูทางเข้าที่ด้านหน้า 1 ประตู และด้านซ้ายมืออีก 1 ประตู ซุ้มประตูทางที่กำแพงแก้วด้านหน้าคงจะทำขึ้นใหม่ในคราวหลัง แต่เมื่อได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถในราวปี พ.ศ. 2493 จึงได้เปลี่ยนใบเสมาไม้เป็นเสมาปูนปั้นตามแบบที่นิยมทั่วไป ปัจจุบันมีเสมาไม้สักของวัดอัมพวันเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

ศาลาการเปรียญ[แก้]

ศาลาการเปรียญวัดอัมพวันสร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราช 2466 รูปทรงคล้ายกับศาลาการเปรียญเครื่องไม้ ที่นิยมสร้างขึ้นตามวัดที่เห็นได้ทั่วไปในภาคกลาง เป็นศาลาการเปรียญเครื่องไม้ขนาด 13 ห้อง เป็นศาลาแบบโล่งไม่มีฝา ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ด เป็นศาลาที่สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งหลังแม้แต่ช่อฟ้า ใบมะกา หางหงษ์ และหน้าบันก็ทำด้วยเครื่องไม้ทั้งสิ้นมีบันไดก่ออิฐถือปูนเป็นทางขึ้นที่ด้านหลังและด้านข้าง

ลำดับเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดมีดังนี้[แก้]

  1. พระอาจารย์เชียง ชนูปถัมภ์
  2. พระอาจารย์ทอโหนด ไม่ทราบปีเริ่ม - พ.ศ. 2445
  3. พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร (ท่อทอง) พ.ศ. 2445-2485
  4. พระครูอมรสมณคุณ (สว่าง หมอบอก) พ.ศ. 2485-2520
  5. พระครูอมรสมณคุณ (สมควร รุมรามัญ) พ.ศ. 2520 - ปัจจุบัน

กิจกรรมที่สำคัญ[แก้]

จัดโครงการสืบสานประเพณีไทยรามัญ บางขันหมาก ภายในงาน มีกิจกรรมชักพระรูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก สุวณณสาโร การแข่งขันเซปักตระกร้อ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การแข่งขันเรือพื้นบ้านและ ประกวดเรือสวยงาม เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]