วัดพิมพาวาส (ใต้)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพิมพาวาส
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพิมพาวาส (ใต้), วัดพิมพาวาสใต้
ที่ตั้งเลขที่ 24/2 หมู่ที่ 2 ทางหลวงชนบท ฉช.2004 ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24180
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพิมพาวาส (ใต้) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านคลองวังขื่อ ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณใกล้เคียงยังมีวัดพิมพาวาส (เหนือ) ซึ่งเป็นวัดมอญเช่นเดียวกันแต่สังกัดมหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา[1]

วัดพิมพาวาส (ใต้) ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2469[2] โดยนายนุ่ม นางพุก และนายบุญได้ถวายที่ดินให้สร้างวัด มีนายหนู วรศิริ นายปาน ทองดี และนายบ๊ะ พร้อมชาวบ้านคลองพระยาสมุทร ร่วมใจกันสร้างวัดโดยได้นิมนต์พระอาจารย์หนูจากวัดทิพพาวาส เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก โดยตั้งชื่อวัดให้คล้ายคลึงกันว่า "วัดพิมพาวาส" เสมือนเป็นวัดพี่น้องกัน

เดิมวัดพิมพาวาสเป็นวัดรามัญธรรมยุต ต่อมาในสมัยที่พระครุฑดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้มีข้อขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ 2 นิกาย คือ ธรรมยุตและมหานิกายซึ่งอยู่ร่วมวัดเดียวกัน ภายหลังจึงแยกเป็นวัดพิมพาวาส (เหนือ) และวัดพิมพาวาส (ใต้)

อาคารเสนาสนะที่สำคัญประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ 12 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆัง และเจดีย์บรรจุคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษารามัญ[3]

วัดยังคงสืบทอดประเพณีชาวมอญที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีการแห่ธงตะขาบของชุมชนชาวมอญ[4] พิธีแห่ธงตะขาบเพื่อนำมาถวายแด่พระสงฆ์ ก่อนที่จะมีการอัญเชิญนำไปขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่าพันธุ์ของชาวมอญ บริเวณหน้าศาลาการเปรียญ[5] และการตักบาตรน้ำผึ้ง

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพิมพาวาส". เทศบาลตำบลพิมพา.
  2. "วัดพิมพาวาส (ใต้)". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "วัดพิมพาวาส (ใต้)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "ปิดท้ายสงกรานต์ชาวมอญ ประเพณีแห่ธงตะขาบหนึ่งเดียวในแปดริ้ว". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. "กระบวนการสืบสานประเพณีแห่ธงตะขาบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-22.