วัดศรีสุดารามวรวิหาร
13°46′2″N 100°28′23″E / 13.76722°N 100.47306°E
วัดศรีสุดารามวรมหาวิหาร | |
---|---|
วัดศรีสุดารามวรมหาวิหาร | |
ชื่อสามัญ | วัดศรีสุดารามวรมหาวิหาร |
ที่ตั้ง | เลขที่ 83 ซอยบางขุนนนท์ 6 ถนนบางขุนนนท์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 |
ประเภท | วัดฝ่ายคามวาสี |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระธรรมวชิรคุณาธาร (โกศล มหาวีโร) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศรีสุดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมมีชื่อว่า "วัดชีปะขาว" หรือ "วัดชีผ้าขาว" สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา
อาณาเขตบางกอกน้อย
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับคลองวัดศรีสุดาราม
- ทิศใต้ ติดต่อกับคูสาธารณประโยชน์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับคลองบางกอกน้อย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับที่เอกชน
ประวัติ
[แก้]สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีขึ้นครองสิริราชสมบัติปี พ.ศ. 2199 แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ในปี พ.ศ. 2229 ได้ส่ง พระวิสุทธสุนทร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ไปเป็นราชทูตเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายด์ ในการนี้อาจารย์ชีปะขาวได้ร่วมเดินทางไปด้วยซึ่งพระวิสุทธสุนทร ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นที่เคารพนับถือเพราะอาจารย์ชีปะขาวได้มีวิชาด้านไสยเวทย์และไสยศาสตร์ หลังจากกลับจากฝรั่งเศส เป็นปลายรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ 2230 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรเสด็จสวรรคตปี พ.ศ. 2231 รวมครองสิริราชสมบัติได้ 32 ปี ต้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์ องค์ที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยาพระอาจารย์ชีปะขาวได้บอกลา เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ให้บรรดาสานุศิษย์นำไปส่งที่คลองบางกอกน้อยได้พักอาศัยอยู่ที่ริมคลองบางกอกน้อย อยู่มาวันหนึ่งก็ได้หายตัวไปบรรดาสานุศิษย์ได้กลับไปเรียนให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ทราบเจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงมอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งให้ไปสร้างวัด ให้ชื่อว่า วัดชีปะขาว เมื่อปี พ.ศ. 2232 ซึ่งปรากฏตามหลักฐานการสร้างวัดชีปะขาว ปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา นับได้ว่าวัดชีปะขาวริมคลองบางกอกน้อยปัจจุบันคือ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ได้สร้างโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี ตามประวัติ เจ้าพระยาโกษาธิบดี
ประวัติศาสตร์ของวัดศรีสุดารามมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยปรากฏความในพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้บูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดขึ้นใหม่
ครั้นล่วงมาน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรีเป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานปักกำหนดเขตรอบโรงพระอุโบสถลงใหม่ใช้แทนวิสุงคามสีมาเดิม โดยให้มีความยาว 15 วา กว้าง 7 วา แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่งจนเป็นผลสำเร็จ ครั้นการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดศรีสุดาราม ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้าของพระองค์ ทรงสถาปนาพระราชทานไว้ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ นพศก พุทธศักราช 2410 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาล (ปลายรัชกาล) ตามพระราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในพระอุโบสถ (พระอุโบสถหลังเก่าปรากฏเป็นวิหาร อยู่หน้าพระอุโบสถปัจจุบัน)
ปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆ
[แก้]พระอุโบสถ
