วัดสวนพลู (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสวนพลู
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 58 ซอยเจริญกรุง 42/1 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระเทพวชิราภรณ์ (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสวนพลู เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีพระเทพวชิราภรณ์ (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ) เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

วัดสวนพลูตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2391 เดิมมีชื่อว่า วัดคลองล้อม ตั้งตามสภาพแวดล้อมในอดีต กล่าวคือ มีคลองน้ำใหญ่ล้อมรอบวัดที่เรียกว่า "คลองสีลม" ซึ่งเป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตคลองล้อมวัดสวนพลูนั้นมีความกว้างมากจนเรือของพ่อค้าชาวจีนสามารถกลับลำเรือได้ แต่คลองดังกล่าวได้กลายเป็นถนนสีลมไปแล้ว ส่วนขื่อ สวนพลู มาจากการที่บริเวณรอบวัดมีชาวจีนปลูกพลูกันเป็นอาชีพ ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างวัด จากที่เคยเรียกว่า "วัดคลองล้อม" จึงเปลี่ยนมาเป็น "วัดสวนพลู" มาจนถึงปัจจุบัน[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

หมู่กุฏิขนมปังขิง

หมู่กุฏิขนมปังขิงที่วัดสวนพลูมีความโดดเด่นสวยงามด้วยลวดลายไม้ฉลุ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2545[2]

อุโบสถขนาดไม่ใหญ่โตนัก นอกอุโบสถเป็นงานปูนปั้นประดับกระจก เครื่องบนของอุโบสถมีปูนปั้นเป็นรูปเทวดานางฟ้าประดับอยู่ ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยอยู่บนบุษบกห้าชั้น ส่วนด้านล่างมีพระสาวกยืนอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ผนังด้านในแม้ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังอย่างวัดอื่น ๆ แต่ก็ตกแต่งด้วยไม้ทั้งสี่ด้านรวมไปถึงเพดาน ด้านข้างอุโบสถมีศาลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีป้ายภาษาจีนติดอยู่ คือ ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม ในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมีพระพุทธรูปปางถวายเนตรประดิษฐานไว้กลางแจ้งใกล้กับศาล

วิหารพระพุทธไสยาสน์มีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ภายใน มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์ไปพร้อมวิหารจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 วิหารยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางนาคปรก ปางอุ้มบาตร และพระสาวก มีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อพระป่าเลไลย์ ซึ่งว่ากันว่าได้ช่วยชาวบ้านที่ไปหลบภัยบริเวณรอบองค์พระให้พ้นจากลูกระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสวนพลู (Wat Suan Phlu)". สำนักงานเขตบางรัก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-02. สืบค้นเมื่อ 2020-09-17.
  2. "เจ้าอาวาสวัดสวนพลู ยันรื้อทิ้งหมู่กุฏิไม้โบราณ อ้างปลวกกิน". ผู้จัดการออนไลน์. 11 มกราคม 2555.
  3. หนุ่มลูกทุ่ง (3 มิถุนายน 2551). "ยลเสน่ห์"วัดสวนพลู" ชมหมู่กุฏิขนมปังขิง". ผู้จัดการออนไลน์.