วัดพระธาตุเบ็งสกัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระธาตุเบ็งสกัด
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุเบ็งสกัด, วัดเบ็งสกัด
ที่ตั้งตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุเบ็งสกัด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน

วัดพระธาตุเบ็งสกัด หรือ วัดเบ็งสกัด ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2496 องค์พระธาตุมีตำนานปรากฏอยู่ในสมุดข่อย กล่าวว่า เมื่อครั้งพญาภูคาต้องการจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้แก่บุตรบุญธรรม จึงได้ให้ผู้คนไปหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ ตั้งให้ขุนฟองเป็นผู้ครองเมือง มีชื่อว่า เมืองวรนคร พญาภูคาประสงค์สร้างเจดีย์ใกล้กับเมืองใหม่ ได้พบบริเวณที่ดินเป็นลานกว้างมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางกว้างประมาณ 1.5 เมตร เมื่อพระองค์เสด็จไปดูและนำไม้รวกแหย่ลงไปในบ่อนั้น ปรากฏว่าไม้ที่แหย่ลงไปขาดเป็นท่อน ๆ จึงได้สร้างเจดีย์ครอบบ่อน้ำนั้น ซึ่งสร้างขึ้นแบบธรรมดาขนาดกว้าง 7 เมตร สูง 20 เมตร พร้อมกับสร้างวิหารหลังหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกับองค์เจดีย์ เจดีย์สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826[1] จึงได้เชิญนายญาณะ อุปสมบทเป็นเจ้าอาวาส ทำพิธีฉลองพร้อมเมืองใหม่ ปรากฏแสงไฟเรืองรองพุ่งออกมาจากยอดพระธาตุ เมื่อเห็นดังนั้น พญาภูคาจึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระธาตุเบ็งสกัด"

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดพระธาตุเบ็งสกัดให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 ตอนที่ 65 มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2538

วัดมีโบราณสถาน ได้แก่ วิหารศิลปะแบบไทลื้อ มีขนาดความยาว 5 ห้อง เป็นอาคารปิดทึบทรงโรง มีมุขโถงบันไดขึ้นด้านหน้า 1 ห้อง[2] มีหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด เจดีย์สร้างโดยช่างชาวน่าน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1826 พระธาตุได้รับการรบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยของพญาอนันตยศ มีการบูรณะลายทองเสาวิหารและเพดาน แท่นพระประธาน รวมถึงสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2400[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระธาตุเบ็งสกัด". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "ไทยทัศนา : (45) วิหารไทลื้อ น่าน (ตอนที่ห้า-วัดพระธาตุเบ็งสกัด)". วอยซ์.
  3. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. "พระธาตุเบ็งสกัด เจดีย์โบราณ 736 ปี ที่เมืองน่าน". เชียงใหม่นิวส์.