[แก้]เป็นอาคารขนาด 5 ห้อง กว้างยาวประมาณ 8x14 เมตร ด้านหุ้มกลองต่อเป็นเฉลียงกว้างประมาณ 4.2 เมตร หลังคาทำเป็นมุขลดหน้า-หลัง แต่ละมุขซ้อนกัน 3 ตับ ชายคาตับสุดท้ายตั้งทวยรับชายคา มีครื่องประกอบหลังคาแบบอย่างไทยประเพณี คือ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำปูนปั้นปิดทองประดับกระจกรูปเทพพนม มีลายประกอบประเภทลายช่อก้านขดรูปตัวสัตว์หิมพานต์ ใต้หน้าบันไดไม่ทำปีกนกถือประดับสาหร่ายรวงผึ้งแต่กับต่อเป็นผนังลงมาจรดกับเสาเฉลียง ซึ่งเป็นเสาสี่เหลี่ยมที่ไม่ทำบัวหัวเสาและบัวเชิงเสาประดับทำเพียงหน้ากำแพงกรุหลังกระเบื้องเคลือบสีด้านโดยรอบมีบันไดขึ้นทางด้านข้างทั้งสองข้างปลายพนัสบันไดทำหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ฐานรับพระอุโบสถเป็นแบบฐานสิงห์บัวลูกแก้ว ตัวพระอุโบสถทำประตูทางเข้าด้านกลองด้านละ 2 ช่องแต่ละช่องทำซุ้มประตูทรงบันแถลง เช่นเดียวกับหน้าต่างหน้าบันไดบันแถลงรูปเทพพนมอยู่กลางลายเครือเถา สำหรับภายในพระอุโบสถตอนท้ายอาคารมีพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิปางพิจารณาชราธรรม เป็นประธานพระหัตถ์ซ้ายขวาวางลงบนพระชานุแต่ละข้างเบื้องหน้า มีพระสาวกนั่งพนมมือเรียงรายรวม 8 องค์ส่วนผนังนั้นปัจจุบันเขียนภาพแนวสมัยใหม่มีรูปซุ้มเรือนแก้วหลังพระประธานตอนบนเป็นภาพเทวดาเหาะ
สำหรับซุ้มหน้าต่างของพระอุโบสถเป็นไปตามประเพณีนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือซุ้มทรงบันแถลง เป็นซุ้มหน้าต่างที่ตอนบนทำเป็นรูปโค้งแหลมทรงกลีบบัวขนาดเล็กทำนองจั่วหรือหน้าบันของบ้านเรือน กรอบจัวทำเป็นเครื่องลำยองมีหน้าบันประดับลายอาจมีหรือไม่มีลายประธานที่เป็นเครื่องหมายแทนพระองค์
ส่วนเสมาใช้แบบเสมานั่งแท่นที่มีซุ้มทรงกูบครอบ ตัวเสมาทำเป็นใบที่เอวทำเป็นลูกนาคเศียรเดียว ขอบเสมาจิกเป็นรอยหยักตอนบนรวบเป็นปมแหลมสาบกลางไม่มีแต่ทำเป็นลายอุบะจากบัวคอเสื้อ
พระวิหาร
[แก้]เดิมใช้เป็นพระอุโบสถหลังเก่าต่อมาดัดแปลงเป็นพระวิหาร มีลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง 5.06 เมตร ยาว 7.23 เมตร หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกาบริเวณหน้าบันด้านหน้าตัวอาคารเป็นลายปูนปั้นรูปปิ่นบนพานสองชั้น พระวิหารหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถ ปัจจุบันเดิมเคยใช้เป็นพระอุโบสถมาก่อนที่จะมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้สร้างขึ้นแทนพระวิหารหลังเดิมที่รื้อถอนออกไป ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีลักษณะพุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายองค์
ศาลาการเปรียญ
[แก้]เดิมสร้างเป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 27 เมตร ใต้ถุนเตี้ยมีบันไดทางขึ้นเพียง 3 ขั้น หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ บานประตูหน้าต่างมีภาพจิตรกรรมรูปทวารบาล แบบศิลปะจีนปรากฏอยู่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา แต่เดิมใช้เป็นที่เรียนหนังสือไทยของกุลบุตรกุลธิดาทั่วไป ต่อมาได้มีการต่อเติมบริเวณด้านล่างด้วยการยกพื้นอาคารให้สูงขึ้นแล้วก่อผนังคอนกรีตเพื่อดัดแปลงเป็นห้องประชุม และใช้เป็นศาลาเอนกประสงค์ของวัดปัจจุบันศาลาการเปรียญจึงมีลักษณะเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้
ตำหนักแดง
[แก้]เป็นเรือนไทยชั้นเดียวเดิมสร้างขึ้นเป็นตำหนักที่ประทับ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเจ้าพี่นางเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในระหว่างที่เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดแห่งนี้ ตั้งติดอยู่กับศาลาการเปรียญปัจจุบันได้ใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส
วิหารพระศรีอาริย์ (หอไตร)
[แก้]เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนมีขนาดกว้าง 5.10 เมตร ยาว 8.80 เมต รหลังคาไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันทางด้านหน้าและด้านหลังของวิหารเป็นลายปูนปั้นรูปดอกพุดตาน มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวที่บานประตูทั้ง 2 บาน มีภาพเขียนรูปทวารบาลปรากฏอยู่ ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระศรีอริย์ หล่อด้วยทองสำริดขนาดหน้าตัก 2 ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายถือพัด ซึ่งมีลักษณะขายตาลปัตรแต่มีด้ามจับสั้น บริเวณผนังภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าผจญมาร และจิตรกรรมประเพณี 12 เดือน
วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี
[แก้]เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนหลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างทางทิศใต้ของพระอุโบสถ สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารพระศรีอาริย์ ด้านหน้าของวิหารมีประตูทางเข้าอยู่ 2 ทาง ด้านซ้ายกับด้านขวาภายในวิหารมีรูปหล่อโลหะสำริดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานสี่เหลี่ยมติดผนังด้านในของวิหาร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ โตพรหมรังสี องค์ใหญ่
