วัดอัมพวัน (จังหวัดนครนายก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอัมพวัน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอัมพวัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

ประวัติ[แก้]

วัดอัมพวันสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเป็นวัดร้างอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 2 ในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมีพระมาจำพรรษาอยู่ เท่าที่ปรากฎหลักฐานว่าหลวงปู่จันทร์ (พระครูวิสุทธิธรรมธาดา) ได้มาทำการบูรณะร่วมกับชาวบ้านบางอ้อ และหม่อมราชวงศ์จำรัศ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ล่องเรือแพมาและได้ถวายให้แก่วัดอัมพวันเมื่อ พ.ศ. 2451 และได้ร่วมกับชาวบางอ้อ และหลวงปู่จันทร์วางศิลาฤกษ์อุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่มาเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2466[1] ที่ประตูไม้แกะสลักด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ มีชื่อของผู้สร้างสลักอยู่คือ นายวอน นางแม้น เป็นบุตรเขยและบุตรสาวของผู้เริ่มก่อสร้างอุโบสถ รวมทั้งหลวงนาและขุนวารี ซึ่งหลวงนาเป็นพ่อของขุนวารีผู้ชึ่งอุทิศที่ดินสร้างโบสถ์และเป็นธุระจัดช่างมาจากวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ระหว่าง พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทางชลมารค และสร้างพลับพลาที่หน้าโบสถ์แต่ทรงประทับอยู่ในเรือ และทรงพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้และด้านล่างภาพเขียนว่า พระองค์ผู้ทรงพระราชทานสันติสุขและสันติภาพให้แก่สยามประเทศ นอกจากนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เคยเสด็จวัดอัมพวันและพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ซึ่งในภาพลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2465 จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าวัดอัมพวันตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2456 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2521[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูน ยาว 20.50 เมตร กว้าง 9 เมตร ขนาดห้าห้อง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง[3] อยู่ภายในกำแพงแก้วสูง 50 เซนติเมตร มีมุขด้านหน้าหรือด้านตะวันออกและด้านหลังหรือด้านตะวันตก มุขทั้งสองมีเสาขนาดใหญ่รองรับมุขละสี่ต้น เป็นเสาย่อมุม ผนังด้านข้างรับน้ำหนักหลังคาโบสถ์ ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ เจดีย์รายเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน ส่วนยอดชำรุด ฐานกว้างประมาณ 2 เมตร สูง 3 เมตร

หอระฆัง (เก่า) เป็นเครื่องไม้ สูง 6 เมตร กว้างด้านละประมาณ 2 เมตร เครื่องบนหลังคามุงกระเบื้อง หางหงส์ หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารเครื่องไม้ มุงกระเบื้องขนาดกว้างประมาณ 16 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร อาคารยกพื้นสูงหนึ่งชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นเครื่องไม้หน้าบันแกะสลักรูปพระพุทธรูป

หมู่กุฎิเรือนไทย เป็นเรือนไทยขนาดสามห้อง หลังคามุงกระเบื้องว่าว ปั้นลมเป็นไม้ หน้าบันแบบใบปรือ ตัวเรือนยกพื้นสูง กุฎิเรือนแพ เดิมเป็นเรือนแพอยู่ในกรุงเก่า ได้ถวายแก่วัดอัมพวัน เมื่อ พ.ศ. 2451 เพื่อทำเป็นกุฎิ โดยปล่อยส่วนที่รับน้ำหนักแพให้จมลง และใช้อิฐก่อเป็นเสาตั้งรับบแทน เป็นเรือนแพแฝด หน้าบันแบบใบปรือเช่นเดียวกับหมู่กุฎิเรือนไทย ฝาผนังแพด้านนอกเป็นแบบฝาถัง วางตามขวาง[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระสมเด็จพิมพ์เล็บมือ กรุวัดอัมพวัน". ข่าวสด.
  2. "วัดอัมพวัน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "อุโบสถวัดอัมพวัน อ.บ้านนา จ.นครนายก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-21. สืบค้นเมื่อ 2022-01-21.
  4. "มรดกทางพระพุทธศาสนา".