พระอารามหลวง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดหลวง)

พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง[1]

ประวัติ[แก้]

แต่เดิมนั้นยังไม่มีการจัดแบ่งพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการจัดแบ่งพระอารามหลวงออกเป็นหลายชั้นตามความรู้สึกหรืออาศัยการคาดเดาตามสถานการณ์ เช่น ดูจากการพระราชทานเทียนพรรษาขี้ผึ้งหรือไม้เล่มเดียวหรือมากกว่านั้น หรือดูจากการบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานแก่เจ้าพนักงานผู้คุมเลกข้าพระ เป็นต้น หลังจากนั้น กระทรวงธรรมการร่วมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดระเบียบพระอารามหลวงเพื่อประมาณค่าบำรุงวัดหลักจากเลิกเลขวัด แต่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบพระอารามหลวง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการจัดระเบียบพระอารามหลวงขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่นั้นมา[2] โดยในการประกาศครั้งแรก มีพระอารามหลวงในกรุงเทพ 76 วัด พระอารามหลวงในหัวเมือง 41 วัด รวมเป็น 117 วัด[3] ข้อมูล พ.ศ. 2564 มีพระอารามหลวงรวม 310 วัด[4]

โดยในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือ วัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์เป็นส่วนพระองค์หรือทรงในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน[2] ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง[5]

การแบ่งพระอารามหลวง[แก้]

แบ่งตามระดับชั้น[แก้]

การจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวง เริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้

  1. พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรมหาวิหาร
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรมหาวิหาร
  2. พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ มี 4 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรมหาวิหาร
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรมหาวิหาร
    • ชนิดวรวิหาร
  3. พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี 3 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรวิหาร
    • ชนิดสามัญ (ไม่มีสร้อยนามต่อท้าย โดยส่วนใหญ่จะต่อท้ายว่า พระอารามหลวง)

แบ่งตามฐานันดรศักดิ์[แก้]

  • ราชวรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ โดยมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ
  • ราชวรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์
  • วรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามในลักษณะเดียวกับชนิดราชวรวิหาร แต่มีความสำคัญน้อยกว่าและทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชเกียรติแก่ผู้อื่น
  • วรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา อาจเป็นวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงและยกเป็นเกียรติยศ

การขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง[แก้]

วัดราษฎร์สามารถยกฐานะเป็นพระอารามหลวงได้ โดยมีข้อกำหนดพิเศษในการพิจารณาเป็นพระอารามหลวง ได้แก่ เป็นวัดที่มีถาวรวัตถุ และปูชนียวัตถุ มีกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่หน่วยงานราชการประกอบพิธีกรรมเป็นประจำ ต้องมีอายุ 50 ปี ขึ้นไป มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตั้งแต่ 20 รูปขึ้นไป ติดต่อกัน 5 ปี จนถึงปีปัจจุบัน มีการจัดการศึกษาแผนกธรรมและบาลีและแสดงสถิติผลการจัดการศึกษาย้อนหลัง 5 ปี และมีการจัดระบบภายในวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการศึกษาและเผยแผ่พุทธศาสนาที่เป็นหลักฐาน[6]

เจ้าอาวาส[แก้]

จากประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง ระบุสมณศักดิ์ของเจ้าอาวาส ว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพ ชั้นเอก มีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขึ้นไป (ตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไป) พระอารามหลวงชั้นโท มีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญขึ้นไป พระอารามหลวงชั้นตรี มีเจ้าอาวาสเป็นเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป ส่วนพระอารามหลวงชั้นหัวเมือง ชั้นเอกมีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญขึ้นไป ชั้นโทมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นสูงขั้นไป ชั้นตรีมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นต่ำขึ้นไป[3]

รายชื่อพระอารามหลวงชั้นเอก[แก้]

ชื่อวัด จังหวัด ภูมิภาค นิกาย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสฤทธิ์ เขมงฺกโร)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต)
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท)
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร สระบุรี ภาค 2 มหานิกาย พระธรรมปิฎก (ชวลิต อภิวฑฺฒโน)
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร นครปฐม ภาค 14 มหานิกาย พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระธรรมวชิรญาณ (จิรพล อธิจิตฺโต)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย)
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 ธรรมยุต พระเทพมงคลโสภณ (โสภณ ปุญฺญโสภโณ)
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 มหานิกาย พระเมธีวชิรธาดา (เวชยันต์ เวชยนฺโต)
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 ธรรมยุต พระราชวชิรสารสุธี (เอนก มนุญฺโญ)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร สุโขทัย ภาค 5 มหานิกาย พระเทพวชิรเวที (บุญโรจน์ จนฺทปญฺโญ)
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร สุราษฎร์ธานี ภาค 16 มหานิกาย พระครูพิทักษ์เจติยานุกูล (สุเทพ สุเทโว) (ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส)[7]
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต)
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี ภาค 13 ธรรมยุต พระโสภณคณาภรณ์ (ไชยวัฒน์ ชยวฑฺฒโน)
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม ภาค 10 มหานิกาย พระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปญฺญาวโร)
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ ภาค 7 มหานิกาย พระเทพสิงหวราจารย์ (โสภณ โสภโณ)
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน ภาค 7 มหานิกาย พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก ภาค 5 มหานิกาย พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย)
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ภาค 16 ธรรมยุต พระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป)

รายชื่อพระอารามหลวงชั้นโท และ ตรี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  3. 3.0 3.1 "ตำนานพระอารามหลวง" (PDF). กรมศิลปากร.
  4. "พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  5. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ. 2518[ลิงก์เสีย]
  6. "แบบรายงานการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง".
  7. ตามคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 01/2565 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565

ดูเพิ่ม[แก้]