วัดลำมหาเมฆ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดลำมหาเมฆ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ถนนเลียบคลองบางหลวงไหว้พระฝั่งใต้ ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี 12140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดลำมหาเมฆ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านคลองบางหลวงไหว้พระ ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ที่ตั้งวัดอยู่ใกล้ลำรางน้ำธรรมชาติชื่อลำมหาเมฆ มีนกมากมายหลายชนิดอาศัยสร้างรังและฟักไข่ตามธรรมชาติจำนวนมาก ได้แก่ นกกระยางขาว นกกระสา นกกาน้ำ และนกชนิดอื่น ๆ

วัดลำมหาเมฆสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2457 โดยชาวบ้านที่เข้ามาจับจองที่ดินในเขตแนวป่ากระทุ่มมืดฝั่งตะวันออก เดิมตั้งอยู่ปลายคลองบางหลวงไหว้พระ ฝั่งเหนือมีคลองอ่างแตก (คลองลากค้อน) ขวางสกัดเป็นสามแยก ในระยะแรกสร้างในที่ดินของนายจัน บัวฝรั่ง โดยมีชื่อว่า วัดใหม่ปลายคลองบางหลวง ตามที่ปรากฏในบันทึกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่าในปี พ.ศ. 2457 พระองค์ได้ทรงสนทนากับพระภิกษุแช่ม พระมอญซึ่งปกครองวัดอยู่ในขณะนั้นด้วย[1] ต่อมาได้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินขึ้น พระอาจารย์แช่ม จึงได้ชวนชาวบ้านย้ายวัดมาสร้างในที่ดินของนายจัน นางจีน แย้มเยื้อน ทางฝั่งใต้ของคลองบางหลวงไหว้พระ(ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน) โดยขนานนามว่า วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ได้เปลี่ยนนามวัดเป็น วัดลำมหาเมฆ ตามชื่อลำรางน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้ที่ตั้งวัด วัดลำมหาเมฆได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2484[2]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถทรงไทยประกอบเครื่องไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก 59 นิ้ว มณฑปจตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ได้แก่ พระศรีอริยเมตไตรยหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อศรีอาริย์ ขนาดหน้าตัก 21 นิ้ว ซึ่งมีอยู่สององค์ องค์ดั้งเดิมคือองค์ที่ตั้งอยู่ด้านบน[3] พระมหาเจดีย์ปูชนียาจารย์(เจดีย์ไทยรามัญ) หอสวดมนต์และหมู่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ศาลาธรรมสังเวช และเมรุ

ชาวบ้านวัดลำมหาเมฆส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ จึงมีประเพณีแบบมอญและแบบไทยผสมผสานกัน เช่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทางวัดมีประเพณีโกนจุกตัดโก๊ะ พิธีทำบุญลานข้าวหรือทำขวัญข้าว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนเมษายน ตามความเชื่อที่ว่าแม่โพสพมีพระคุณ จึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับต้นข้าว เพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว และมีกิจกรรมการกวนกาละแมรามัญที่มีจำนวนกระทะมากที่สุดในจังหวัดปทุมธานีเพื่อขายและนำเงินมาบูรณะวัด ส่วนในช่วงเข้าพรรษามีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นต้น[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  1. พระอาจารย์แช่ม พ.ศ. 2457–2467
  2. พระอธิการเบี้ยว พ.ศ. 2467–2482
  3. พระอธิการทองดี เตชปญฺโญ พ.ศ. 2482–2502
  4. พระอธิการภักดิ์ ญาณสํวโร พ.ศ. 2502–2513
  5. พระครูไพโรจสังฆการ (ประดิษฐ์ ฐานวโร) พ.ศ. 2516–2536
  6. พระครูวรธรรมวาที (นิพนธ์ ฉนฺทวุฑฺโฒ) พ.ศ. 2537–2544
  7. พระครูไพโรจน์สารคุณ (สุเทพ คุณงฺกโร) พ.ศ. 2544–ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดลำมหาเมฆ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. "รายงานทะเบียนวัด จังหวัดปทุมธานี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-01-27.
  3. "วัดลำมหาเมฆ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "พิธีทำบุญลานข้าว วัดลำมหาเมฆ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.