วัดพระขวาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระขวาง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลขุนกระทิง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระขวาง
เจ้าอาวาสพระครูโสภณธรรมจักร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระขวาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองชุมพรฝั่งทิศตะวันตก ในตำบลขุนกระทิง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มีเนื้อที่รวมประมาณ 18 ไร่ 1 งาน 37.3 ตารางวา[1] มีพระครูโสภณธรรมจักร เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติ[แก้]

วัดพระขวางตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2400 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ตามตำนานน่าจะชื่อ วัดนางชีจัน[2] วัดมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ "พระขวาง" (ชาวบ้านบางส่วนยังนิยมเรียกว่า "พ่อปู่วัดพระขวาง" หรือ "หลวงพ่อวัดขวาง")

พระขวาง[แก้]

ตำนานเล่าว่า พระขวางลอยน้ำมาตามแม่น้ำชุมพรมาติดขวางอยู่หน้าวัด ชาวบ้านได้ลากมาขึ้นฝั่งแต่ไม่สามารถลากขึ้นได้ จนคืนหนึ่งชาวบ้านฝันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้มาบอกให้สร้างที่อยู่ให้เรียบร้อยก่อน และเอาสายสิญจน์ 7 เส้นพันรอบองค์พระแล้วจะขึ้นมาเอง ชาวบ้านจึงได้ปฏิบัติตามจนสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานอยู่ภายในวัดได้สำเร็จ

อีกตำนานเล่าว่า เมื่อพระขวางประดิษฐานอยู่ภายในวัดแล้ว เกิดเหตุประหลาด พระและสามเณรในวัดค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ ตกดึกชาวบ้านจึงแอบดูพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้กินเด็กและสามเณร จึงนำความไปแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัด เจ้าอาวาสจึงใช้ยันต์ปิดไว้และได้นำปรอทซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระออก นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีใครหายไปอีกเลย

พระขวางศิลปะท้องถิ่นสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว (ประมาณ 150 เซนติเมตร) สูง 75 นิ้ว (ประมาณ 190 เซนติเมตร)[3] ขมวดพระเกศาเรียบ อุษณีษะนูนสูง เกตุมาลาเป็นทรงกรวยแหลม มีการปิดทองคำเปลวทั่วทั้งองค์ โดยพระขวางประดิษฐานอยู่ในวิหารพระขวาง ซึ่งเป็นวิหารโถง ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอน หันหน้าออกแม่น้ำชุมพร วิหารสร้างเมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2518[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระขวาง ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร". มูลนิธิชัยพัฒนา.
  2. ถนอม ขุนเพ็ชร์. ""พระครูโสภณธรรมจักร" บริหาร "วัดพระขวาง" ที่ชุมพรให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "หลวงพ่อวัดพระขวาง ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองชุมพร". คมชัดลึก.
  4. "วัดพระขวาง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.