วัดหน้าพระธาตุ (จังหวัดนครราชสีมา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหน้าพระธาตุ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตะคุ
ที่ตั้งหมู่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ประเภทวัดราษฎร์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหน้าพระธาตุ หรือชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่าวัดตะคุ เป็นวัดเก่าแก่ของชาวปักธงชัย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2330 หรือในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากเทศบาลเมืองเมืองปักประมาณ 4 กม.

ประวัติ[แก้]

ปี พ.ศ. 2330

ก่อสร้างวัดหน้าพระธาตุ อยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที 1)

ปี พ.ศ. 2521

สร้างโบสถ์หลังใหม่ อยู่ข้างโบสถ์หลังเดิม เนื่องจากโบสถ์หลังเดิมมีอายุค่อนข้างมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯพรบรมราชีนีนาถ เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ในขณะนั้น ทรงเสด็จประกอบพิธีตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดหน้าพระธาตุ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2521[1]

ปูชนียสถานภายในวัด[แก้]

โบสถ์หลังเก่า[แก้]

ตั้งอยู่ข้างโบสถ์ใหม่ เป็นหลังดั้งเดิมมีมาแต่ครั้งสร้างวัด ฐานโบสถ์มีลักษณะแอ่นโค้ง ที่ศัพท์ทางช่างเรียกว่า ตกท้องสำเภา หรือท้องช้าง หรือท้องเชือกซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ช่างนิยมทำกันในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจคือส่วนของหลังคาซึ่งไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เช่นโบสถ์ที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งคล้าย "ศิลปะพระราชนิยม" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในโบสถ์มีภาพเขียนซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์น่าชม เป็นภาพแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพชาดกตอนต่าง ๆ ภาพพระบฏ (พระพุทธเจ้าทรงยืน) ภาพการนมัสการรอยพระพุทธบาท ภาพพิธีศพหรืออสุภกรรมฐาน พระมาลัย นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย ในอดีตมีภาพเขียนทางด้านนอก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า[1]

หอไตรกลางน้ำ[แก้]

ตั้งอยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นแบบฝาปะกน เหตุที่ต้องสร้างอยู่ในน้ำเพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์โบราณซึ่งทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ มอดมดปลวกจึงมักมาแทะกัดกินทำให้เกิดความเสียหาย คนโบราณจึงได้สร้างสระน้ำ ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำลายพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปหยิบไปใช้ก็จะมีสะพานพาดไปที่บันไดทางขึ้นหอไตร เสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามหน้าที่เดิมแล้ว

หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น[1]

พระธาตุ[แก้]

อยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า เป็นปูชนียสถานที่ชาวปักธงชัยให้ความเคารพศรัทธา ตามประวัติของวัดกล่าวว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน องค์พระธาตุมีรูปทรงคล้ายพระธาตุเจดีย์ที่พบเห็นในภาคอีสาน คือฐานธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนบนสูงเรียวขึ้นไปสอบเข้าหากันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกบัว จึงเรียกกันในศิลปะลาวว่าทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุแบบพื้นบ้านลาว [1]

งานประจำปี[แก้]

ประเพณีนมัสการพระธาตุ

เป็นงานประจำปีที่ทำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุหลาย100ปี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ประวัติและสิงปลูกสร้างภายในวัดหน้าพระธาตุ (ตะคุ)". ไหว้พระ:วัดหน้าพระธาตุ(วัดตะคุ) โคราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-19. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.