วัดร้องแง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดร้องแง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิสุทธิ์วรคุณ (สงบ สิริจนฺโท)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดร้องแง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน

วัดร้องแงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 โดยการนำของเจ้าหลวงเทพพญาเลน เจ้าช้างเผือกงาเขียว เดิมปกครองอยู่ที่เมืองลิน ในเขตปกครองของแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งได้ถอยร่นลงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้กับลำน้ำล่องแง มาตั้งเป็นหมู่บ้านตามชื่อลำน้ำ ต่อมาการเรียกผิดเพี้ยนไป จึงกลายเป็นบ้านร้องแง และเมื่อสร้างวัดจึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อวัดไปด้วย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2470[1]

วิหารเก่าศิลปะไทลื้อ ยังคงรักษารูปลักษณ์เดิมไว้ ขนาดยาว 8 ห้อง กว้าง 3 ห้อง ด้านหน้ามีมุขโถง หลังคาเป็นทรงจั่ว ผืนหลังคามีสองตับ ทอดเอนลาดคลุมต่ำ มุงด้วยแป้นเก็ดหรือกระเบื้องไม้ เครื่องบนของวิหารเป็นแบบที่เรียกว่า โกม คล้ายระบบ ขื่อม้าต่างไหม หน้าบันประดับด้วยไม้ฉลุลายก้านขด แกะสลักรูปเทพพนม แผงไม้ใต้หน้าจั่ว ที่เรียกว่า โก่งคิ้ว ประดับลายก้านขดและช้าง ส่วนหน้าจั่วปีกนกตกแต่งด้วยลายก้านขดแบบเดียวกัน หางหงษ์ทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปเศียรนาค หลังคามุงกระเบื้องไม้ เรียกว่า แป้นเกล็ด คันทวย หรือ นาคทัณฑ์ เป็นไม้ฉลุ แกะสลักเป็นรูปยักษ์ ลิง ครุฑ สัตว์หิมพานต์ ระบายสี เสาหลวงมี 2 แถว จำนวน 6 คู่ เสาเป็นไม้กลม ประดับหัวเสาด้วยบัวกลีบยาว โคนเสาส่วนหน้าทาสีน้ำตาลแดง ส่วนในทาสีฟ้า ตัวเสาเขียนลายทอง

ภายในวิหารมีบันไดแก้ว ธรรมมาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังฉากประธาน ด้านหน้าพระประธานมีธรรมาสน์บุษบก ด้านขวาขององค์พระมีหีบพระธรรม กับธรรมาสน์แบบกระทง ธรรมาสน์บุษบก ฐานเป็นปูนปั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ ยอดเป็นปราสาทซ้อนชั้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดร้องแง อำเภอปัว จังหวัดน่าน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "(44) วิหารไทลื้อ น่าน (ตอนที่สี่-วัดร้องแง)". วอยซ์.