[แก้]สร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปจำลองเท่าขนาดจริงเพื่อเป็นต้นแบบในการหล่อโลหะสร้างรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับนำไปประดิษฐานที่ วัดโนนกุ่ม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการสร้างโดย สรพงษ์ ชาตรี ศิลปินนักแสดง ที่มีจิตศรัทธาจะสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปจำลองนี้ทำด้วยโฟมเป็นวัสดุหลักในลักษณะการนั่งสมาธิภาวนา มือทั้งสองข้างยกขึ้นระดับอกในลักษณะกำมืออย่างหลวมๆ มีขนาดหน้าตักกว้าง 8.1 เมตร สูง 13 เมตร ทาทับด้วยสีทองทั้งองค์เมื่อสร้างรูปหล่อโลหะเสร็จแล้วจึงมีการทำลายรูปจำลองต้นแบบองค์นี้ทิ้ง พระเทพประสิทธิมนต์ (พระราชพิพัฒน์โกศล ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดเห็นว่าไม่เป็นการสมควรจึงได้ขอรูปต้นแบบองค์นี้ไว้ ให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพบูชาปัจจุบันรูปจำลองต้นแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างประดิษฐานอยู่บริเวณลานวัดใกล้ๆกับศาลาการเปรียญ
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
[แก้]องค์บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามพระราชานุสาวรีย์ หล่อด้วยโลหะเป็นพระรูป สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ขนาด 2 เท่า ของพระองค์จริงประทับบนพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ด้วยผ้าฝ้ายกลายทองห่มสไบเฉียงปักด้วยผ้าปัก พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางบนพระเพลา ข้างพระหัตถ์ทางด้านขวามีโต๊ะสำหรับวางเครื่องพาน พระศรีพระราชานุสาวรีย์ ประดิษฐานอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมบริเวณฝั่งตรงข้ามถนนด้านข้างของพระอุโบสถทางทิศเหนือใกล้ๆกับวิหารพระศรีอาริย์
อนุสาวรีย์สุนทรภู่
[แก้]สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแก่พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งแผ่นดินสยามและกวีเอกของโลก ซึ่งได้เคยมาศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านอยู่ที่วัดนี้เมื่อครั้งยังเยาว์วัย จึงสร้างเป็นรูปหล่อโลหะสุนทรภู่ตอนเป็นเด็กขนาด 2 เท่า ของตัวจริงในลักษณะเด็กชายสมัยโบราณไว้จุกนั่งพับเพียบหันหน้าไปทางคลองบางกอกน้อย ในมือถือกระดานชนวนอีกข้างหนึ่งถือดินสอ รูปหล่อดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูง 2.50 เมตร ซึ่งจะอยู่ด้านหลังของลูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่
ศาลาวิจิตร รัตนศิริวิไลย
[แก้]สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา วัดศรีสุดารามวรวิหารได้รับการดูแลจากเจ้าอาววาสมาทุกยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏนามเจ้าอาวาส ดังนี้
- พระครูธรรมวิจารณ์ (แก้ว) เล่ากันว่าเจ้าอาวาสรูปนี้เป็นอาจารย์สอนหนังสือสุนทรภู่
- พระครูธรรมวิจารณ์ (อิน) สมัยรัชกาลที่ 5
- พระครูธรรมวิจารณ์ (โพ)
- พระครูธรรมวิจารณ์ (สุด)
- พระครูธรรมวิจารณ์ (แดง)
- พระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม ธมฺมทินฺนโก)
- พระครูญาณสิริวัฒน์ (ทองห่อ ญาณสิริ) ป.ธ.5
- พระธรรมวชิรคุณาธาร (โกศล มหาวีโร)
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือ พระกฐินพระราชทาน ณ วัดศรีสุดารามวรวิหาร, 2 พฤศจิกายน 2561.
- จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 1. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, 2530.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร, 2519.
- ประวัติวัติทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ, 2525.
- วัดศรีสุดารามวรวิหาร. พิมพ์เนื่องในวโรกาสเข้ารับพระราชทาน ปริญญาบัตร - พัดเปรียญธรรม 9 ประโยค วัดศรีสุดารามวรวิหาร, กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2540.
- สารบาญชี้ส่วนที่ 1 คือ ตำแหน่งราชการ จ.ศ.1245 เล่มที่ 1. (พ.ศ. 2526). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2541.
- สุจิตต์ วงศ์เทศ. สุนทรภู่เกิดวังหลัง ผู้ดี "บางกอก" มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2547.
- สุจิตต์ วงศ์เทศ, (บรรณาธิการ). สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี. กรุงเทพฯ: เจ้าพระยา, 2528.